ตลท. เปิด 3 ปัจจัยเสี่ยงที่ส่งผลต่อตลาดทุนทั่วโลก

29 มิ.ย. 2565 | 09:25 น.

“ภากร” เปิด 3 ปัจจัยเสี่ยงตลาดทุนไทย ที่ส่งผลต่อสินทรัพย์ ราคา และการเคลื่อนไหวของเงินทุนในตลาดทั่วโลก พร้อมเดินหน้าผลักดันการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน และเปิดโอกาสให้ SME และ Startup เข้าถึงการระดมทุนในตลาดทุน

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง ยุทธศาสตร์ตลาดทุน ขับเคลื่อนธุรกิจรับอนาคต ในงานสัมมนา ส่องหุ้นไทย 2022 : ขับเคลื่อนธุรกิจรับอนาคต ที่จัดโดยหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ว่า ความเสี่ยงของตลาดหุ้นไทยและทั่วโลกขณะนี้ คือ

 

1.นโยบายการเงินการคลัง และสภาพคล่องในตลาดทุนทั่วโลก จากการเพิ่มดอกเบี้ยและการทำ Quantitative Tightening (QT) ของหลายๆ ธนาคารกลาง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสินทรัพย์และราคา และการเคลื่อนไหวของเงินทุนในตลาดทั่วโลก ซึ่งหากธนาคารกลางสหรัฐ ปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อลดสภาพคล่อง สิ่งแรกที่จะเกิดขึ้นคือ เงินที่ในอดีตเป็นมันนี่อีซี่ ที่สามารถนำไปลงทุนที่ไหนก็ได้ จะถูกดึงกลับไปลงทุนในที่ที่มองว่าให้ผลตอบแทนสูงกว่า

2.ความเสี่ยงจากสถานการณ์ความขัดแย้งของรัสเซีย-ยูเครน ที่ไม่รู้ว่าจะจบอย่างไร ซึ่งจะกระทบต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ซึ่งเป็นต้นทุนการทำธุรกิจทุกประเภททั่วโลก โดยราคาน้ำมันและอาหารที่สูงขึ้น จะกระทบต่อเงินเฟ้อและดอกเบี้ย ดังนั้นความขัดแย้งที่เกิดขึ้นส่งผลกระทบไปทั่วโลก

 

และ 3.ความเสี่ยงจากโควิด-19 ที่แม้ทั่วโลกจะเผชิญมาแล้วกว่า 2 ปีครึ่ง แต่ยังมีความไม่แน่นอนและการฟื้นตัวที่แตกต่างกันในหลายประเทศ รวมทั้งเศรษฐกิจไทยที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่  

 

นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลท.

ทั้งนี้จากปัจจัยดังกล่าว แม้จะส่งผลกระทบต่อตลาดทุนไทยให้ปรับตัวลง แต่ถือว่ายังปรับตัวลงน้อยและแกว่งตัวในกรอบแคบ เมื่อเทียบกับดัชนีสำคัญในตลาดโลก 

 

อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยเป็นแบบ k-shaped สะท้องจากดัชนีแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรม ซึ่งบางกลุ่มผลตอบแทนกลับมาสูงขึ้นกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด เช่น กลุ่มเทคโนโลยี กลุ่มสินค้าอุตสาหกรรม กลุ่มเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งเป็นผลจากการส่งออก ค่าเงินบาทอ่อนค่า และความต้องการของตลาดโลก

 

ขณะที่กลุ่มที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่ ได้แก่ กลุ่มการเงิน กลุ่มบริการในประเทศ กลุ่มทรัพยากร กลุ่มก่อสร้าง และกลุ่มที่เกี่ยวกับการบริโภคในภาคครัวเรือน เป็นต้น ซึ่งเป็นผลจากการปิดประเทศในช่วงที่ผ่านมา ที่ทำให้นักท่องเที่ยวหายไปกว่า 40 ล้านคน

 

อย่างไรก็ตาม จากการคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ มอง ESP ของบริษัทจดทะเบียนไทยปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/65 ที่โตกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน และสามารถกลับมาในระดับก่อนโควิด-19 แล้ว

 

รวมถึงประสิทธิภาพการทำกำไรก็สูงขึ้นด้วย พร้อมมองการฟื้นตัวจะปรับตัวขึ้นได้ต่อเนื่องหลังเปิดประเทศ โดยเฉพาะกลุ่มหุ้นที่เรียกว่า well-being economy เช่น การท่องเที่ยว การค้า กลุ่มเกษรตร กลุ่มการเดินทาง กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มเฮลท์แคร์ และกลุ่มแฟชั่น เป็นต้น ที่ขณะนี้ดัชนีเริ่มฟื้นตัวขึ้นแล้ว

 

นายภากร กล่าวอีกว่า ตลาดหลักทรัพย์ ยังให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจเพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainability ซึ่งถือเป็นจุดขายของบริษัทในตลาดทุนไทย เพราะกองทุนระดับโลก จะให้ความสำคัญและแบ่งสัดส่วนในการเข้ามาลงทุนในบริษัทที่ทำเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้ค่อยข้างสูง นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มบริษัทที่อยู่ในดัชนีความยั่งยืนเหล่านี้ ยังมีผลตอบแทนที่สูงขึ้นต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ สิ่งที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ต้องการผลักดันต่อไป คือ การทำอย่างไรให้ตลาดทุนไทยเป็นช่องทางในการระดมทุนของบริษัทขนาดเล็ก ทั้ง สตาร์ทอัพ และเอสเอ็มอี ดังนั้นจึงได้สร้างตลาดที่ 3 หรือ ตลาดไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ ซึ่งจะมีแพลตฟอร์มในการให้ความรู้ผู้ที่ต้องการเข้ามาระดมทุนในตลาด เริ่มตั้งแต่การทำบัญชี ไปจนถึงมีบริษัทขนาดใหญ่เข้ามาช่วยเป็นพี่เลี้ยง

 

เพื่อสร้างความพร้อมในการเข้าไประดมทุนใน ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ ซึ่งขณะนี้ได้มีบริษัทเข้ามาจดทะเบียนในตลาดไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ แล้ว 1 ราย นอกจากนี้ในอนาคต ตลท. ต้องการผลักดันให้เกิดกองทุนในแต่ละบริษัทจดทะเบียน เพื่อให้นักลงทุนรายย่อยสามารถเข้าไปลงทุนซื้อสินทรัพย์ในกองทุนได้ ตามราคาและจำนวนเงินที่นักลงทุนต้องการ