อุ้มดีเซล เอื้อบิ๊กทุน รัฐสูญ 1.6 พันล้าน 12 โรงไฟฟ้ารับอานิสงส์

09 มิ.ย. 2565 | 03:30 น.

วงในพลังงานสะพัด ลดภาษีสรรพสามิตดีเซลเหลือศูนย์ เอื้อทุนใหญ่ผลิตไฟฟ้า ลดต้นทุนอื้อ ฟันรายได้พุ่งจากการขายไฟฟ้าได้เพิ่ม ขณะที่รัฐสูญเสียรายได้ 1.6 พันล้านบาท แลกค่าไฟฟ้าไม่ให้ขยับขึ้น กกพ.ยัน หากไม่ใช้ดีเซลผลิตไฟฟ้าแทนแอลเอ็นจี ค่าไฟฟ้าพุ่งสูงกว่าประมาณการ

สงครามรัสเซีย-ยูเครนส่งผลให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวสูงกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล ส่งผลต่อราคาสินค้าอุปโภคบริโภคในประเทศปรับตัวสูงขึ้น รัฐบาลจึงมีมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน ผ่านการดูแลราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลในประเทศ ด้วยการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล โดยช่วง 5 เดือนตั้งแต่ 18 กุมภาพันธ์-22 กรกฎาคม 2565 รัฐบาลยอมสูญสียรายได้ถึง 37,661.87 ล้านบาท

 

ขณะเดียวกันคณะรัฐมนตรี(ครม.) เมื่อ 8 มีนาคมยังมีมติเห็นชอบปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลที่มีปริมาณกำมะถันเกินและไม่เกิน 0.005% โดยน้ำหนักหรือน้ำมันดีเซล บี 0 และน้ำมันเตาที่ใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าและขายไฟฟ้าทั้งหมดให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) โดยมีอัตราภาษีสรรพสามิตในอัตราศูนย์เป็นเวลา 6 เดือน มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 15 กันยายน 2565 เพื่อลดต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ.

การปรับลดอัตราจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลดังกล่าว ยังสอดรับกับประกาศของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน  (กกพ.) ที่ออกหลักเกณฑ์การคำนวณและการดำเนินการเกี่ยวกับราคาก๊าซธรรมชาติภายใต้การกำกับของ กกพ. (Energy Pool Price) ในช่วงสถานการณ์ราคาพลังงานที่มีความผันผวน มีผลตั้งแต่วันที่ 31 มีนาคม 2565 ที่ผ่านมา

 

เกณฑ์ดังกล่าว ปรับสูตรการคำนวณราคาค่าเชื้อเพลิงใหม่ ให้โรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซลสามารถนำราคาเชื้อเพลิงดีเซลไปหารเฉลี่ยในราคา Pool Gas ได้ด้วย จากเดิมที่ให้โรงไฟฟ้าที่ใช้ LNG แบบ Spot หารเฉลี่ยในราคา Pool Gas ได้เท่านั้น ซึ่งมาตรการดังกล่าว จะช่วยลดต้นทุนให้โรงไฟฟ้าที่ใช้ LNG ปรับมาใช้น้ำมันดีเซลแทนในช่วงที่ LNG ตลาดจร (Spot) มีราคาสูงขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้โรงไฟฟ้าเกิดความสะดวกในการตัดสินใจใช้เชื้อเพลิงที่เหมาะสมได้มากขึ้น

จากมาตการลดการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล และการปรับสูตรการคำนวณราคาค่าเชื้อเพลิงใหม่ ได้เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์ในวงการพลังงานว่า เป็นการดำเนินงานที่เอื้อต่อกลุ่มโรงไฟฟ้าหรือกลุ่มนายทุนมากกว่า ที่ประชาชนจะได้รับค่าไฟฟ้าที่ถูกลง

อุ้มดีเซล เอื้อบิ๊กทุน รัฐสูญ 1.6 พันล้าน 12 โรงไฟฟ้ารับอานิสงส์

  • รายได้ขายไฟฟ้าเพิ่ม

แหล่งข่าวจากวงการพลังงานเปิดเผยว่า เมื่อพิจารณาจากปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลที่นำมาผลิตไฟฟ้าจำนวน 12 โรง กำลังผลิตตามสัญญา 15,923 เมกะวัตต์ ซึ่งดำเนินการมาตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 เนื่องจากขณะนั้นราคา LNG ในตลาดโลกสูงขึ้นมาที่ระดับ 40-50 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ถือเป็นต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่สูง เมื่อเทียบกับน้ำมันดีเซลที่รัฐบาลตรึงราคาไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร

 

ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 ถึงเดือนพฤษภาคม 2565 มีการใช้น้ำมันดีเซลราว 908.5 ล้านลิตร ทดแทน LNG 0.548 ล้านตัน ส่วนน้ำมันเตาใช้ 196 ล้านลิตร ทดแทน LNG ได้ 0.096 ล้านตัน รวมทดแทน LNG ได้ 0.644 ล้านตัน

 

ขณะที่ช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม 2565 ที่มีมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล มีการใช้อยู่ที่ราว 278.8 ล้านลิตร ทดแทน LNG ได้ 0.203 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าที่รัฐสูญเสียรายได้ 1,670 ล้านบาท จากที่ต้องเสียภาษี 5.99 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมันเตามีการใช้ปริมาณ 69.2 ล้านลิตร ทดแทน LNG ได้ 0.034ล้านตัน รัฐสูญเสียรายได้ 0.021 ล้านบาท จากที่ต้องเสียภาษี 0.64 บาทต่อลิตร

 

“โรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้าได้ประโยชน์หลายต่อ เพราะต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่ต่ำกว่าการใช้ก๊าซ LNG นั่นหมายความว่า โรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนต่ำ จะได้รับการพิจารณาเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบก่อนโรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูงกว่า ซึ่งจะส่งผลให้โรงไฟฟ้านั้นขายไฟฟ้าได้ในปริมาณที่เพิ่มขึ้น ขณะที่โรงไฟฟ้าที่มีต้นทุนสูง จะสั่งให้หยุดเดินเครื่อง ก็จะไม่มีรายได้เพิ่มเข้ามา ซึ่งเดือนมีนาคมเกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (พีค) ของปี 2565 รวม 30,349 เมกะวัตต์” แหล่งข่าวระบุ

 

  • 12 โรงไฟฟ้าได้อานิสงส์

สำหรับโรงไฟฟ้าที่หันมาใช้น้ำมันดีเซลทดแทน LNG ประกอบด้วย โรงไฟฟ้าบางปะกง โรงไฟฟ้าพระนครใต้ โรงไฟฟ้าวังน้อย รวมกำลังผลิตตามสัญญา 4,076 เมกะวัตต์ ที่ดำเนินการโดย กฟผ. ส่วนของภาคเอกชน เช่น โรงไฟฟ้าของบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด กำลังผลิต 800 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าบริษัท โกลว์ ไอพีพี จำกัด กำลังผลิต 713 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าบริษัท กัลฟ์ เจพี เอ็นเอส จำกัด กำลังผลิต 1,600 เมกะวัตต์

 

โรงไฟฟ้าบริษัท กัลฟ์ เจพี ยูที จำกัด กำลังผลิต 1,600 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าบริษัท กัลฟ์ เอสอาร์ซี จำกัด กำลังผลิต 1,875 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าบริษัท กัลฟ์เพาเวอร์เจเนอร์เรชั่น จำกัด กำลังผลิต 1,468 เมกะวัตต์ โรงไฟฟ้าบริษัท ราชบุรีเพาเวอร์ จำกัด กำลังผลิต 1,400 เมกะวัตต์ โรงไฟฟาบริษัท อีสเทริร์น เพาเวอร์ แอนด์ อิเล็คตริค จำกัด กำลังผลิต 350 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าบริษัท ผลิตไฟฟ้าราชบุรี จำกัด กำลังผลิต 2,041 เมกะวัตต์

 

  • LNG ขาลงหยุดใช้ดีเซล

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กระทรวงพลังงานกล่าวว่า ปัจจุบันราคาก๊าซ LNG ปรับลดลงมาก มาอยู่ที่ระดับ 23 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู ทำให้โรงไฟฟ้าที่เคยใช้น้ำมันดีเซลและน้ำมันเตา ปรับมาใช้ LNG ตามปกติ เพราะหากราคา LNG สูงกว่า 25 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู นำมาผลิตไฟฟ้า จะมีต้นทุนสูงกว่าการใช้น้ำมันดีเซล

นายวัฒนพงษ์ คุโรวาท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน

“ช่วงที่โรงไฟฟ้าปรับไปใช้ดีเซลเป็นเชื้อเพลิง เป็นช่วงที่มีการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลพอดี ทำให้ราคาถูกลงอีกนิดเท่านั้น แต่ยืนยันว่า ปัจจุบันไม่มีโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันดีเซลแล้ว ปรับไปใช้ LNG หมด แต่หากช่วงปลายปีราคา LNG กลับมาสูงขึ้น โรงไฟฟ้าก็อาจปรับมาใช้น้ำมันดีเซลได้” นายวัฒนพงษ์กล่าว

 

ส่วนที่มองว่า โรงไฟฟ้าหันมาใช้ประโยชน์จากราคาน้ำมันดีเซลที่ลดลงเป็นเรื่องที่ผิดหรือไม่ ต้องเรียนว่า ตามปกติน้ำมันดีเซลเป็นเชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้าต้องเตรียมความพร้อมไว้อยู่แล้ว เพียงแต่การใช้น้ำมันดีเซลเป็นเวลานาน จะส่งผลต่อประสิทธิภาพในการผลิต

 

“ในความเป็นจริงโรงไฟฟ้าไม่ได้ต้องการสลับไปใช้น้ำดีเซลเป็นเชื้อเพลิงเท่าใดนัก แต่ที่ยอมให้เปลี่ยนไปใช้ก็ เพราะห่วงว่าจะกระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน หากนำ LNG มาเป็นเชื้อเพลิง ผลกระทบก็จะไปเพิ่มสูงขึ้นในส่วนของค่าไฟฟ้าผันแปร(ค่า FT) ซึ่งการนำดีเซลมาเป็นเชื้อเพลิง ยังช่วยดูแลเรื่องค่าไฟไปได้ระยะหนึ่ง เรียกว่า วินวินกับประชาชนด้วย”

 

อีกทั้ง การใช้น้ำมันดีเซลมาผลิตไฟฟ้า ยังเป็นแนวทางหนึ่งในการจัดหาเชื้อเพลิงมาผลิตไฟฟ้า ช่วงที่ปริมาณก๊าซจากแหล่งเอราวัณหายไป ยังไม่สามารถผลิตได้ตามสัญญาที่ 800 ล้านลูบาศก์ฟุตต่อวัน ประกอบกับราคา LNG ยังถือว่าอยู่ในราคาสูง จึงทำให้ต้องสลับเชื้อเพลิงมาใช้ดีเซลแทน

 

  • กกพ.ยันค่าไฟฟ้าไม่ลดลง

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า การนำน้ำมันดีเซลมาผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซ LNG ที่มีราคาแพงนั้น คงจะไม่มีผลต่อค่าไฟฟ้าที่จะลดลงในรอบต่อไป (ก.ย.-ธ.ค.65) เนื่องจากการประมาณการณ์ค่า FT ได้นำน้ำมันดีเซลไปคำนวณเป็นต้นทุนแทนก๊าซ LNG แล้ว ทำให้ค่า FT รอบต่อไปจะปรับขึ้นไปที่ 36.48 สตางค์ต่อหน่วย ซึ่งหากไม่นำดีเซลมาผลิตไฟฟ้า จะส่งผลให้ค่า FT สูงมากว่าที่ประมาณการณ์ไว้

อุ้มดีเซล เอื้อบิ๊กทุน รัฐสูญ 1.6 พันล้าน 12 โรงไฟฟ้ารับอานิสงส์

“การมีมาตรการดังกล่าวออกมา เพื่อใช้น้ำมันดีเซลที่มีราคาถูกกว่าใช้ LNG ราคา Spot ในการผลิตไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลต่อค่าไฟแพงตามมา เมื่อปัจจุบันราคา LNG กลับมาถูกกว่าก็ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ดีเซล แต่มาตรการนี้จะยังใช้อยู่ หาก LNG มีราคาสูงขึ้นเกินกว่า 25 ดอลลาร์สหรัฐต่อล้านบีทียู” นายคมกฤช กล่าว

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,790 วันที่ 9 - 11 มิถุนายน พ.ศ. 2565