ความท้าทายและกลยุทธ์การลงทุนในครึ่งปีหลัง 2565

28 มิ.ย. 2565 | 09:06 น.

ความท้าทายและกลยุทธ์การลงทุนในครึ่งปีหลัง 2565: คอลัมน์ มันนี่ ดีไอวาย โดย ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

ช่วงครึ่งแรกของปี 2565 นั้น ตลาดหุ้นทั่วโลกรวมทั้งตลาดหุ้นไทยมีความผันผวนในระดับสูง จากปัจจัยกดดันทางเศรษฐกิจเชิงมหภาค โดยตั้งแต่ต้นปีธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) แสดงจุดยืนที่ชัดเจนถึงความกังวลเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้นมากอย่างรวดเร็ว

 

นอกจากนี้ Fed ยังสื่อสารว่าพร้อมที่จะทำการลดขนาดของสินทรัพย์ที่ถืออยู่ หรือที่เรียกว่า Quantitative Tightening (QT) หลังจากที่จะทำการขึ้นดอกเบี้ยด้วย ซึ่งการสื่อสารดังกล่าวทำให้นักลงทุนต่างทำการทยอยลดน้ำหนักการลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ที่ซื้อขายที่ระดับมูลค่า (valuation) ค่อนข้างสูง รวมถึงตราสารหนี้ที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลหรือ bond yield ได้ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 

ช่วงถัดมาตลาดการเงินทั่วโลกหันมากังวลในข้อพิพาทระหว่างรัสเซียกับยูเครนที่ทั้งสองประเทศต่างเคลื่อนไหวทางทหารทำให้นักลงทุนวิตกกังวลว่ามีแนวโน้มที่จะพัฒนาไปสู่การสู้รบ ซึ่งไม่นานหลังจากนั้นรัสเซียก็ทำให้ทั้งโลกต้องตกตะลึงจากการเคลื่อนกำลังทหารเข้าไปในยูเครน ซึ่งเป็นการกระทำที่นักลงทุนส่วนใหญ่คาดไม่ถึง

 

การเปิดฉากใช้ความรุนแรงทางทหารในประเทศยูเครนนี้เป็นสาเหตุให้นานาชาติออกมาตรการต่างๆ เพื่อเป็นการส่งสัญญาณบอกรัฐบาลรัสเซียให้หยุดภารกิจทางทหาร โดยมาตรการที่ออกมาส่วนมาก ออกมาในรูปแบบการคว่ำบาตรโดยเฉพาะในสินค้าโภคภัณฑ์กลุ่มพลังงาน 

แต่สิ่งที่ทำให้นักลงทุนทั่วโลกทำการขายสินทรัพย์เสี่ยงออกมาอย่างมากคือ คำขู่จากประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ประกาศว่า จะทำการคว่ำบาตรทางการค้ากับรัสเซียรวมถึงสินค้าประเภทน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นสูงสุดนับตั้งแต่ปี 2014 ส่งผลให้นักลงทุนวิตกว่าจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกต้องชะงักลง

 

อีกประเด็นคือเรื่องการระบาดของ covid ในประเทศจีนที่ทำให้รัฐบาลจีนที่ใช้มาตรการอย่างเข้มงวด อย่าง zero covid policy นั้น มีความจำเป็นต้องกลับมาใช้ มาตรการ full lockdown ในเมืองสำคัญต่าง ๆ อันทำให้เศรษฐกิจโลกต้องสะดุดจากปัญหาการชะงักงันหรือสะดุดของห่วงโซ่อุปทาน (supply chain disruption)

ความท้าทายและกลยุทธ์การลงทุนในครึ่งปีหลัง 2565

ในขณะที่การระบาด covid ในประเทศไทยส่งแรงกดดันต่อตลาดในช่วงเดือนมกราคมที่การแพร่ระบาดกลับมาสูงขึ้นที่ทำให้รัฐบาลต้องยกเลิกมาตรการ Test and Go ชั่วคราว แต่พอเห็นแนวโน้มถึงความรุนแรงของโรคที่ไม่สูงมากทำให้ในช่วงปลายไตรมาสที่ 1 รัฐบาลได้มีการปรับผ่อนปรนนโยบายสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาในประเทศไทย และทยอยผ่อนคลายมาตรการต่างๆ เพื่อที่จะเดินหน้าเปิดประเทศในช่วงกลางปีนี้

 

แม้ว่าความท้าทายทางเศรษฐกิจเชิงมหภาคข้างต้นนั้น จะส่งผลกระทบต่อทุกประเทศในโลก แต่เนื่องจากประเทศไทยกำลังอยู่ในระยะของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ หลังจากความพยายามที่จะกลับมาเปิดประเทศอย่างเต็มรูปแบบที่เห็นได้ชัดว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจในประเทศมีพัฒนาการที่ดีขึ้นอย่างมีนัยยะ เมื่อเทียบกับในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาหรือเทียบกับไตรมาสที่แล้วก็ตาม

 

ผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 1 ที่รายงานมา มีการฟื้นตัว 14% เทียบกับปีก่อนหน้า และเติบโต 10% เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า รวมทั้งดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ 6% และเม็ดเงินลงทุนจากนักลงทุนต่างชาติที่ไหลเข้ามากว่า 1.4 แสนบาทในช่วง 5 เดือนแรกของปี ก็เป็นเครื่องยืนยันที่แสดงให้เห็นถึงแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศ โดยเฉพาะการบริโภคของภาคเอกชนและประชาชนทั่วไป (Private Consumption) ตามการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว การเปิดเมืองเปิดเศรษฐกิจ และผ่อนคลาย Covid restrictions ต่างๆ

 

เป็นที่น่าสังเกตว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ที่ผ่านมานั้น กนง. มีการส่งสัญญาณเตรียมปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยชัดเจนมากขึ้น รวมทั้งแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นด้วย ทั้งนี้ กนง. ได้ปรับเพิ่มคาดการณ์ GDP ไทยปี 2565 จากเดิม 3.2% เป็น 3.3% และมีการเพิ่มประมาณการ private consumption อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งจะเป็นแรงส่งต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย และทิศทาง SET index ในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

 

ท่ามกลางความท้าทายจากปัจจัยกดดันต่างๆในตลาดโลก โดยเฉพาะแนวนโยบายทางการเงินของ Fed และธนาคารกลางอื่นๆ และสถานการณ์รัสเซีย-ยูเครน ซึ่งหาก 2 ตัวแปรนี้ผ่านได้ด้วยดี คาดดัชนีฯ ณ สิ้นปีนี้มีโอกาสกลับไปทดสอบที่ระดับ 1,700 จุดอีกครั้ง โดยสถานการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน จะเป็นตัวชี้นำเศรษฐกิจโลกและเงินเฟ้อ หากทั้งสองฝ่ายสามารถเจรจา เพื่อลดความรุนแรงในด้านสงครามและการค้าได้ เศรษฐกิจทั่วโลกจะฟื้นตัว เงินเฟ้อจะลดลง และแรงกดดันต่อธนาคารกลางต่างๆที่จะต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยก็จะลดลงไปด้วย

 

SCBAM คาดว่า ในกรณีพื้นฐาน เศรษฐกิจโลกน่าจะอ่อนตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป (Soft Landing) ด้วยการประคับประครองจากธนาคารต่างๆ และเงินเฟ้อจะเจอจุดสูงสุดของรอบนี้ ในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งเมื่อความเสี่ยงในตลาดเริ่มลดลงและกลับเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติ น่าจะมีเม็ดเงินไหลกลับเข้ามาในตลาดหุ้นเอเชีย โดยเฉพาะแถบ ASEAN ซึ่งมีแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่โดดเด่น และมีอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวกำลังฟื้นตัว

 

จึงมีมุมมองว่า การปรับฐานของตลาดหุ้นในช่วงเวลานี้ เป็นจังหวะที่ดีในการทยอยเข้าสะสม สำหรับการลงทุนระยะกลางถึงยาว โดยแนะนำเน้นลงทุนในกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากความเสี่ยงจากเงินเฟ้อจำกัด (Inflation hedge) เช่น กลุ่มที่เกี่ยวข้องกับ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) กลุ่มโรงพยาบาล (แต่หลีกเลี่ยงกลุ่มที่เคยได้ประโยชน์จาก Covid-19)  และ กลุ่มกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต (Consumer staples)

 

นอกจากนั้นกลุ่มที่ได้รับประโยชน์จากการกลับมาเปิดประเทศ (Re-opening) การท่องเที่ยว (Tourism) และกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากการปรับนโยบายของธนาคารกลาง และดอกเบี้ยขาขึ้น เช่น กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่และธุรกิจประกันภัย 

 

ตัวแปรที่แนะนำจับตา นอกจากตัวเลขเงินเฟ้อ ราคาพลังงานและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ นโยบายการเงินของธนาคารกลาง และอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรแล้ว ตลาดมีโอกาสที่จะปรับลดประมาณการกำไรตลาด หากราคาพลังงานยังทรงตัวสูงซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนในการผลิตและให้บริการของบริษัทจดทะเบียนและส่งผลให้กำลังซื้อของประชนชนลดลง รวมทั้งมาตราการช่วยเหลือค่าครองชีพต่างๆของภาครัฐ ที่มีโอกาสกระทบต่อกำไรของบริษัทจดทะเบียนในส่วนที่เกี่ยวข้องได้