อัตราแลกเปลี่ยน ค่าเงินบาทวันนี้เปิด"อ่อนค่า" ที่ระดับ 34.68 บาท/ดอลลาร์

12 พ.ค. 2565 | 00:54 น.

ค่าเงินบาทวันนี้มีแนวโน้มผันผวนฝั่งอ่อนค่า มองกรอบเคลื่อนไหววันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.60-34.75 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.68 บาทต่อดอลลาร์ "อ่อนค่า"ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.61 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีโอกาสที่จะผันผวนในฝั่งอ่อนค่า

 

และอาจอ่อนค่าไปทดสอบแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ได้ ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินฝั่งเอเชีย จากความกังวลแนวโน้มเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ย

 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า หากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติยังไม่ได้ไหลออกรุนแรง ก็จะทำให้เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก ซึ่งเรามองว่า การย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจช่วยลดแรงเทขายบอนด์ระยะยาวในฝั่งไทยได้บ้าง ในขณะที่ฝั่งหุ้น ต้องรอจับตาว่านักลงทุนต่างชาติจะกลับเข้ามาซื้อหุ้นไทยในจังหวะย่อตัวมากขึ้นหรือไม่

 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.60-34.75 บาท/ดอลลาร์

 

 

ตลาดการเงินยังคงผันผวนหนัก โดยผู้เล่นในตลาดต่างกล้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นในช่วงก่อนรับรู้รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) สหรัฐฯ ในเดือนเมษายน จากความหวังว่า เงินเฟ้อจะชะลอตัวลง ทว่า อัตราเงินเฟ้อ CPI สหรัฐฯ เดือนเมษายน กลับชะลอลงสู่ระดับ 8.3% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้

 

นอกจากนี้ เมื่อหักผลของราคาสินค้าที่ผันผวนสูง อาทิ อาหารและพลังงาน อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน (Core CPI) แม้จะชะลอลงสู่ระดับ 6.2% แต่คิดเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราเร่งตัวขึ้นถึง +0.6% จากเดือนก่อนหน้า สูงกว่าที่ตลาดคาด หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของราคาสินค้าในหมวดที่พักอาศัย ราคารถยนต์ใหม่ รวมถึงสินค้าหมวดบริการ อาทิ ราคาตั๋วเครื่องบิน และสะท้อนว่าอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ อาจไม่ได้ชะลอลงได้เร็วและอาจกดดันให้เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยอย่างรุนแรงเพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อได้

 

ความกังวลแนวโน้มเฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ย หลังอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ออกมาสูงกว่าคาด ได้ส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดต่างกลับสู่โหมดปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) และเลือกที่จะเทขายสินทรัพย์เสี่ยงที่อ่อนไหวกับการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ย อาทิ หุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth ส่งผลให้ในฝั่งตลาดหุ้นสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลงกว่า -3.18%

 

ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -1.65% ท่ามกลางความผันผวนในตลาดการเงินจากความกังวลปัญหาเงินเฟ้อสูงที่อาจกดดันให้เฟดเร่งขึ้นดอกเบี้ยจนอาจทำให้เศรษฐกิจซบเซาลง (Stagflation) เราคงแนะนำการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Healthcare ซึ่งข้อมูลในอดีตสะท้อนว่า หุ้นกลุ่ม Healthcare นั้นสามารถให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นได้ในช่วงภาวะดังกล่าว อีกทั้งระดับราคาปัจจุบันก็อยู่ในระดับที่ถูกกว่าตลาดหุ้นโดยรวม

 

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรปปรับตัวขึ้นแรงถึง +2.62% สวนทางกับภาพตลาดหุ้นสหรัฐฯ หนุนโดยรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนที่ส่วนใหญ่ยังคงออกมาดีกว่าคาด นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย อาทิ L’Oreal +4.8%, Louis Vuitton +4.3% จากความหวังการผ่อนคลายมาตการ Lockdown ในจีน หลังยอดผู้ติดเชื้อในจีนชะลอลงอย่างต่อเนื่อง 

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ รายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯ ได้ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ผันผวนหนักเช่นกัน โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้พุ่งขึ้นกลับไปแตะระดับ 3.07% หลังเงินเฟ้อชะลอลงน้อยกว่าคาด ทำให้ตลาดยังกังวลว่าเฟดอาจเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง ทว่าภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวลดลงสู่ระดับ 2.91% จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวน

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยท่ามกลางความผันผวนในตลาด ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) สามารถปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 104 จุด ได้อีกครั้ง ซึ่ง เรามองว่า ในระยะสั้น เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด จนกว่าตลาดจะเริ่มคลายกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด

 

และควรจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในสัปดาห์นี้ว่าจะมีมุมมองต่อทิศทางนโยบายการเงินเฟดอย่างไร หลังอัตราเงินเฟ้อล่าสุดชะลอลงน้อยกว่าคาด ทั้งนี้ แม้เงินดอลลาร์จะแข็งค่าขึ้น ทว่าความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยและการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นจากระดับ 1,837 ดอลลาร์ต่อออนซ์ กลับสู่ระดับ 1,852 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า ในช่วงนี้ ราคาทองคำอาจเคลื่อนไหวผันผวนตามทิศทางของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ซึ่งหากบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงต่อเนื่องก็อาจหนุนให้ราคาทองคำปรับตัวขึ้นต่อได้

 

สำหรับวันนี้ ผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเศรษฐกิจอังกฤษ โดยตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจอังกฤษอาจโตราว +1.0%q/q ในไตรมาสแรกของปีนี้ ชะลอลงจากช่วงปลายปีที่แล้ว จากผลกระทบของการระบาดโอมิครอนและผลกระทบจากสงครามที่กดดันการบริโภคภาคเอกชนและภาคการผลิต ผ่านปัญหาราคาสินค้าและต้นทุนการผลิตที่พุ่งสูงขึ้น

 

นอกจากนี้ การทยอยขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) เพื่อคุมปัญหาเงินเฟ้อก็อาจเป็นอีกปัจจัยกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจและทำให้เศรษฐกิจอังกฤษมีความเสี่ยงที่จะซบเซาหนักในปลายปีมากขึ้น

 

และนอกเหนือจากรายงานข้อมูลดังกล่าว ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าเฟด หลังอัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ไม่ได้ชะลอลงมากเท่าที่ตลาดคาดหวัง โดยตลาดจะรอจับตาว่าบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดจะมีมุมมองต่อแนวโน้มนโยบายการเงินเฟดอย่างไร โดยเฉพาะโอกาสในการเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงเพื่อคุมเงินเฟ้อ

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่าเงินบาทอ่อนค่าทดสอบแนว 34.70 ซึ่งเป็นระดับอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีอีกครั้งในช่วงเช้าวันนี้ (9.30 น.) เทียบกับระดับปิดตลาดวันทำการก่อนหน้าที่ 34.62 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงเช่นเดียวกับสกุลเงินส่วนใหญ่ในเอเชีย ขณะที่แรงขายเงินดอลลาร์ฯ ชะลอลงบางส่วน เนื่องจากเฟดยังคงมีแนวโน้มปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อเนื่อง หลังจากที่ข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ ล่าสุดยังคงอยู่ในระดับสูง (US CPI +8.3% YoY ในเดือนเม.ย. ชะลอลงเล็กน้อยจาก +8.5% ในเดือนมี.ค. แต่ยังคงสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของตลาดที่ 8.1%)  

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 34.60-34.75 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางค่าเงินหยวน สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย และสัญญาณเงินทุนต่างชาติ ส่วนข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ได้แก่ จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์และดัชนีราคาผู้ผลิต (PPI)