อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทวันนี้เปิด “อ่อนค่า”ที่ระดับ 34.37 บาท/ดอลลาร์

02 มิ.ย. 2565 | 00:48 น.

ค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนและมีโอกาสอ่อนค่าลงในช่วงระหว่างวัน-สัญญาณโฟล์ธุรกรรมการทยอยปิดสถานะเก็งกำไรเงินบาทในช่วงที่ผ่านมา รวมถึงแรงขายทำกำไรหุ้นมีโอกาสเห็นเงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนวต้านแถว 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทวันนี้เปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.37 บาทต่อดอลลาร์“อ่อนค่าลงเล็กน้อย”จากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.34 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าสำหรับแนวโน้มเงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนและมีโอกาสอ่อนค่าลงในช่วงระหว่างวัน จากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ที่ได้แรงหนุนจากความกังวลเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงเพื่อควบคุมปัญหาเงินเฟ้อ

 

นอกจากนี้ เราเห็นสัญญาณการทยอยปิดสถานะเก็งกำไรการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาของผู้เล่นในตลาด (ล่าสุดนักลงทุนต่างชาติขายสุทธิบอนด์ระยะสั้นกว่า 3.8 พันล้านบาทในวันก่อนหน้า) ซึ่งโฟลว์ธุรกรรมดังกล่าว รวมถึงแรงขายทำกำไรหุ้นจากนักลงทุนต่างชาติก็มีโอกาสที่ทำให้เงินบาทสามารถอ่อนค่าทดสอบแนวต้านแถว 34.40-34.50 บาทต่อดอลลาร์ได้

อย่างไรก็ดี เราคงมองว่า เงินบาทอาจไม่ได้อ่อนค่าทะลุแนวต้านไปมาก เนื่องจากระดับดังกล่าวเป็นโซนที่ผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ อีกทั้งสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนในฝั่งจีนก็ไม่ได้น่ากังวลและทางการจีนก็ได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ทำให้สินทรัพย์ในฝั่ง EM Asia อาจไม่ได้เผชิญแรงเทขายที่รุนแรง

 

ทั้งนี้ เรามองว่า กรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงนี้ อาจอยู่ในโซน 34.00-34.50 จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่ๆ เข้ามาปรับเปลี่ยนทิศทางการเคลื่อนไหวของเงินบาท อนึ่ง ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.30-34.50 บาท/ดอลลาร์

 

ตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง จากความกังวลแนวโน้มเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย จนกว่าเฟดจะสามารถคุมเงินเฟ้อได้ นอกจากนี้ รายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล่าสุด โดยรวมยังออกมาแข็งแกร่งและยิ่งสนับสนุนโอกาสเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย

 

อาทิ ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการผลิตอุตสาหกรรม (ISM Manufacturing PMI) เดือนพฤษภาคม ที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 56.1 จุด สวนทางกับที่ตลาดคาดการณ์ว่าจะชะลอตัวลง ส่วนยอดการเปิดรับสมัครงาน (JOLTS Job Openings) ก็ยังคงอยู่ในระดับสูงถึง 11.4 ล้านตำแหน่ง สะท้อนถึงภาวะตลาดแรงงานที่ยังมีความตึงตัวและอาจหนุนให้ค่าจ้างในฝั่งสหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มปรับตัวขึ้นตามความต้องการดึงดูดแรงงานของบรรดานายจ้าง ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องได้

 

ความกังวลโอกาสเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ยังคงกดดันให้ดัชนี S&P500 ย่อตัวลง -0.75% นำโดยการปรับตัวลงของหุ้นกลุ่มเทคฯ ที่มักจะอ่อนไหวตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด อาทิ Facebook -2.5%, Tesla -2.4% เช่นเดียวกันกับฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX600 ก็ปรับตัวลดลง -1.04% จากความกังวลแนวโน้มนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของทั้งเฟดและธนาคารกลางยุโรป (ECB)

 

ขณะเดียวกัน รายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด อย่าง ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ของเยอรมนี ในเดือนเมษายน ที่หดตัวกว่า -5.4% จากเดือนก่อนหน้า แย่กว่าที่ตลาดคาดไว้มาก ก็ยิ่งทำให้ตลาดยังคงกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจ ท่ามกลางภาวะเงินเฟ้อสูงและนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น

 

ส่วนในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าตลาดจะอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยง แต่มุมมองของผู้เล่นในตลาดที่ยังคงกังวลแนวโน้มเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยและความกังวลผลกระทบจากการทยอยลดงบดุลของเฟด ราว 4.75 หมื่นล้านดอลลาร์ ก็ยังคงหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องแตะระดับ 2.92% อย่างไรก็ดีเรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways จนกว่าตลาดจะรับรู้ความชัดเจนของการขึ้นดอกเบี้ยเฟด ผ่าน Dot Plot ใหม่จากการประชุมเดือนมิถุนายน

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 102.5 จุด หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ หลังจากที่ตลาดมองว่าเฟดยังมีโอกาสเร่งขึ้นดอกเบี้ยเพื่อคุมเงินเฟ้อ

 

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่าของสกุลเงินหลัก อาทิ เงินยูโร (EUR) ที่อ่อนค่าลงแตะระดับ 1.064 ดอลลาร์ต่อยูโร หลังตลาดผิดหวังกับรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด ส่วน เงินเยนญี่ปุ่น (JPY) ก็อ่อนค่าต่อเนื่องแตะระดับ 130 เยนต่อดอลลาร์ อีกครั้ง ตามส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ

 

และญี่ปุ่นที่กว้างมากขึ้น และหนุนการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ทั้งนี้ การปรับตัวขึ้นของเงินดอลลาร์และบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้กดดันให้ราคาทองคำทรงตัวที่ระดับ 1,849 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอจับตาแนวโน้มตลาดแรงงานสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดการจ้างงานภาคเอกชน โดย ADP ซึ่งอาจเป็นข้อมูลที่สะท้อนถึงยอดการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรม (Nonfarm Payrolls) ที่จะประกาศในวันศุกร์นี้ได้

 

ทั้งนี้ตลาดประเมินว่า ยอดการจ้างงานภาคเอกชนโดย ADP จะเพิ่มขึ้นราว 3 แสนราย สะท้อนถึงความต้องการแรงงานที่ยังอยู่ในระดับสูงและชี้ว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ ยังคงแข็งแกร่งอยู่ ซึ่งภาพตลาดแรงงานสหรัฐฯ ที่ยังแข็งแกร่งก็จะเป็นอีกปัจจัยที่หนุนให้เฟดสามารถเดินหน้าเร่งขึ้นดอกเบี้ยได้ต่อเนื่อง จนกว่าเฟดจะสามารถควบคุมเงินเฟ้อได้

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทขยับอ่อนค่าต่อเนื่อง มาที่ระดับ 34.37-34.39 บาทต่อดอลลาร์ฯ (9.35 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ ทิศทางอ่อนค่าของเงินบาทยังสอดคล้องกับแรงขายสินทรัพย์เสี่ยงและสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ และบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ได้แรงหนุนต่อเนื่องจากข้อมูล ISM ภาคการผลิตเดือนพ.ค. ของสหรัฐฯ ที่ออกมาดีกว่าที่คาด และถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟดที่กระตุ้นกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ 

 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 34.28-34.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และสถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ส่วนตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนพ.ค.จาก ADP ยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนเม.ย. และจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์