BlueBik เปิดเทคนิค สร้างธุรกิจเข้มแข็ง ให้แข่งได้ในยุคไร้พรมแดน

18 พ.ค. 2565 | 11:49 น.

BlueBik ชี้ธุรกิจปัจจุบันเป็นการแข่งขันแบบไร้พรมแดน แนะธุรกิจต้อง Transformation สู่เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อลดต้นทุน และสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ

นายพชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บลูบิค กรุ๊ป (Bluebik)  กล่าวในงานสัมมนา “Thailand Digital Fast Forward อัพสปีดเศรษฐกิจดิจิทัล”  จัดโดยหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ  หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ  และ สำนักข่าวสปริงค์นิวส์ ภายใต้หัวข้อ “Digital Transformation Empower your Business”  ว่าสิ่งสำคัญมากขณะนี้คือ การทำธุรกิจให้มีความแข็งแรง

 

เพราะธุรกิจเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ซึ่งปัจจุบันทุกธุรกิจมีการแข่งขันกันแบบข้ามพรมแดน ยกตัวอย่างคือ เฟสบุ๊ค เน็ตฟลิกซ์ ที่เป็นของบริษัทต่างประเทศ หรือแม้แต่ธุรกิจที่เข้ามา Disruption วงการอาหาร เช่น แกร๊บ หรือ วงการการเดินทาง หรือแม้แต่การท่องเที่ยว ที่หลายๆ แพลตฟอร์มผู้ให้บริการไม่ใช่บริษัทคนไทย

“ปัจจุบันเราไม่เห็นเส้นแบ่งที่ชัดเจนว่าตลาดเมืองไทยเป็นอย่างไร ตลาดเมืองนอกเป็นอย่างไร แต่ทุกธุรกิจมีการแข่งขันข้ามพรมแดนมาตลอด การแข่งขันของธุรกิจวันนี้ ไม่ว่าจะแข่งในไทยหรือในต่างประเทศ เราต้องมองถึงการแข่งขันในระดับ global scale หรือ ระดับโลก” นายพชร กล่าว

 

พชร อารยะการกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บลูบิค กรุ๊ป

นายพชร กล่าวถึงการสร้างความแข็งแรงให้กับธุรกิจ คือ การลงทุนใน Cloud Computing ที่มองว่าบริษัทจำเป็นต้องย้ายโครงสร้างบางส่วนของธุรกิจมาอยู่บน Cloud เพราะสามารถช่วยลดต้นทุน และการสูญเสียทรัพยากรไปโดยเปล่าประโยชน์ รวมถึงการสูญเสียโอกาส และสร้างความยืดหยุ่นให้ธุรกิจ

 

ยกตัวอย่าง ในอดีตการลงทุนด้านดาต้าเซ็นเตอร์ จะต้องลงทุนในเรื่องของฮาร์ดแวร์ค่อนข้างมาก แต่ปัจจุบันสามารถย้ายข้อมูลขึ้นมาอยู่บน Cloud ซึ่งทำให้ลดข้อจำกัดเดิมๆ ในเรื่องของต้นทุน โดยธุรกิจสามารถจ่ายเท่าที่ใช้ และลดต้นทุนในช่วงที่ไม่ได้ใช้

 

เช่น ช่วงกลางคืนที่ธุรกิจไม่ได้ให้บริการก็ไม่ต้องเสียเงินจ้างบุคคลากรมาคอยเฝ้า ขณะที่ช่วงกลางวันที่ให้บริการหรือในช่วงที่มีการใช้บริการในปริมาณมากๆ Cloud Computing ก็จะสามารถปรับเพื่อรองรับการให้บริการในช่วงพีคได้  

 

ขณะที่การลงทุนในเรื่องของ Cybersecurity ก็เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อป้องกันทรัพย์สินของบริษัท ซึ่งปัจุจบันภัยไซเบอร์ไม่เพียงแต่มุ่งโจมตีขโมยข้อมูล แต่มีรูปแบบที่หลากหลายมากขึ้น ซึ่งหากธุรกิจถูกโจมตี จะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภคอย่างแน่นอน

 

ยกตัวอย่าง กรณี เหรียญ LUNA ซึ่งเป็นเหรียญที่มีมูลค่ามหาศาล แต่เนื่องจากยังมีช่องโหว่ของอัลกอริทึม ที่ทำให้เกิดช่องโหว่ในการโจมตี ท้ายที่สุดส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้มูลค่าของเหรียญหายไปกับตา

 

นายพชร กล่าวอีกว่า บิ๊กดาต้า และ AI เป็นเทคโนโลยีที่มีการใช้อย่างแพร่หลาย ยกตัวอย่าง ปัจจุบันสามารถนำรูปภาพ หรือไฟล์เสียงต่างๆ รวมทั้งคลิปวิดีโอ และใช้เทคโนโลยีในการวิเคราะห์ ซึ่งสามารถนำมาเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเรื่องธุรกิจได้ดีขึ้น  

 

นอกจากนี้ธุรกิจควรมีการทำงานแบบ Agile ที่ทำให้พนักงานสามารถทำงานได้แบบ Cross-functional  คือการที่บุคคลจากหลายสายงานสามารถทำงานร่วมกันเพื่อให้โปรเจคหนึ่งสำเร็จขึ้นได้ ซึ่งทำให้การทำงานเป็นแบบ Self-Organizing ส่งผลให้องค์กรมีความคล่องตัวมากขึ้นในการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น รวมทั้งธุรกิจต้องเป็นแบบ hybrid workplace มากขึ้น คือสามารถทำงานได้ทั้งที่บ้านและที่ออฟฟิต

 

นายพรชกล่าวด้วยว่า ธุรกิจปัจจุบันไม่สามารถอยู่ได้ด้วยตัวคนเดียว แต่ธุรกิจที่เก่งจะสามารถหาพาร์ทเนอร์ และดึงศักยภาพของธุรกิจตัวเองไปร่วมมือกับธุรกิจอื่นได้ หรือที่เรียกว่า API Economy คือ การเชื่อมต่อเชิงแอปพลิเคชั่น ซึ่งปัจจุบันธุรกิจสามารถเปิด API เพื่อเชื่อมต่อกับแอปพลิเคชั่นอื่นได้

 

“การพัฒนาอะไรขึ้นมา ควรสร้างในสิ่งที่สามารถเชื่อมโยงกับคนอื่นได้ เช่น หากขายรถ 1 คัน เราต้องมองต่อว่า ลูกค้าต้องการซื้อประกัน และต้องการกู้เงิน ซึ่งทั้งหมดไม่จำเป็นต้องมาจากบริษัทเดียวกัน แต่เราสามารถร่วมมือโดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาเชื่อมโยงธุรกิจ และทำให้เกิดบริการที่เชื่อมโยงแบบไร้รอยต่อมากขึ้น” นายพชร กล่าว

 

นายพชร กล่าวทิ้งท้ายว่า การเปลี่ยนแปลงธุรกิจ ถ้ามองว่าใช้งบเท่าไหร่ จะทำให้เกิดการเสียดายเงิน แต่หากมองไปข้างหน้าว่า หากไม่ทำหรือไม่ลงทุนเพิ่มแล้วจะเกิดอะไรขึ้น จะเสียอะไรบ้าง หรือเสียโอกาสอะไรบ้าง หรือเสียหายเท่าไหร่ แล้วจะเห็นงบและความจำเป็นที่เราต้องลงทุน