เปิด 5 พืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้เกษตรกร 8.86 แสนล้านบาท

24 มี.ค. 2565 | 12:57 น.

ttb analytics คาด รายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจ ปี 2565 เติบโต 16.1% อยู่ที่ 8.86 แสนล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปี ห่วงต้นทุนปุ๋ยเคมีและน้ำมันเชื้อเพลิงที่อาจฉุดรั้ง ดึงรายได้สุทธิเกษตรกรลดลง

เศรษฐกิจไทยปี 2564 แม้ภาพรวมจะชะลอตัวลง จากผลกระทบของโควิด-19  แต่ภาคเกษตร จะพบว่า  มีการฟื้นตัวต่อเนื่อง โดย รายได้เกษตรกร จาก 5 พืชเศรษฐกิจ คือ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา อ้อย และ ข้าว รวมกันที่ 7.63 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้นกว่า 19.2% จากปี 2563 โดย รายได้เกษตรกร ที่ปรับตัวดีขึ้น เป็นผลเนื่องมาจากราคาสินค้าเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับปริมาณนํ้าฝนที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2563 ต่อเนื่องถึงปี 2564 จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกเพิ่มมากขึ้น

 

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดว่า ปี 2565 รายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจ คือ ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ยางพารา อ้อย และ ข้าว จะเพิ่มขึ้นเป็น 8.86 แสนล้านบาท ซึ่งเติบโตต่อเนื่องจากปีก่อนถึง 16.1% และสูงสุดในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา โดยได้รับอานิสงส์จาก

  1. ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นสาเหตุจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกของเกษตรกร
  2. ปริมาณน้ำเพียงพอต่อการเพาะปลูกพืช
  3. แนวโน้มราคาอาหารเพิ่มขึ้นตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ปรับตัวสูงขึ้นจากความต้องการของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้นจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวภายหลังจากการระบาดของโรคโควิด-19
  4. ความตึงเครียดของสงครามรัสเซียและยูเครน ทำให้ราคาพืชอาหารและพืชที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น

 

 

ส่งผลต่อมูลค่ารายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจหลักของไทย ในปี 2565 เป็นดังนี้

  • ข้าวเปลือก: คาดว่า รายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.93 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 12.6%  โดยปริมาณผลผลิตข้าวจะเพิ่มขึ้น 4.1% และราคาข้าวเปลือก (ความชื้น 15%) จะเพิ่มขึ้น 8.2% จากการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรัง และปริมาณน้ำจะเพียงพอทั้งในอ่างเก็บกักน้ำและน้ำฝนตามธรรมชาติที่คาดว่า จะเพิ่มขึ้น ส่วนราคาข้าวเปลือกคาดว่าจะดีขึ้น จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลก ทำให้การค้ากลับมาเป็นปกติ โดยข้าวไทยยังเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

เปิด 5 พืชเศรษฐกิจ สร้างรายได้เกษตรกร 8.86 แสนล้านบาท

  • ยางพารา: คาดว่า รายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็น 2.89 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 12.3% โดยปริมาณผลผลิตคาดว่า จะทรงตัวจากปีก่อน แต่ราคายางพารา คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้น 12.0% จากอานิสงส์ของราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้น ทำให้ผู้ผลิตยางรถยนต์ปรับสัดส่วนการใช้ยางสังเคราะห์มาเป็นยางธรรมชาติมากขึ้น รวมถึงความต้องการยางพาราที่เพิ่มขึ้น ทั้งจากตลาดในประเทศและตลาดส่งออกหลัก (จีนและมาเลเซีย) ที่ต้องการนำไปผลิตเป็นสินค้าขั้นปลาย ได้แก่ ยางรถยนต์ และถุงมือยางทางการแพทย์ มากขึ้น

 

  • ปาล์มน้ำมัน: คาดว่า รายได้เกษตรกร จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.28 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 13.6% โดยปริมาณผลผลิตและราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.6% และ 9.7% ตามลำดับ ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาจากราคาปาล์มน้ำมันปรับสูงขึ้นจูงใจให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกมากขึ้น ด้านราคาที่ปรับเพิ่มนั้นสาเหตุมาจากราคาน้ำมันดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น และอินโดนีเซียผู้ผลิตปาล์มรายใหญ่ของโลกจำกัดการส่งออกน้ำมันปาล์มเพื่อคุมราคาน้ำมันปาล์มที่ใช้ประกอบอาหารในประเทศไม่ให้สูงเกินไป

 

  • อ้อย: คาดว่า รายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็น 0.97 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 47.9% โดยปริมาณผลผลิตและราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 28.1% และ 15.5% ตามลำดับ ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาสภาวะอากาศที่กลับสู่ปกติรวมถึงราคาอ้อยที่ปรับสูงขึ้น เนื่องจาก 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้แก่ สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย และสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล ร่วมกันประกันราคาอ้อยฤดูกาลผลิตปี 2565/66 ขั้นต่ำไว้ที่ 1,000 บาทต่อตัน จูงใจให้เกษตรกรเพาะปลูกมากขึ้น

 

  • มันสำปะหลัง: คาดว่า รายได้เกษตรกรจะเพิ่มขึ้นเป็น 0.79 แสนล้านบาท หรือขยายตัว 17.1% โดยปริมาณผลผลิตและราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.6% และ 16.4% ตามลำดับ แม้ว่า เนื้อที่เก็บเกี่ยวจะลดลงจากอุทกภัยช่วงปลายปีก่อน  แต่คาดว่า ผลผลิตต่อไร่ในปี 2565 จะดีขึ้นจากปริมาณน้ำฝนที่เพียงพอช่วยชดเชย ทำให้ผลผลิตใกล้เคียงกับปี 2564 ด้านราคามันสำปะหลังจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากความต้องการที่จะนำไปแปรรูปเป็นมันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง และเอทานอลเพิ่มขึ้น ประกอบกับราคาน้ำมันดิบที่เพิ่มขึ้นทำให้ราคามันสำปะหลังปรับตัวสูงขึ้น

 

อย่างไรก็ตาม ttb analytics เป็นห่วงว่า ต้นทุนปุ๋ยเคมีและต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่พุ่งกว่าเท่าตัว ฉุดรายได้สุทธิเกษตรกรให้ลดลง โดยคาดว่าปี 2565 ราคาปุ๋ยเคมีขายปลีกท้องถิ่น (สูตร 46-0-0) จะปรับเพิ่มขึ้นเป็น 26,000 บาทต่อตันจากปี 2564 ที่ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 13,541 บาทต่อตัน สาเหตุเนื่องจาก

  1. ความต้องการปุ๋ยเคมีโลกที่เพิ่มขึ้นจากการที่ประเทศต่าง ๆ มุ่งเน้นด้านความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งการสนับสนุนจากรัฐบาลต่อภาคการเกษตร
  2. อุปทานการผลิตปุ๋ยเคมีหยุดชะงักจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
  3. ราคาวัตถุดิบแม่ปุ๋ยปรับเพิ่มขึ้นตามราคาพลังงานที่สูงขึ้น
  4. จีนและรัสเซียผู้ผลิตปุ๋ยรายใหญ่ของโลกลดปริมาณการส่งออกปุ๋ยเคมี

 

นอกจากนี้ ต้นทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ทางการเกษตร อาทิ การขนส่งสินค้าเกษตร การสูบน้ำ ฯลฯ นับเป็นอีกต้นทุนหนึ่งที่จะส่งผลกระทบต่อรายได้สุทธิของเกษตรกรให้ลดลงได้ ดังนั้น เกษตรกรลดต้นทุนการผลิตและภาครัฐช่วยเหลือด้านต้นทุน เพื่อให้รายได้สุทธิเป็นบวก

 

อย่างไรก็ตาม แม้รายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจของไทย ในปี 2565 จะดีขึ้นจากทิศทางราคาและปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่ต้นทุนการผลิต อาทิ ปุ๋ยเคมี น้ำมันเชื้อเพลิง และค่าแรง ฯลฯ มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้นเช่นกัน ซึ่งต้นทุนที่ปรับเพิ่มย่อมส่งผลทำให้รายได้สุทธิของเกษตรกรลดลง จึงเสนอแนะแนวทางการลดต้นทุน

 

  • แนวทางการลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกร ได้แก่
  1. ปรับสัดส่วนเปลี่ยนจากปุ๋ยเคมีมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการเพาะปลูกมากขึ้น
  2. จัดทำบัญชีรายการต้นทุนการเพาะปลูกโดยละเอียด อาทิ ค่าปุ๋ยเคมี ค่าเมล็ดพันธุ์  ค่าแรงงาน ค่าสูบน้ำ ค่าหว่าน ค่าไถพรวนดิน ฯลฯ เพื่อให้ทราบต้นทุนการเพาะปลูกทั้งหมดและนำไปประกอบการพิจารณาลดต้นทุนการเพาะปลูกแยกตามลำดับความสำคัญ ตามความสามารถที่เกษตรกรจะสามารถปรับลดเองได้

 

  • แนวทางการช่วยเหลือด้านต้นทุนการผลิตของภาครัฐ ได้แก่
  1. ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งเป็นการผสมแม่ปุ๋ยให้ตรงกับสภาพดินและความต้องการของพืช ช่วยลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีได้
  2. ส่งเสริมและให้ความรู้เกษตรกรเกี่ยวกับวิธีการใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์แบบผสมผสาน ซึ่งจะช่วยลดค่าปุ๋ยเคมีลงได้
  3. ในกรณีที่ต้นทุนปัจจัยการผลิตเพิ่มสูงขึ้นมากเกินไป ภาครัฐควรพิจารณาใช้งบประมาณช่วยเหลือปัจจัยการผลิตตามความเหมาะสม ฯลฯ

 

การลดต้นทุนของเกษตรกรด้วยตัวเองและได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการเพิ่มผลผลิตต่อไร่ให้สูงขึ้น จะเป็นกุญแจสำคัญที่จะสนับสนุนให้ภาคเกษตรไทยมีศักยภาพในการสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น ซึ่งจะสามารถรับมือกับความผันผวนของราคาสินค้าเกษตรได้ นับเป็นแรงผลักดันให้เศรษฐกิจระดับภูมิภาคหรือเศรษฐกิจฐานรากเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป