เปิดอาณาจักรดิจิทัล “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ไล่ซื้อ-เทกโอเวอร์

08 ก.ค. 2565 | 11:23 น.

หลังเข้าถือใน INTUCH-ADVANC วันนี้ GULF ภายใต้การนำของเสี่ยกลาง “สารัชถ์ รัตนาวะดี” เดินหน้าขยายอาณาจักรดิจิทัล ทั้งการร่วมทุนกระดาษซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลระดับโลกอย่างไบแนนซ์ ล่าสุดทุ่ม 32,420 ล้านบาท เข้าเทกโอเวอร์ TTTBB และหน่วยลงทุนใน JASIF

นับตั้งแต่การประกาศนำบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวล ลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) หรือ GULF อาณาจักรพลังงานของเสี่ยกลาง “สารัชถ์ รัตนาวะดี” ทุ่มเงินกว่า 19,000 ล้านบาทเข้าเทกโอเวอร์ บริษัท อินทัช โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ INTUCH ในช่วงปลายเดือนสิงหาคมในปี 2563 และมีผลต่อเนื่องให้ต้องตั้งโต๊ะรับซื้อหุ้นทั้งหมดของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC ไปด้วย มีผลให้อาณาจักร “เสี่ยกลาง”รุกคืบมายังธุรกิจดิจิทัลที่เป็นบริษัทเทคโนโลยี(Tech Company)

นายสารัชถ์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวล ลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน)

ภาพอาณาจักรดิจิทัลของ “เสี่ยกลาง” ชัดและขยายใหญ่ขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยเวลาไม่ถึง 2 ปี เพราะหลังจากการจัดการเรื่องหุ้นของ INTUCH และ ADVANC เสร็จสิ้น อาณาจักรภายใต้ “เสียกลาง” ทั้ง INTUCH , ADVANC และ GULF ต่างเดินหน้าขยายการลงทุน

GULF เอง ทันทีที่เข้าถือหุ้นใหญ่ใน ADVANC ผ่าน INTUCH ได้ผนึกความร่วมมือกับ Singapore Telecommunications Limited (Singtel) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของ SINGTEL STRATEGIC INVESTMENTS PTE LTD. ผู้ถือหุ้นอันดับ 2 ของ ADVANC ร่วมลงทุนสัดส่วน 50% เพื่อศึกษาและจัดทำแผนพัฒนาศูนย์ข้อมูล (Data Center) ในประเทศไทย เพื่อขยายธุรกิจและเสริมความแข็งแกร่ง ในอุตสาหกรรมโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล

 

จากนั้นช่วงปลายปี 2564 GULF ได้จัดตั้งบริษัท กัลฟ์ อินโนวา  จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 10 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและบริการที่เกี่ยวข้องรวมถึงการร่วมลงทุนกับพันธมิตร เพื่อผนึกความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายและนำข้อมูลมาใช้ในการสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Platform)ในอนาคต

 บริษัทแรกที่กัลฟ์ อินโนวาร่วมลงทุนด้วยคือ แพลตฟอร์มซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัลระดับโลกอย่าง ไบแนนซ์ (Binanace) ด้วยการจัดตั้งบริษัท กัลฟ์ ไบแนนซ์ จำกัด (Gulf Binance  เพื่อร่วมกันพัฒนาธุรกิตศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล(Digital Asset Exchange) ในไทยและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวเนื่อง  ขณะเดียวกัน Gulf International Investment Limited ซึ่ง Gulf ถือหุ้น 100% ยังเข้าลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล BNB ซึ่งเป็นสกุลเงินดิจิทัลหลักของระบบนิเวศทางธุรกิจของ Binance ใช้เป็น utility token เพื่อใช้งานแอฟพลิเคชั่น ที่อยู่บน BNB Chain ซึ่งเป็นบล็อกเชนที่ใหญ่ที่สุดของโลกตามจำนวนผู้ใช้งาน

 

ไม่เพียงเท่านั้น Gulf International Investment (Hong Kong) Limited ยังเข้าลงทุนใน Binance Labs Investment Fund ซึ่งเป็นกองทุน Venture Capital ที่จัดตั้งขึ้นใหม่โดย Binance Labs เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และเทคโนโลยีบล็อกเชน โดยเน้นลงทุนในโครงการที่มี Use Cases ของ Cryptocurrencies และโครงการที่ผลักดันการเข้าสู่ Web3 รวมถึง DeFi NFTs Metaverse และ Gaming

 

ข้ามฟากมาที่ ADVANC หลังเปลี่ยนผู้ถือหุ้นได้ร่วมลงทุนกับธนาคาร ไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) จัดตั้งบริษัท เอไอเอสซีบี จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียน 600 ล้านบาท ราคาหุ้นละ 100 บาท ถือหุ้นในสัดส่วน 50:50 ประกอบธุรกิจให้บริการด้านสินเชื่อผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม (Digital Lending) เพื่อสร้างการเข้าถึงบริการทางการเงินที่สะดวกมากยิ่งขึ้นให้กับฐานลูกค้าของเอไอเอส ซึ่งจะเป็นแหล่งรายได้ใหม่ในอนาคต

 

ขณะเดียวกัน ADVANC ยังส่งบริษัทลูกอย่าง บริษัท เอไอเอส ดิจิทัล ไลฟ์ จำกัด หรือ (ADL) เข้าซื้อหุ้นในในบริษัท Startup 3 แห่งด้วยเงินลงทุน 239 ล้านบาทจากบริษัทแม่อย่าง INTUCH เพื่อเพิ่มศักยภาพทางธุรกิจของ AIS ในการสร้างมูลค่าเพิ่มในบริการด้านดิจิทัลให้กับลูกค้ารวมถึงสามารถต่อยอดและสนับสนุนความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลักในปัจจุบันด้วย

 

ล่าสุด ADVANC ส่งบริษัทลูกอย่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (AWN) เข้าซื้อหุ้น 7,529 ล้านหุ้น คิดเป็น 99.87% ในบมจ.ทริปเปิลที บรอดแบนด์ (TTTBB)  จากบริษัท อคิวเมนท์ จำกัด (ACU) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของ บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) รวมถึงการได้มาซึ่งบริษัทย่อยของ TTTBB อีก 2 บริษัท คือ บริษัท ทริปเปิลที อินเทอร์เน็จ จำกัด และบริษัท อิน คลาวด์ จำกัด

 

นอกจากนั้นยังการเข้าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมโครงสร้างฟื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (JASIF) จาก JAS จำนวน 1,520 ล้านหน่วย คิดเป็นสัดส่วน 19% ของจำนวนหน่วยลงทุนทั้งหมดของ JASIF ด้วย งสองธุรกรรมเรียกว่า ธุรกรรมซื้อหุ้นและซื้อหน่วยลงทุน มีมูลค่ารวม 32,420 ล้านบาท ที่ซื้อหน่วยลงทุน เพราะกองทุน JASIF มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินเส้นใยแก้วนำแสง 1,680,500 คอร์กิโลเมตรที่ซื้อจาก TTTBB

 

ธุรกิจดังกล่าวยังต้องผ่านการอนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของ TTTBB และที่ประชุมผู้ถือหน่วยลงทุนของ JASIF รวมถึงหน่วยงานภาครัฐอย่างกสทช. แต่ชัดเจนขึ้นว่า การขยายอาณาจักรด้านดิจิทัลของเสี่ยกลาง "สารัชถ์ รัตนาวะดี" ใหญ่และเป็นการวางระบบนิเวศ หรือ Ecosystem ของโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล ที่เชื่อว่าจะยังมีอีกหลายรายการตามมาแน่นอน 

 

หน้าที่ 1 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,798 วันที่ 7 - 9 กรกฎาคม พ.ศ. 2565