BBL-SCB รุกสินเชื่อสีเขียวรับกระแสโลก

01 พ.ค. 2565 | 11:18 น.

ธนาคารกรุงเทพคาด ลูกค้าเตรียมออกกรีนบอนด์กว่า 2 หมื่นล้าน พร้อมสานต่อสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม-พลังงานทดแทน ค่ายไทยพาณิชย์เตรียมวงเงิน 2 หมื่นล้าน หนุนสินเชื่อสีเขียว/ESG ตั้งเป้าเพิ่มกองทุน ESG เป็นทางเลือกเพื่อความยั่งยืน

สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) รายงานมูลค่าการออกตราสารหนี้ด้านความยั่งยืน (ESG Bond) เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องทุกปี จาก 10,050 ล้านบาทในปี 2561 ซึ่งเป็นปีแรกที่มีหลักเกณฑ์การออกและเสนอขาย ESG Bond เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดมาที่  173,800 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2564 ส่งผลให้มียอดคงค้างทั้งสิ้น 299,296 ล้านบาท

 

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ BBL เปิดเผยว่า แนวโน้มการออก ESG Bond ในอนาคตคาดว่า ยังมีลูกค้าธุรกิจที่สนใจเสนอขาย Green Bond รวมกว่า 20,000 ล้านบาท ทั้งจากลูกค้าธุรกิจหลายรายที่เคยออก Green Bond ไปแล้วเมื่อเริ่มมีโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ และลูกค้ารายอื่นๆที่สนใจออก Green Bond เป็นครั้งแรก

นายทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงเทพ จำกัด (มหาชน)

ขณะที่ธนาคารเองมีบริการสินเชื่อบัวหลวงกรีน (Bualuang Green) คิดดอกเบี้ย MLR-1% ตลอดอายุสัญญา ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 4.25% ต่อปี (MLR ณ วันที่ 11 เม.ย65 = 5.25%) กำหนดระยะเวลาปล่อยกู้สูงสุดถึง 8 ปี วงเงินกู้สูงสุด 50 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม สำหรับการลงทุนทางธุรกิจหรือการบริหารจัดการพลังงานที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

BBL-SCB รุกสินเชื่อสีเขียวรับกระแสโลก

แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

  1. การลงทุนด้านพลังงานทดแทน (Renewable) รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนสนับสนุนพลังงานทดแทน และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น พลังงานจากแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ การลงทุนที่ลดการใช้พลังงานในธุรกิจ และชิ้นส่วนอุปกรณ์ที่ใช้ในรถยนต์ไฟฟ้า รถจักรยานต์ไฟฟ้า เป็นต้น
  2. การบริหารจัดการของเสียเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ ทั้งการนำมาใช้ซ้ำให้คุ้มค่า (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) เช่น การนำเศษพลาสติก กระดาษ โลหะ มาใช้ซ้ำหรือใช้ใหม่ การบำบัด/ฟื้นฟู น้ำเสีย ขยะ
  3. การลงทุนเพื่อเปลี่ยนมาใช้วัสดุชีวภาพทดแทนสารเคมี เช่น การเลือกใช้วัสดุชีวภาพที่ย่อยสลายง่ายแทนการใช้พลาสติก การทำเกษตรแบบอินทรีย์ 

 

“สินเชื่อบัวหลวงกรีน เริ่มดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2551 และทบทวนขอบเขตของสินเชื่อให้ทันสมัย พร้อมกับปรับปรุงเงื่อนไขสินเชื่อให้จูงใจผู้ประกอบการมากขึ้น เพราะเราเชื่อมั่นว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ดีกับทั้งตัวธุรกิจ ลดต้นทุนด้านพลังงาน ลดก๊าซเรือนกระจกW

 

ตลอดจนเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้สอดคล้องกับกระแสการเปลี่ยนผ่านไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำที่กำลังเกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ โดยตั้งเป้าหมายปล่อยสินเชื่อผ่านโครงการนี้ไว้ถึง 2,000 ล้านบาท ผู้สนใจสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการได้จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567
 

 

อย่างไรก็ตาม ปีที่ผ่านมา ธนาคารสนับสนุนสินเชื่อเพื่อธุรกิจผลิตและส่งไฟฟ้าพลังงานทดแทนรวมกว่า 107,653 ล้านบาท โดยมีสัดส่วนการให้สินเชื่อแก่โรงงานไฟฟ้าในกลุ่มพลังงานแสงอาทิตย์เป็นหลักมากกว่า 50% ของสินเชื่อพลังงานทดแทน รองลงมาคือกลุ่มพลังงานน้ำ พลังงานลม และพลังงานชีวมวล

 

ธนาคารยังสนับสนุนการระดมทุนเพื่อบรรลุเป้าหมายด้านความยั่งยืนของบริษัทเอกชนชั้นนำในไทย ผ่านการเป็นผู้จัดจำหน่ายตราสารหนี้ด้าน ESG ปี 2564 ภาคเอกชนระดมทุนผ่าน ESG bond รวมถึง 56,700 ล้านบาท ซึ่งธนาคารเป็นผู้จัดการจำหน่ายถึง 37,200 ล้านบาท หรือ 66% ของมูลค่าตราสารหนี้ด้าน ESG ทั้งหมดในตลาดทุนไทย

 

นายเสถียร เลี้ยววาริณ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคาร ไทยพาณิชย์ หรือ SCB กล่าวว่า ปี 2565 ธนาคารยกระดับการให้สินเชื่ออย่างรับผิดชอบตามหลักการ อีเควเตอร์(Equator Principles: EP) ซึ่งเป็นมาตรฐานสากลที่องค์กรและสถาบันการเงินทั่วโลกให้การยอมรับ โดยไทยพาณิชย์เป็นธนาคารแห่งแรกในไทยที่เข้าร่วมเป็นสมาชิกสมาคม EP เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา

นายเสถียร เลี้ยววาริณ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานกลยุทธ์องค์กร ธนาคาร ไทยพาณิชย์

นอกจากการเตรียมวงเงินไว้ราว 20,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว/ ESG สำหรับลูกค้าธุรกิจทั้งขนาดใหญ่ ขนาดกลาง และขนาดเล็ก รวมไปถึงลูกค้าบุคคลแล้ว ยังมีเป้าหมายที่จะเพิ่มจำนวนผลิตภัณฑ์กองทุน ESG เป็นทางเลือกในการลงทุนเพื่อความยั่งยืนให้กับลูกค้าอีกด้วย

 

ทั้งนี้การสนับสนุนการเงินที่ยั่งยืน หรือ Sustainable Finance เป็นหนึ่งในเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของธนาคาร ซึ่งได้มีการกำหนดเป้าหมาย 3 ปี (2564-2566) ไว้ 3 เรื่อง ได้แก่

  1. บูรณาการ ESG ในกระบวนการพิจารณาให้สินเชื่อ
  2. ส่งเสริมการเงินที่ยั่งยืนเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (SDGs)
  3. นำเสนอผลิตภัณฑ์กองทุน ESG ในหลากหลายธีมการลงทุน

 

สำหรับปี 2564 ธนาคารสนับสนุนการเงินที่ยั่งยืน เพื่อบรรเทาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีวงเงินรวมกว่า 40,150 ล้านบาท แบ่งเป็น

  1. กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ประกอบด้วยสินเชื่อเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Loan) หุ้นกู้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Bond) หุ้นกู้ส่งเสริมความยั่งยืน (Sustainability-Linked Bond: SLB) และการให้คำปรึกษาด้าน ESG แก่การพัฒนาโครงการขนาดใหญ่
  2. กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดกลางและย่อม (SMEs) ผ่านสินเชื่อเพื่อธุรกิจรักษ์โลก (SCB SME Go Green)
  3. กลุ่มลูกค้าบุคคล ประกอบด้วยสินเชื่อยานยนต์พลังงานสะอาด สินเชื่อบ้านสีเขียว และสินเชื่อเพื่อความยั่งยืนสำหรับผู้ประกอบการรายย่อย (sSME)

 

ธนาคารยังให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนอย่างยั่งยืน โดยปี 2564 ธนาคารมีผลิตภัณฑ์การลงทุนเพื่อความยั่งยืนให้ลูกค้าเลือกถึง 79 กองทุน มีมูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การจัดการ(AUM) รวม 39,500 ล้านบาท หรือคิดเป็น 7.3% ของ AUM ทั้งหมด

 

“ช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ธนาคารพบว่า โอกาสเติบโตของสินเชื่อสีเขียว/ESG มีมากกว่าที่คาดไว้ เห็นได้จากผลการดำเนินงานปี 2564 ที่ดีกว่าเป้าหมายมากและใกล้จะบรรลุเป้าหมาย 3 ปีที่เป็นหมุดหมายหลักด้วย ซึ่งธนาคารเตรียมทบทวนเป้าหมายและแผนงานต่างๆ เพื่อสนับสนุนลูกค้าในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสังคมคาร์บอนต่ำ”นายเสถียร กล่าว

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,778 วันที่ 28 - 30 เมษายน พ.ศ. 2565