มรสุม 3 ลูก Perfect Storm จ่อขย่ม ศก.โลก โจทย์หินไทยต้องรับมือ

30 พ.ค. 2565 | 04:51 น.

มรสุม 3 ลูก Perfect Storm จ่อขย่มเศรษฐกิจโลก ถือเป็นโจทย์หินไทยที่ไทยต้องรับมือ เเต่จะทำอย่างไร ? มาฟังเสียงจากนักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ

เศรษฐกิจโลกจะฟื้นตัวได้อย่างไร ? ยังคงเป็นประเด็นที่ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด  แต่ยังไม่ทันจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงก็เหมือนว่า วิกฤตรอบใหม่ จ่อขย่มเศรษฐกิจโลกอีกครั้งจาก มรสุม 3 ลูก “Perfect Storm” ที่กำลังสร้างความปั่นป่วนให้กับเศรษฐกิจโลกอยู่ในขณะนี้ อาจเข้ามาสั่นสะเทือนเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่ และเศรษฐกิจไทยที่เปราะบางอยู่แล้วให้สาหัสมากยิ่งขึ้น

ล่าสุด ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล กรรมการรองผู้จัดการใหญ่และเลขานุการ  ธนาคารกรุงเทพ  โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว "Kobsak Pootrakool" เตือนรับมือ มรสุมเศรษฐกิจลูกใหม่ ความท้าทายของเศรษฐกิจหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 หรือในรอบ 80 ปี  โดยสรุปว่า มรสุมทั้ง 3 ลูกที่เริ่มจาก 3 ทวีปว่านี้ คือ

 

  • ทวีปยุโรป สงครามรัสเซีย-ยูเครน
  • ทวีปอเมริกา จากความผิดพลาดของเฟด
  • ทวีปเอเชีย จากจีนที่มีปัญหาความเปราะบางจากฟองสบู่ของภาคอสังหาริมทรัพย์ที่สะสมตัวมาเป็นเวลาหลายสิบปี และเริ่มประสบปัญหาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว

 

แน่นอนว่าวิกฤตินี้ทำให้นักเศรษฐศาสตร์เริ่มกังวล และถือเป็นโจทย์ท้าทายเศรษฐกิจไทย คำถามคือ เศรษฐกิจไทยจะรับมือกับ ‘มหาพายุ’ ลูกนี้ได้หรือไม่? เราจะต้องเตรียมการรับมือกับมรสุมเศรษฐกิจลูกใหม่นี้อย่างไร ทำอย่างไรจะผ่าน Perfect Storm ลูกนี้ไปได้ 

 

“ดร.นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโส ทีดีอาร์ไอ ซึ่งสนใจศึกษาวิจัยโจทย์ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย โดยเฉพาะมุมมองด้านเศรษฐศาสตร์ ระบุว่าเห็นด้วยกับพายุทั้ง 3 ลูก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจผ่านภาคเศรษฐกิจจริง ไม่ว่าจะเป็นข้าวของแพง ภาคการเงิน เงินจะไหลออกในระยะปานกลาง ขณะที่ภาคส่งออก รายได้ลดลงกว่าที่ควร ส่วนภาคท่องเที่ยวจะฟื้นตัวช้า​

 

โดยคาดว่าเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวช้าขึ้น โตเป็นบวกแต่ยังคงไม่ฟื้นไปที่ระดับปี 2019 ความล่าช้าในการฟื้นตัวทำให้ประเทศไทยยังไม่กลับไปสู่ระดับเศรษฐกิจปี 2019 ซึ่งอาจจะต้องรอถึงครึ่งปี 2023 เรียกได้ว่าการฟื้นตัวช้าลงจากพายุทั้ง 3 ลูกราว 2-3ไตรมาส

 

ส่วนแนวทางการรับมือของไทย คือการกระตุ้นเศรษฐกิจควรทำอย่างจำกัดเพราะฐานะทางการคลังก็มีความเปราะบาง การคุมอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำ ช่วยเหลือลูกหนี้ให้ประคองระดับหนี้ไม่ให้เกิดวิกฤติ ร่วมกับการเติมเงินบัตรสวัสดิการเพื่อช่วยเหลือคนยากจนควรเป็นมาตรการหลัก

 

“ถ้ามีงบเหลืออาจจะเสริมการกระจายรายได้ เช่น เที่ยวคนละครึ่ง และสุดท้ายแล้วเรื่องนี้ไม่ใช่ความผิดของใคร ต้องช่วยกันปรับพฤติกรรมเอาตัวรอดกันเองด้วย”