“อาคม” ย้ำเหตุต้องคุม “สินทรัพย์ดิจิทัล” ห่วงนักลงทุน พบ 2 ปีโตแบบก้าวกระโดด

24 มี.ค. 2565 | 04:27 น.

“อาคม” เผย จำเป็นต้องกำกับ “สินทรัพย์ดิจิทัล” หลังโตก้าวกระโดดในช่วง 2 ปี ชี้เพื่อคุ้มครองนักลงทุนและประโยชน์ของประเทศ ขณะที่ล่าสุด ก.ล.ต. อยู่ระหว่างแก้กฎหมายตลาดหลักทรัพย์ให้ครอบคลุมกำกับสินทรัพย์ดิจิทัล ย้ำภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ พร้อมรับฟังความคิดเห็นทุกส่วน

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า ขณะนี้ ก.ล.ต. อยู่ระหว่างยกร่างแก้กฎหมายตลาดหลักทรัพย์ เพื่อให้ครอบคลุมการกำกับดูแลสินทรัพย์ดิจิทัลให้มากขึ้น

 

ซึ่งนโยบายในการกำกับดูแล คือ เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจ และให้เกิดการคุ้มครองผู้ลงทุนเป็นหลัก ขณะเดียวกันในฝั่งการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้เข้ามากำกับดูแลด้วยเช่นกัน  

“ความเสี่ยงของผู้ลงทุน หรือผู้ซื้อ เป็นสิ่งสำคัญ ต้องฝากว่า ไม่ว่าใครก็ตามที่อยู่ในระบบของโทเคน หรือ คริปโต การให้ข้อมูลกับลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญอันดับที่ 1 และอันดับที่ 2 คือ ความมั่นคงในระบบ ความเสถียรของระบบที่จะรอบรับการซื้อขายจำนวนมาก และฐานะการเงินต้องมั่นคง  

 

ส่วนในอนาคตภาครัฐจะเข้ามามีบทบาทในเรื่องของสินทรัพย์ดิจิทัลหรือไม่ ยังตอบไม่ได้ แต่วันนี้ยังจำกัดไว้ที่ภาคเอกชน แต่เราต้องเดินไปด้วยกัน รัฐบาลพร้อมรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อนำมาแก้ไขปรับปรุงข้อจำกัด” นายอาคม กล่าว

 

อาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

โดยอาคม ยอมรับว่าในช่วงที่ 2 ปีที่ผ่านมา สินทรัพย์ดิจิทัลมีการพัฒนาอย่างรวดเร็ว ซึ่งในช่วงปี 2563 -2564 พบว่า มีธุรกิจที่ได้รับใบอนุญาตเพิ่มขึ้น จาก 9 ราย เป็น 14 ราย มีมูลค่าการซื้อขายคริปโตฯ เพิ่มขึ้นจาก 240 ล้านบาทต่อวัน เป็น 4,839 ล้านบาทต่อวัน

 

ขณะที่สินทรัพย์ของลูกค้าเพิ่มขึ้น จาก 9,600 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเป็น 114,000 ล้านบาท และที่สำคัญยังพบว่ามีจำนวนบัญชีผู้ใช้บริการในศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Exchange เพิ่มขึ้นจาก 1.7 แสนบัญชี เป็น 2 ล้านบัญชีภายใน 2 ปี ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด

 

สำหรับสินทรัพย์ดิจิทัล แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ 1.คริปโตเคอเรนซี่ ซึ่งมีการซื้อขายผ่าน ศูนย์ซื้อขายสินทรัพย์ดิจิทัล หรือ Exchange 2. Investment Token หรือ โทเคนเพื่อการลงทุน ซึ่งขณะนี้มีหลายธุรกิจที่เข้ามาทำการระดมทุน ผ่านเทคโนโลยีบล็อกเซน

 

หรือ ระดมทุนระหว่างภาคธุรกิจและประชาชนโดยตรงโดยไม่ผ่านคนกลาง ซึ่งเป็นทางเลือกในการระดมทุนรูปแบบใหม่ ที่ลดข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อของสถาบันการเงิน และ 3. token utility ซึ่งยังถือเป็นเรื่องใหม่ และต้องใช้เวลาอีกระยะในการเข้าไปกำกับดูแล

 

นายอาคม กล่าวอีกว่า ภาครัฐไม่ได้นิ่งนอนใจ และเข้าใจการเติบโตของสินทรัพย์ดิจิทัล แต่การเติบโตก็ต้องเป็นอย่างระมัดระวัง ซึ่งล่าสุดภาครัฐ โดยกระทรวงการคลัง ได้ทำการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่มสำหรับการโอนสกุลเงินดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย

 

หรือ CBDC การซื้อขายผ่าน Exchange การอนุญาตให้หักผลขาดทุนจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลใน Exchange ออกจากกำไรจากการขายสินทรัพย์ดิจิทัลใน Exchange ได้ ในการยื่นภาษีได้

 

และ ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับผู้ลงทุนทั้งไทยและต่างประเทศ หรือ Venture Capital ในการลงทุนใน Startup ไทยที่ประกอบกิจการในอุตสาหกรรมเป้าหมาย