หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ Perpetual Bond น่าลงทุนหรือไม่ เหมาะกับใคร

13 พ.ค. 2565 | 00:07 น.

นักลงทุนที่กำลังมองหาผลตอบแทนที่สูงกว่าดอกเบี้ยเงินฝากธนาคาร อาจเริ่มหันมาสนใจในหุ้นกู้ โดยเฉพาะหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ (Perpetual Bond) ที่กำลังได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง ล่อตาล่อใจ ถือเป็นทางเลือกที่น่าลงทุนหรือไม่ ?

ก่อนจะตอบคำถามนี้ ขอให้ลองมาทำความเข้าใจลักษณะของหุ้นกู้ประเภทนี้กันก่อน เพราะอาจไม่ได้เหมาะกับทุกคน

 

หุ้นกู้ คือ ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชน เพื่อระดมทุนสำหรับใช้ในกิจการต่างๆของบริษัท เมื่อนักลงทุนซื้อหุ้นกู้ ก็จะอยู่ในสถานะ “เจ้าหนี้” และบริษัทที่ออกหุ้นกู้ จะอยู่ในสถานะ “ลูกหนี้” โดยบริษัทที่ออกหุ้นกู้นั้นจะจ่ายดอกเบี้ยตามที่ตกลงกันตลอดช่วงอายุของหุ้นกู้ และชำระเงินต้นคืน ณ วันครบกำหนดอายุ หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ มีชื่อทางการว่า “หุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุน” ให้ดอกเบี้ยสูงกว่าตราสารหนี้ หรือหุ้นกู้ทั่วไป เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น

 

หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ Perpetual Bond น่าลงทุนหรือไม่ เหมาะกับใคร

 

ความแตกต่างของหุ้นกู้และหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์

 

1.ระยะเวลาการไถ่ถอน หากเป็นหุ้นกู้ทั่วไป จะกำหนดเวลาไถ่ถอนที่ชัดเจน เช่น หุ้นกู้ อายุ 3 ปี หรือ 5 ปี แต่หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์จะไม่กำหนดวันไถ่ถอนไว้ บริษัทผู้ออกจะไถ่ถอนเมื่อเลิกบริษัท นั่นหมายความว่า อาจเป็นยี่สิบ สามสิบปี หรือนานกว่านั้นก็ได้ หากบริษัทยังไม่เลิกกิจการไป อย่างไรก็ตามเพื่อเพิ่มความน่าสนใจแก่นักลงทุน จึงกำหนดให้ผู้ออกตราสารประเภทนี้มีสิทธิไถ่ถอนคืนก่อนกำหนด (Call option) เช่น วันครบกำหนด 5 ปี หรือวันชำระดอกเบี้ยหุ้นกู้แต่ละครั้ง ภายหลังปีที่ 5

 

2. ลำดับการรับชำระหนี้คืน หากบริษัทล้มละลายหรือเลิกกิจการ ผู้ซื้อหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ที่ถือเป็นตราสารหนี้ด้อยสิทธิ (subordinated) จะได้รับชำระหนี้คืน อันดับถัดจากผู้ซื้อหุ้นกู้ทั่วไป แต่ได้รับก่อนผู้ถือหุ้นสามัญ หมายความว่า อาจได้รับการชำระคืนเงินต้นทั้งหมด หรือไม่เต็มจำนวน หรือแม้แต่ไม่ได้รับคืนเลยก็ได้ หากบริษัทไม่มีทรัพย์สินเหลือ ดังนั้นจึงเป็นหุ้นกู้ที่มีความเสี่ยงสูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไป

 

3.การจ่ายดอกเบี้ย หุ้นกู้ทั่วไปจะจ่ายดอกเบี้ยเป็นงวดตามเวลาที่กำหนดไว้ โดยส่วนใหญ่จ่ายปีละ 2 ครั้ง หรือทุก 6 เดือน แต่สำหรับบางรุ่นอาจจ่ายปีละ 4 ครั้งหรือทุก 3 เดือน ก็ได้ แต่สำหรับหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ ผู้ออกมีสิทธิเลื่อนการจ่ายดอกเบี้ยออกไปก่อนได้แม้ว่าบริษัทจะมีกำไร ดังนั้นนักลงทุนอาจไม่ได้รับกระแสเงินสดจากดอกเบี้ยทุกงวดเหมือนการซื้อหุ้นกู้แบบทั่วไป ซึ่งผลตอบแทนเฉลี่ยก็จะลดลงตามไปด้วย แต่หากการจ่ายดอกเบี้ยเป็นไปตามที่กำหนด นักลงทุนก็จะได้รับรายได้ที่สม่ำเสมอเป็นเวลานาน

นักลงทุนที่สนใจการลงทุนในหุ้นกู้ประเภทนี้ จึงควรศึกษาข้อมูลของบริษัทผู้ออกให้ดี ต้องมั่นใจว่าเป็นบริษัทที่แข็งแกร่ง สามารถอยู่กับวงจรเศรษฐกิจได้ยาว เพราะนักลงทุนต้องถือหุ้นกู้เป็นระยะเวลานาน ปัจจัยที่สามารถนำมาพิจารณาในการเลือกหุ้นกู้ได้ คือ “อันดับความน่าเชื่อถือ” หรือ Credit Rating ของผู้ออกหุ้นกู้ เพื่อดูความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัท ซึ่งอันดับเครดิตจะแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

 

1. Investment Grade ได้แก่ Rating ตั้งแต่ AAA ถึง BBB- คือระดับที่สามารถลงทุนได้ โดย AAA มีความเสี่ยงในการผิดชำระหนี้ต่ำ

 

2. Non-Investment Grade ได้แก่ Rating ตั้งแต่ BB+ ลงมาจนถึง D คือระดับที่ต่ำกว่าระดับน่าลงทุน เป็นหุ้นกู้คุณภาพปานกลางถึงต่ำ จึงให้ผลตอบแทนสูงกว่า โดย D เป็นระดับที่ไม่สามารถชำระหนี้ได้

 

ในกรณีของหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์ นอกจากจะประเมินอันดับ Rating ของผู้ออกแล้ว ควรประเมิน Rating ของตัวหุ้นกู้ด้วย โดยทั่วไปอันดับ Rating ของตัวหุ้นกู้ชั่วนิรันดร์มักต่ำกว่าอันดับของผู้ออก 1-2 ระดับ เนื่องจากมีลักษณะความเสี่ยงตามที่กล่าวไป

 

หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์เหมาะกับใคร

 

จะเห็นได้ว่าหุ้นกู้ประเภทนี้มีความซับซ้อนกว่าหุ้นกู้ทั่วไป หากนักลงทุนไม่เคยมีประสบการณ์การลงทุนในหุ้นกู้มาก่อน ควรทำความเข้าใจในข้อจำกัดเหล่านี้ให้ถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจลงทุน หุ้นกู้ประเภทนี้เหมาะกับนักลงทุนที่มีเงินลงทุนค่อนข้างสูง ต้องการแบ่งเงินมากระจายลงทุน หรือเป็นนักลงทุนที่มีเงินเย็น ไม่ได้มีเป้าหมายที่จะใช้เงินภายในระยะเวลาอันใกล้ ตระหนักถึงความเสี่ยงที่จะได้รับเงินต้นคืนช้า หากไม่ต้องการถือต่อ ต้องทำการขายในตลาดรองที่มีสภาพคล่องค่อนข้างต่ำ

 

การลงทุนในหุ้นกู้ อย่าดูเพียงแค่อัตราดอกเบี้ยที่สูงเท่านั้น แม้หุ้นกู้ชั่วนิรันดร์จะจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าหุ้นกู้ทั่วไป นักลงทุนควรพิจารณาว่าส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นนี้สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ และควรเลือกลงทุนให้เหมาะสมกับความเสี่ยงที่นักลงทุนรับได้

 

หากมีความเข้าใจในเงื่อนไข ก็สามารถลงทุนได้ ที่สำคัญอย่าลืมว่าการจัดสรรสินทรัพย์ (Asset Allocation) โดยการกระจายการลงทุนไปในหลากหลายสินทรัพย์เพื่อกระจายความเสี่ยงยังคงเป็นเรื่องสำคัญ ไม่ลงทุนกระจุกตัว หรือเลือกลงทุนในสินค้าการเงินเพียงชนิดเดียว

 

บทความโดย : กัลยวีร์ โรจน์สุขพัฒนา นักวางแผนการเงิน CFP®

อ้างอิงที่มา :  สมาคมนักวางแผนการเงินไทย