นักวิชาการชี้ ไทยได้อานิสงค์จากวิกฤตอาหารโลก

29 พ.ค. 2565 | 09:25 น.

นักวิชาการ ชี้วิกฤตอาหารโลก เป็นโอกาสของธุรกิจส่งออกอาหารไทย แนะรัฐจัดสรรงบประมาณปี 2566 เพิ่มเติมให้กับภาคเกษตรและภาคการผลิตอาหาร เพื่อลงทุนวิจัยและพัฒนาพันธุ์ หวังเพิ่มผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ลดต้นทุนการผลิต

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เปิดเผยว่า ผลพวงจากการสู้รบในยูเครนทำให้เกิดวิกฤตการณ์อาหารโลก จากราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น การขาดแคลนปุ๋ยและวัตถุดิบอาหาร การเก็งกำไรในตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ซื้อขายล่วงหน้า การชะงักงันของการขนส่งและห่วงโซ่อุปทาน การกีดกันการค้าสินค้าเกษตรด้วยระบบโควต้าและระงับการส่งออก เนื่องจากรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ส่งออกข้าวสาลี 25-30% ของมูลค่าการค้าข้าวสาลีทั่วโลก

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

 

ล่าสุดอินเดียระงับการส่งออกข้าวสาลีและธัญพืชเพื่อให้เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ และป้องกันไม่ให้ราคาภายในปรับตัวสูงเกินไป กดดันราคาข้าวสาลีทั่วโลกเพิ่มขึ้น 60-70% จากตันละ 800 ดอลลาร์ ขึ้นเป็นเกือบ 1,300 ดอลลาร์ และราคาข้าวโพดปรับขึ้นสูงกว่า 760-780 ดอลลาร์

วิกฤตความมั่นคงทางอาหารครั้งนี้ต่างจากวิกฤติราคาอาหารโลกเมื่อปี 2550-2551 ซึ่งเป็นผลจากภัยแล้งรุนแรง และการพุ่งขึ้นของราคาพลังงานเป็นหลัก รวมทั้งการใช้พลังงานชีวภาพที่เพิ่มขึ้น โครงสร้างการค้าและการผลิตสินค้าเกษตรที่กระจุกตัวในประเทศหลักๆ ไม่กี่ประเทศ สำหรับคราวนี้สงครามรัสเซีย-ยูเครนเป็นปัจจัยสำคัญ เพราะเป็นแหล่งผลิตธัญพืชส่งออกหลายตัว

 

วิกฤตอาหารโลกที่กำลังเกิดขึ้นจะเป็นโอกาสที่ดีของภาคส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรของไทย กรณีที่ไทยไม่มีความจำเป็นต้องกำหนดโควตาหรือระงับการส่งออกก็ควรเร่งส่งออก หากผลิตเหลือใช้เหลือบริโภคจำนวนมาก และควรจัดสรรงบประมาณปี พ.ศ.2566 เพิ่มเติมให้กับภาคเกษตรกรรมและภาคการผลิตอาหารในการลงทุนวิจัยลงทุนพัฒนาพันธุ์เพื่อให้ผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น 

รวมทั้งเดินหน้าสู่การเป็นครัวของโลก เป็นศูนย์ลางภาคเกษตรกรรมคุณภาพสูงของโลก ถือเป็นการทำภารกิจเพื่อมนุษยชาติโดยรวม ไม่ได้อยู่ที่ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจแห่งชาติเท่านั้น

 

นอกจากนี้ไทยควรมีบทบาทเพิ่มขึ้นในองค์การอาหารโลก (Food and Agricultural Organization of the United Nations) เพื่อขจัดความหิวโหยและการเข้าถึงอาหารอันเป็นปัจจัยพื้นฐานของมนุษย์ ความต้องการสินค้าอาหารหลายชนิดจากไทยจะเพิ่มขึ้นทดแทนการส่งออกที่หายไปจากประเทศที่ระงับการส่งออก และจะขายได้ราคาดีขึ้น

 

อย่างไรก็ตามมีธัญพืชบางตัววัตถุดิบผลิตอาหารบางอย่างที่เราต้องนำเข้าก็จะได้รับผลกระทบ ของอาจแพงขึ้นมาก และอาจขาดแคลนได้ ซึ่งเป็นปัญหาของโลกโดยรวม

 

ล่าสุด ธนาคารโลกได้ประกาศแผนรับมือวิกฤตความมั่งคงที่เป็นอาหารโลก โดยอัดฉีดเม็ดเงินงบประมาณ 3 หมื่นล้านดอลลาร์ และได้ร่วมมือกับประเทศต่างๆ เพิ่มปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตร การผลิตปุ๋ย การชลประทาน เพิ่มประสิทธิภาพให้กับระบบอาหาร สนับสนุนด้านการค้าให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ตลอดจนช่วยเหลือครัวเรือนและผู้ผลิตที่เปราะบาง

 

“โดยภาพรวมไทยได้ประโยชน์จากรายได้ส่งออกอาหารเพิ่มขึ้นก้าวกระโดดในช่วงนี้ ขณะเดียวกันราคาอาหารและค่าครองชีพในประเทศจะแพงขึ้นไปจนถึงปลายปีนี้ คาดว่ารายได้จากภาคส่งออกอาหารและสินค้าเกษตรจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด รัฐก็ควรไปหามาตรการหรือกลไกที่ทำให้รายได้เหล่านี้กระจายไปสู่ผู้ผลิตและเกษตรกรอย่างเป็นธรรม”นายอนุสรณ์กล่าว

 

ส่วนผู้ที่อาจได้รับผลกระทบจากอาหารแพง คือ คนจน ครอบครัวผู้มีรายได้น้อย เพราะค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอาหารจะคิดเป็นสัดส่วน 50-70% ของรายได้ของคนกลุ่มนี้ คนที่กระทบหนักสุด คือ คนจนเมือง รัฐอาจต้องจัดมาตรการสวัสดิการช่วยเหลือในรูปแบบต่างๆ เฉพาะกลุ่มที่เดือดร้อนมาก เช่น คูปองอาหาร เงินช่วยเหลือค่าครองชีพเพิ่มเติม

 

นายอนุสรณ์กล่าวว่า ราว 1 ใน 4 ของแร่ธาตุสำคัญที่ใช้ในการผลิตอาหารในยุโรปมาจากรัสเซีย การแสวงหาแหล่งวัตถุดิบเพิ่มเติมเพื่อผลิตปุ๋ยให้เพียงพอกับความต้องการในระยะเวลาที่สั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ ต้นทุนในการเพาะปลูกของเกษตรกรจะพุ่งสูงขึ้น และผลผลิตจะมีปริมาณต่ำลงมากและดันให้ราคาอาหารทะยานสูงขึ้นทั่วโลก

 

จำนวนมนุษย์ครึ่งหนึ่งของโลกรวมทั้งปศุสัตว์ที่มนุษย์เลี้ยงเพื่อนำมาบริโภคได้อาหารจากการใช้ปุ๋ย หากการขาดแคลนปุ๋ยเกิดขึ้นในเวลายาวนานจะทำให้ผลผลิตลดลงถึง 50% เวลานี้

 

“รัฐบาลรัสเซียได้เรียกร้องให้บรรดาผู้ผลิตระงับการส่งออกปุ๋ย เราจะเห็นคนอดตายจากการขาดอาหารเพิ่มขึ้น รัสเซียเป็นผู้ผลิตสารอาหารสำหรับพืชรายใหญ่ เช่น แร่โปแตช (potash) และฟอสเฟต (phosphate) ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในปุ๋ยที่ช่วยให้พืชผลมีผลผลิตตามเป้าหมาย”

 

บรรษัทข้ามชาติสัญชาตินอร์เวย์ผลิตปุ๋ยไนโตรเจนอย่าง ยารา อินเตอร์เนชันแนล (Yara International) ซึ่งดำเนินธุรกิจปุ๋ยในกว่า 60 ประเทศทั่วโลก ซื้อวัตถุดิบดิบสำคัญในการผลิตปุ๋ยจากรัสเซียและมีโรงงานผลิตขนาดใหญ่ในยูเครนที่เป็นพื้นที่สงคราม ก่อนหน้านี้ราคาปุ๋ยได้ปรับตัวสูงขึ้นอยู่แล้วจากราคาก๊าซในตลาดโลกที่พุ่งสูงขึ้นได้กล่าวเตือนว่า จะเกิดภาวะการขาดแคลนปุ๋ยและราคาปุ๋ยจะพุ่งสูงขึ้น

 

สำหรับไทยซึ่งต้องนำเข้าปุ๋ยจำนวนมากจำเป็นต้องเตรียมตัวรับมือปัญหาการขาดแคลนปุ๋ย การเตรียมการเพื่อจัดซื้อล่วงหน้าเพื่อสต็อกของเอาไว้มีความจำเป็นเร่งด่วน และคาดว่า จะเกิดภาวะขาดแคลนปุ๋ยอย่างแน่นอน

 

ในระยะยาวแล้วไทยควรต้องมีการลงทุนโครงการทางด้านผลิตปุ๋ยใช้เองเพื่อให้เกิดความมั่นคงและพึ่งพาตัวเองได้ รวมทั้งอาจมีความจำเป็นในการรื้อฟื้นโครงการปุ๋ยของอาเซียน