บาทอ่อนค่าสุดรอบ 5 ปี กดดันฟันด์โฟลว์ชะลอ เปิดโผหุ้นได้ประโยชน์

26 เม.ย. 2565 | 05:28 น.

บล.เอเซียพลัส ประเมิน"บาทอ่อนค่า"สุดรอบเกือบ 5 ปี ล่าสุดยืนเหนือ 34 บาท/ดอลลาร์ กดดันเม็ดเงินฟันด์โฟลว์ที่ผลักดันตลาดหุ้นมีโอกาสชะลอลง เปิดโผหุ้นได้ประโยชน์จากบาทอ่อน แนะ VNG, SAPPE, KCE, CPF ,TU ด้านบล.โกลเบล็ก คัด 6 หุ้น TU, CFRESH ,ASIAN, DELTA, KCE และ SMT

ฝ่ายวิจัย บริษัทหลักทรัพย์(บล.)เอเซียพลัส (ASPS) ระบุว่า วานนี้ ( 25 เม.ย.65) ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่อง โดย Dollar Index เพิ่มขึ้น 0.62% อยู่ที่ 101.7 จุด ทำจุดสูงสุดในรอบ 2 ปี และกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง ล่าสุดยืนเหนือ 34 บาท/ดอลลาร์ ขึ้นทำระดับสูงสุดในรอบเกือบ 5 ปี และคาดว่า ยังมีโอกาสเห็นค่าเงินบาทอ่อนค่าต่อ จากการเข้าสู่ช่วงนโยบายการเงินตึงตัวเต็มรูปแบบ ในช่วงเดือนพฤษภาคม 65  ส่งผลให้หุ้นกลุ่มส่งออกที่ได้ประโยชน์จากบาทอ่อนเริ่มพลิกกลับมา Outperform ตลาดในวานนี้ และน่าจะ Outperform ได้ต่อเนื่อง

 

อย่างไรก็ตามเวลาที่ค่าเงินบาทอ่อนค่า นักลงทุนต่างชาติมีโอกาสขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน ส่งผลให้ฟันด์โฟลว์ที่ผลักดันตลาดหุ้นมีโอกาสชะลอลงและยังสอดคล้องกับข้อมูลในอดีต ค่าเงินบาทอ่อนมักแปรผกผันกับดัชนีหุ้นไทยบ้าง สะท้อนได้จากสถิติในอดีตย้อนหลัง 10 ปี คือ ปี 2554,2556 และปี 2557 ค่าเงินบาทอ่อน , SET Index ให้ผลตอบแทนติดลบทุกปี

 

บาทอ่อนค่าสุดรอบ 5 ปี กดดันฟันด์โฟลว์ชะลอ เปิดโผหุ้นได้ประโยชน์

 

ในทางกลับกันปีที่ค่าเงินบาทแข็งค่าSET Index มักให้ผลตอบแทนเป็นบวกเช่นกัน(ส่วน1- 2 ปีที่ผ่านมาแม้ค่าเงินบาทจะอ่อน แต่ดัชนี SETยังให้ผลตอบแทนเป็นบวก เนื่องจากเป็นช่วงฟื้นจาก Covid-19 และฟันด์โฟลว์ไหลเข้าตลาดหุ้นไทย)

เปิดโผหุ้นได้ประโยชน์จากบาทอ่อน

 

สรุปคือ ค่าเงินบาทอ่อนมีผลกระทบต่อการไหลเข้าของฟันด์โฟลว์และส่งผลให้แรงผลักดันตลาดหุ้นไทยลดน้อยลง ทำให้ตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นได้ยากขึ้น แต่ยังมีหุ้นที่ได้ประโยชน์จากบาทอ่อน โดย 5 หุ้นที่แนะนำ ได้แก่

 

  • บมจ.วนชัย กรุ๊ป  (VNG) 
  • บมจ.เซ็ปเป้ (SAPPE)
  • บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE)
  • บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF)  
  • บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU) 

 

บาทอ่อนค่าสุดรอบ 5 ปี กดดันฟันด์โฟลว์ชะลอ เปิดโผหุ้นได้ประโยชน์

 

ขณะที่นางสาววิลาสินี บุญมาสูงทรง ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.โกลเบล็ก (GBS) ประเมินทิศทางตลาดหุ้นว่า มีโอกาสปรับตัวตามทิศทางตลาดต่างประเทศ ให้กรอบการเคลื่อนไหว 1,650-1,700 จุด โดยนักลงทุนวิตกว่าเศรษฐกิจสหรัฐจะได้รับผลกระทบจากการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย

 

โดย S&P โกลบอลเปิดเผยว่า PMI รวมภาคการผลิตและภาคบริการเบื้องต้นของสหรัฐ ปรับตัวลงสู่ระดับ 55.1 ในเดือนเม.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 3 เดือนจากระดับ 57.7 ในเดือนมี.ค. ขณะที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ยืดเยื้อเป็นปัจจัยกดดันต้นทุนพลังงาน

 

ปัจจัยที่ยังคงต้องจับตาต่อเนื่อง อาทิ การรายงานภาวะเศรษฐกิจไทยของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งที่ 3/2565 ในเดือน พ.ค. รวมทั้งสถานการณ์ต่างประเทศ เช่น ความเชื่อมั่นผู้บริโภคเดือนเม.ย. ดัชนีการผลิตเดือนเม.ย. จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ ตัวเลขจีดีพีQ1/65 (ประมาณการเบื้องต้น) ของสหรัฐ

บล.โกลเบล็ก  แนะนำกลยุทธ์ลงทุนในหุ้นที่ได้ประโยชน์จากค่าเงินบาทอ่อนตัว ได้แก่

 

  • บมจ.ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป (TU)  ,
  • บมจ.ซีเฟรชอินดัสตรี (CFRESH)
  • บมจ.เอเชี่ยนซี คอร์ปอเรชั่น (ASIAN)
  • บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (DELTA)
  • บมจ.เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) 
  • สตาร์ส ไมโครอิเล็กทรอนิกส์ (ประเทศไทย) (SMT)

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย ระบุจับตาแนวต้านสำคัญในช่วง 34.15-34.20 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งถ้าหากเงินบาทอ่อนค่าทะลุระดับ 34.20 บาทต่อดอลลาร์ไปได้  อาจเป็นจุดที่ทำให้เกิดภาวะ panic ในฝั่งผู้นำเข้าที่อาจเข้ามาเร่งซื้อเงินดอลลาร์ จากความกังวลว่าเงินบาทอาจอ่อนค่ารุนแรงได้อีก โดยโอกาสที่จะเห็นเงินบาทอ่อนค่าหนักได้นั้น มองว่า ต้องเห็นภาพฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติไหลออกรุนแรงทั้งฝั่งหุ้นและบอนด์ ซึ่งปัจจุบัน แรงขายสินทรัพย์ไทยยังอยู่ในระดับที่ไม่ได้รุนแรงนัก