อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทวันนี้เปิด "อ่อนค่า" ที่ระดับ  34.63 บาท/ดอลลาร์

11 พ.ค. 2565 | 00:50 น.

ค่าเงินบาทอาจอ่อนค่าไปทดสอบแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ ทว่า จุดกลับตัวของเงินบาทในระยะสั้นอาจเกิดขึ้นได้ในคืนนี้ หลังตลาดรับรู้รายงานเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนเมษายน

อัตราแลกเปลี่ยนค่าค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  34.63 บาทต่อดอลลาร์ "อ่อนค่า"ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  34.55 บาทต่อดอลลาร์ 
 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีโอกาสที่จะผันผวนในฝั่งอ่อนค่า ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ 
 

อย่างไรก็ดี ฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติยังไม่ได้ไหลออกรุนแรง ทำให้เงินบาทไม่ได้อ่อนค่าไปมากนัก และอาจอ่อนค่าไปทดสอบแนวต้านสำคัญใกล้ระดับ 34.75 บาทต่อดอลลาร์ ทว่า จุดกลับตัวของเงินบาทในระยะสั้นอาจเกิดขึ้นได้ในคืนนี้ หลังตลาดรับรู้รายงานเงินเฟ้อสหรัฐฯ เดือนเมษายน หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ชะลอตัวลง และบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดไม่ได้ส่งสัญญาณสนับสนุนการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด เงินดอลลาร์ก็อาจอ่อนค่าลง พร้อมจังหวะการเริ่มเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ซึ่งจะพอช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง
 

ทั้งนี้ ในช่วงที่ตลาดการเงินยังมีความผันผวนสูง เราคงแนะนำว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลาย อาทิ ใช้ Option เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน
 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 34.50-34.70 บาท/ดอลลาร์

 

ตลาดการเงินยังคงอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก เนื่องจากผู้เล่นในตลาดจะรอลุ้นรายงานข้อมูลเงินเฟ้อทั่วไป (CPI Inflation) ของสหรัฐฯ ในวันนี้ เพื่อประเมินทิศทางนโยบายการเงินของเฟด ขณะเดียวกัน ความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลงหนัก จากทั้งปัญหาการระบาดของโอมิครอนในจีน และการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายของบรรดาธนาคารกลางเพื่อควบคุมเงินเฟ้อ ยังคงเป็นปัจจัยหลักที่กดดันบรรยากาศในตลาดการเงินโดยรวม โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบเบรนท์ที่ยังคงปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 101.6 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล จากแนวโน้มความต้องการใช้พลังงานที่อาจลดลงในระยะสั้น  
 

ทางด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ แม้ว่าตลาดยังคงระมัดระวังตัว แต่ผู้เล่นในตลาดบางส่วนได้กลับเข้ามาซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth หลังบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่องมาอยู่ที่ระดับ 2.99% ส่งผลให้ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq สามารถปรับตัวขึ้นราว +0.98% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.25%
 

อย่างไรก็ดี เรามองว่า การรีบาวด์ขึ้นของตลาดหุ้นสหรัฐฯ หลังมีการปรับตัวลงแรงหลายวันติดต่อกัน เป็นเรื่องปกติ และอาจไม่ได้ส่งสัญญาณว่าตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ผ่านจุดต่ำสุดและพร้อมจะปรับตัวขึ้นต่อเนื่องแต่อย่างใด นักลงทุนจึงควรระมัดระวังและชะลอการลงทุนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ไปก่อน
 

อนึ่งในช่วงตลาดมีความผันผวน เราคงแนะนำการลงทุนในหุ้นกลุ่ม Healthcare ซึ่งข้อมูลในอดีตสะท้อนว่า หุ้นกลุ่ม Healthcare นั้นสามารถให้ผลตอบแทนที่โดดเด่นได้ อีกทั้งระดับราคาปัจจุบันก็อยู่ในระดับที่ถูกกว่าตลาดหุ้นโดยรวม

ส่วนทางด้านตลาดหุ้นยุโรปพลิกกลับมาปิดตลาด +0.79% หนุนโดยแรงซื้อจากนักลงทุนหลังหุ้นยุโรปได้ปรับตัวลงหนักในช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากรายงานดัชนีความเชื่อมั่นทางเศรษฐกิจของเยอรมนี (ZEW Economic Survey) ในเดือนพฤษภาคมที่ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ -34.3 จุด ดีกว่าที่ตลาดคาดว่าจะปรับตัวลดลงต่อเนื่อง 
 

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ยังคงรอรายงานอัตราเงินเฟ้อทั่วไปสหรัฐฯ ทว่าความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลงที่ยังกดดันให้ผู้เล่นในตลาดไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง และกดดันให้ราคาน้ำมันปรับตัวลดลง ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวลดลงสู่ระดับ 2.99% ทั้งนี้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังมีแนวโน้มแกว่งตัวผันผวนได้ ตามมุมมองของผู้เล่นต่อแนวโน้มเงินเฟ้อสหรัฐฯ และทิศทางนโยบายการเงินของเฟด 

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ปรับตัวแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบสกุลเงินหลัก ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) กลับมาใกล้ระดับ 104 จุด อีกครั้ง จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวน ซึ่ง เรามองว่า ในระยะสั้น เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มได้รับแรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย ท่ามกลางภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาด จนกว่าตลาดจะเริ่มคลายกังวลแนวโน้มการเร่งขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งต้องรอความชัดเจนจากรายงานข้อมูลเงินเฟ้อสหรัฐฯ รวมถึงถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในสัปดาห์นี้ 
 

สำหรับวันนี้ ไฮไลท์สำคัญที่ผู้เล่นในตลาดจะจับตา คือ รายงานข้อมูลเงินเฟ้อทั่วไปของสหรัฐฯ ในเดือนเมษายน ซึ่งตลาดคาดว่าจะเริ่มชะลอลงสู่ระดับ 8.1% จากระดับราคาสินค้าในกลุ่ม Reopening อาทิ สินค้าคงทน (เครื่องใช้ไฟฟ้า รถยนต์) ที่เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลงมากขึ้น หลังราคาได้พุ่งขึ้นแรงในช่วงต้นของการเปิดเมือง ทว่าค่าใช้จ่ายในส่วนการบริการต่างๆ ยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น หลังความต้องการบริโภคของผู้คนได้เปลี่ยนจากสินค้าสู่การบริการมากขึ้น ทำให้อัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูงต่อ
 

ทั้งนี้ หากเงินเฟ้อไม่ได้เร่งตัวขึ้นเกินคาด หรือ ชะลอลงมากกว่าคาด จะช่วยลดโอกาสที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยนโยบายรุนแรงถึง +0.75% ในการประชุมครั้งถัดๆ ไป นอกจากนี้ ตลาดจะจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าเฟดว่าจะมีมุมมองต่อแนวโน้มเศรษฐกิจหลังการทยอยขึ้นดอกเบี้ยอย่างไร โอกาสที่เฟดจะเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงมีมากน้อยขนาดไหน รวมถึงคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยนโยบายสูงสุด (Terminal Rate) ในรอบนี้
 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุ เงินบาทขยับเข้าทดสอบระดับ 34.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ (ทำสถิติอ่อนค่าสุดในรอบ 5 ปีครั้งใหม่) ก่อนจะกลับมาเคลื่อนไหวที่ระดับประมาณ 34.62-65 บาทต่อดอลลาร์ฯ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 34.54 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับการย่อตัวลงของราคาทองคำ ส่วนสกุลเงินเอเชียอื่นๆ เคลื่อนไหวในทิศทางปะปนระหว่างรอการรายงานตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ในคืนนี้ 
 

ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ มีแรงหนุนบางส่วนจากสัญญาณคุมเข้มนโยบายการเงินต่อเนื่องจากเจ้าหน้าที่เฟดที่ระบุถึงความเป็นไปได้ใของการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 50 basis points (bps.) ในช่วง 2-3 รอบการประชุมเฟดหลังจากนี้ และเจ้าหน้าที่เฟดบางส่วนยังคงไม่ตัดโอกาสของการขึ้นดอกเบี้ยครั้งละ 75 basis points (bps.) ออกไป หากเงินเฟ้อสหรัฐฯ ยังคงทรงตัวอยู่ในกรอบสูงต่อเนื่อง
 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 34.50-34.70 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ถ้อยแถลงของเจ้าหน้าที่เฟด สถานการณ์ยูเครน-รัสเซีย ทิศทางเงินทุนต่างชาติ และตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐฯ และจีน