ทิศทางนวัตกรรมการเงินดิจิทัล กับ 3 เรื่องที่ต้องรู้

03 ก.พ. 2565 | 04:30 น.

จับตาโอกาสที่มากับกระแสดิจิทัล ธนาคารแห่งประเทศไทย เปิด 3 ทิศทางใช้เทคโนโลยี ข้อมูล และดิจิทัล พัฒนานวัตกรรมการเงินดิจิทัล และบริการทางการเงินรองรับอนาคต

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้มีการจัดทำทิศทางสำคัญ และแนวนโยบายการปรับภูมิทัศน์ภาคการเงินไทย พร้อมพิจารณาปัจจัยต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบในระยะต่อไป ทั้ง โลกดิจิทัลไรพรมแดน กระแสความยั่งยืน และปัญหาความเหลื่อมล้ำ

 

โดยกำหนดทิศทางในการสนับสนุนให้ภาคการเงินไทยสามารถปรับตัว และรับมือกับการเปลี่ยนแปลง สามารถสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างทันการณ์และราบรื่น 

อย่างไรก็ดีสิ่งสำคัญสำหรับการรับมือกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจดิจิทัล นั่นคือ การสร้างนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีและข้อมูล


ที่ผ่านมา ธปท. เห็นโอกาสที่มากับกระแสดิจิทัล จึงได้กำหนดทิศทางที่จะเปิดโอกาสให้ภาคการเงินสามารถใช้เทคโนโลยี ข้อมูล และช่องทางดิจิทัล เพื่อพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงิน โดยเฉพาะการเงินดิจิทัล ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้บริการและเพื่อช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงบริการทางการเงิน โดยมี 3 เรื่องสำคัญ ดังนี้

1.Open Competition 

 

เปิดกว้างในการแข่งขันให้ผู้เล่นทั้งรายเดิมและรายใหม่เข้ามาให้บริการและพัฒนานวัตกรรมทางการเงิน โดยต้องการ เปิดโอกาสให้ผู้ให้บริการรายเดิมและรายใหม่สามารถพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าได้มากขึ้น มีประสิทธิภาพ และช่วยลดช่องว่างการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเหมาะสม ไม่ส่งเสริมการก่อหนี้เกินตัว โดยมีแนวนโยบายที่สำคัญ เช่น

 

  • เปิดให้จัดตั้งธนาคารพาณิชย์ที่ดำเนินธุรกิจบนช่องทางดิจิทัล (virtual bank) เพื่อให้ผู้ให้บริการแข่งขันกันพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินรูปแบบใหม่ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการ

 

  • ยกเลิกเพดานการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีทางการเงิน (FinTech) ที่ไม่รวมสินทรัพย์ดิจิทัลสำหรับบริษัทในกลุ่มธุรกิจทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้คล่องตัวในการลงทุนในกิจการที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนานวัตกรรมและ ธปท. เห็นว่าสามารถบริหารจัดการความเสี่ยงได้

 

  • ขยายให้ non-bank FIs ทำธุรกิจได้หลากหลายขึ้นและเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้วยต้นทุนที่เหมาะสม เพื่อให้แข่งขันได้เต็มที่ ภายใต้การกำกับดูแลตามระดับความเสี่ยงและเท่าเทียมกับผู้เล่นอื่น

 

2.Open Infrastructure 

 

เปิดกว้างให้ผู้ให้บริการกลุ่มต่าง ๆ เข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินด้วยต้นทุนที่เหมาะสมและเป็นธรรม และผลักดันให้มีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่สำคัญของประเทศและนำมาใช้ประโยชน์อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อส่งเสริมการแข่งขัน การพัฒนานวัตกรรม และการให้บริการทางการเงินที่ตอบโจทย์ผู้ใช้บริการได้ดีขึ้น รวมทั้งสนับสนุนแนวนโยบายเพื่อเร่งให้ไทยเข้าสู่สังคมที่ใช้เงินสดและเช็คลดลง (less-cash society) และเปลี่ยนผ่านเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล โดยมีแนวนโยบายที่สำคัญ เช่น

 

  • ยกระดับธรรมาภิบาลของโครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินให้เปิดกว้างต่อการใช้ประโยชน์และพัฒนานวัตกรรม โดยให้ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชนมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบาย

 

  • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำคัญเพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการทางการเงินด้วยต้นทุนที่สะท้อนความเสี่ยงตามจริงมากขึ้น เช่น กลไกค้ำประกันเครดิตสำหรับความต้องการเงินทุนที่หลากหลาย โครงสร้างพื้นฐานรองรับธุรกรรมการค้าและการชำระเงินสำหรับภาคธุรกิจ (Smart Financial and Payment Infrastructure for Business)

 

  • เร่งลดการใช้เงินสดอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งลดการใช้เช็คกระดาษให้เหลือไม่ถึงครึ่งของปริมาณการใช้ในปัจจุบันภายใน 5 ปี เพื่อสนับสนุนการเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัล

 

3.Open Data

 

เปิดกว้างให้มีการใช้ประโยชน์จากข้อมูลผ่านการผลักดันกลไกเชื่อมต่อและแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างผู้ให้บริการ เพื่อให้ผู้ใช้บริการใช้ประโยชน์จากข้อมูลของตนที่มีอยู่กับผู้ให้บริการในการเลือกใช้หรือย้ายผู้ให้บริการได้โดยสะดวกด้วยต้นทุนที่เหมาะสม รวมทั้งให้เกิดการเชื่อมต่อฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ปัจจุบันเก็บอยู่อย่างกระจัดกระจายที่หลายหน่วยงาน เพื่อให้ผู้ให้บริการสามารถนำข้อมูลจากหลากหลายแหล่งไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนานวัตกรรมและบริการทางการเงินได้เต็มศักยภาพมากขึ้นภายใต้หลักธรรมาภิบาลข้อมูล 

 

รวมทั้งการรักษาความปลอดภัยของข้อมูลที่เหมาะสม อาทิ วิเคราะห์สินเชื่อโดยอิงกับข้อมูลพฤติกรรมและศักยภาพของผู้กู้เป็นสำคัญ กำหนดอัตราดอกเบี้ยเงินให้สินเชื่อที่เหมาะสมกับความเสี่ยงของผู้กู้ (risk-based pricing) ซึ่งจะมีส่วนช่วยให้ประชาชนและเอสเอ็มอี ที่มีประวัติทางการเงินไม่มากพอสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้อย่างเหมาะสมมากขึ้น

 

ที่มา : ธนาคารแห่งประเทศไทย