คลัง ส่งสัญญาณถึงแบงก์เอกชน อย่าขึ้นดอกเบี้ยแรง หาก กนง.ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

21 มิ.ย. 2565 | 08:26 น.

“อาคม” ชี้ขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย อาจไม่ช่วยกดเงินเฟ้อให้ต่ำลง เพราะสาเหตุมาจากราคาพลังงาน และราคาอาหารสด ขณะเดียวกันยังส่งผลต่อต้นทุนเอกชน พร้อมส่งสัญญาณถึง ธปท. หารือแบงก์พาณิชย์ขอความร่วมมือทยอยขึ้นดอกเบี้ย หาก กนง.ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงภาะวะเงินเฟ้อขณะนี้ว่า เกิดจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะเรื่องของราคาน้ำมัน ซึ่งแม้บางวันที่ราคาน้ำมันในตลาดโลกมีการปรับลดลง แต่ราคาน้ำมันในประเทศไม่สามารถปรับลดลงตามได้ เนื่องจากมีภาระเรื่องกองทุนน้ำมัน และอีกหนึ่งปัจจัยคือ ราคาอาหาร ต้นทุนวัตถุดิบ ที่ขณะนี้ทางรัฐบาลได้พยายามหาแหล่งวัตถุดิบใหม่ เข้ามาชดเชยแหล่งเดิมที่มีราคาสูง

ขณะที่ค่าเงินบาทที่ขณะนี้อ่อนค่าถึง 35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐนั้น ทางกระทรวงการคลังได้ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทยติดตามอย่างใกล้ชิด และดูแลให้มีเสถียรภาพ แต่ก็ยอมรับว่าการดูแลค่าเงินขณะนี้ค่อนข้างยาก เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอก ซึ่งขณะนี้เงินดอลลาร์แข็งค่าค่อนข้างเร็ว

 

“กระทรวงการคลัง ได้มีการหารือร่วมกับแบงก์ชาติ ในประเด็นกว้างๆ ในเรื่องการดูแลเงินเฟ้อ ซึ่งทุกคนทราบดีเป็นเพราะต้นทุน ดังนั้นการเข้าไปดูแลด้วยอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจไม่ส่งผล หรือมีแรงไม่มากพอที่จะสู้กับดีมานด์ไซด์ ซึ่งทางแบงก์ชาติก็จะดูทั้ง 2 เรื่อง ทั้งเรื่องของเงินเฟ้อ และการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ”  นายอาคม กล่าว

นายอาคม กล่าวอีกว่า ธนาคารแห่งประเทศไทยเห็นตรงกันว่า อยากเห็นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่การฟื้นตัวแบบขึ้นทีเดียวและตกลงมา ซึ่งขณะนี้เศรษฐกิจไทยกำลังค่อยๆไต่ระดับขึ้นไป  

 

ส่วนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจขณะนี้เพียงพอที่จะรองรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายหรือไม่นั้น นายอาคม กล่าวว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายจะส่งผลต่อต้นทุนของภาคเอกชน

 

ดังนั้นอยู่ที่ ธปท. จะหารือกับธนาคารพาณิชย์อย่างไร และหากมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยจริง ในช่วงที่เปลี่ยนผ่าน อาจต้องขอความร่วมมือธนาคารพาณิชย์ในการดูแลไม่ให้เป็นภาระต่อภาคเอกชนมากไป ซึ่งส่วนนี้ก็จะต้องไปดูที่สภาพคล่องของสถาบันการเงินด้วย

 

นายอาคม ยังได้กล่าวทิ้งท้ายว่า ต้องยอมรับว่าเรื่องเงินเฟ้อไปเป็นเรื่องที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทุกประเทศก็ได้รับผลกระทบเหมือนกันหมด ซึ่งในอดีตเราก็เคยเผชิญวิกฤตแบบนี้มา แต่ครั้งนี้ไม่ได้แรงเท่า ซึ่งช่วงนั้นราคาน้ำมันก็แพงและอัตราเงินเฟ้อก็สูงกว่านี้

 

แต่ทั้งนี้ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เมื่อราคาสินค้าปรับเพิ่มขึ้น ทุกคนก็ได้รับผลกระทบกันหมด ดังนั้นเราก็ต้องดูแลไม่ให้ราคาสินค้าปรับขึ้นมากจนเกินไป ทั้งนี้ปัจจุบันอัตราเงินเฟ้อเดือน พ.ค. อยู่ที่ 7.10%  หากเฉลี่ย 5 เดือน (ม.ค. - พ.ค.65) อยู่ที่ 5.19 %