เปิดเกณฑ์ธปท.ไฟเขียว ตั้ง JV AMC บริหารหนี้เสีย

28 ม.ค. 2565 | 11:27 น.

ธปท.คลอดเกณฑ์จูงใจแบงก์เคลียร์หนี้เสีย เปิดทางจับมือเอเอ็มซี ตั้งกิจการร่วมทุนภายในปี 67 เพื่อรับซื้อหนี้เสียออกจากแบงก์พันธมิตร ให้เบาตัวหมดห่วงหนี้เสีย เดินหน้าปล่อยกู้ต่อ วงในระบุทุนจดทะเบียนควรไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)มีมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดนางสาวสุววรณี เจษฏาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท.เปิดเผยว่า ธปท.ได้ออกมาตรการส่งเสริมการจัดตั้งกิจการร่วมทุนเพื่อแก้ไขปัญหาสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ(NPL) มีผลบังคับวันที่ 27 มกราคม 2565 โดยเปิดทางให้ธนาคารพาณิชย์และบริษัทบริหารสินทรัพย์(AMC) ตั้งกิจการร่วมทุน (JV AMC) ให้แล้วเสร็จภายใน 31 ธ.ค. 67 เพื่อให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ด้อยคุณภาพ และต้องปิดกิจการภายใน 15 ปี ยกเว้นธปท.จะอนุญาตให้อยู่ต่อได้เป็นรายกรณี

นางสาวสุววรณี เจษฏาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธปท.

 

แหล่งข่าวจากธนาคารพาณิชย์เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ธปท.เปิดให้ธนาคารและเอเอ็มซีที่ได้รับใบอนุญาตแล้วสามารถร่วมทุน จัดตั้ง JV AMC ได้ เบื้องต้นกำหนดทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่ต่ำกว่า 25 ล้านบาท ตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) บริษัทบริหารสินทรัพย์ พ.ศ 2541 โดยต้องถือหุ้นในสัดส่วนเท่ากัน เพื่อไม่ให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดมีสิทธิการควบคุมเหนือซึ่งกันและกัน 

ขณะเดียวกันธปท.จะผ่อนปรนเรื่องกติกาและระเบียบให้ธนาคารถือหุ้นในบริษัทร่วมทุนได้เกิน 10% ส่วน NPL ที่ขายออกไปให้ JV AMC แล้วจะไม่นำกลับมานับรวมในงบดุลของธนาคารอีก ซึ่งจะลดภาระตั้งสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญให้กับธนาคาร และสามารถปล่อยกู้ได้เกิน 25% ของสินทรัพย์ของบริษัทร่วมทุนหรือ JV AMC 

เปิดเกณฑ์ธปท.ไฟเขียว ตั้ง JV AMC บริหารหนี้เสีย

 

“JV AMC ที่จัดตั้งขึ้นโดยแบงก์ A จะรับซื้อหนี้ NPL ออกจากแบงก์ A เท่านั้น ไม่สามารถไปรับซื้อหนี้จากธนาคารอื่นๆ ได้ ซึ่งธปท.ผ่อนเกณฑ์ เพื่อจูงใจแบงก์ให้เคลียร์หนี้ที่มีปัญหา โดยเฉพาะไม่ต้อง Consolidate NPL ที่ขายออกจากแบงก์ไปแล้ว ซึ่งจะไม่กระทบงบการเงินของแบงก์ ทำให้แบงก์ตัวเบาไม่ต้องกังวลเรื่องหนี้เสีย แล้วหันไปโฟกัสการทำธุรกิจและปล่อยสินเชื่อ” แหล่งข่าวกล่าว 
 

ทั้งนี้เมื่อจัดตั้ง JV AMC แล้วมีหน้าที่ รับซื้อหนี้และบริหารจัดการหนี้้ โดยจะเป็นการรับซื้อหนี้เสียออกจากธนาคารพันธมิตรเท่านั้น ไม่สามารถจะไปรับซื้อหนี้จากสถาบันการเงินอื่นๆ ในรูปบริษัทร่วมทุนจึงไม่ทำให้รูปแบบการทำธุรกิจเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด แต่จะเป็นประโยชน์ในแง่หนี้เสียที่ขายออกไปในราคาตลาดไม่ต่ำหรือสูงเกินไป โดยธนาคารพันธมิตรสามารถดำเนินธุรกิจธนาคารคือ ปล่อยสินเชื่อโดยไม่ต้องกังวลกับปัญหาหนี้เสียอีกต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม ในเชิงความสามารถในการบริหารจัดการของ JV AMC ขณะนี้ยังไม่สามารถ ตอบได้ว่า จะทำได้ดีกว่า เพราะหลายธนาคารมีเอเอ็มซีบริหารจัดการหนี้อยู่แล้ว ซึ่งเบื้องต้นของการก่อตั้ง JV AMC จึงน่าจะเป็นลักษณะของการทดลองก่อน โดย JV AMC จะมีอายุ 15 ปี ซึ่งธปท.ให้กรอบเวลาในการบริหารจัดการหนี้เสียไว้อย่างเหลือเฟือ

 

สอดคล้องกับแหล่งข่าวอีกรายให้ข้อมูลว่า JV AMC ส่วนใหญ่จะเน้นซื้อหนี้ไม่มีหลักประกันหรือคลีนโลน ซึ่งใช้เงินทุนไม่มากและบริษัทร่วมทุนที่ไม่หลักประกันยังติดเกณฑ์ตั้งสำรองอีก เพราะหากมีเงินทุนไม่เพียงพอสำหรับการรับซื้อหนี้เสีย จะต้องหาแหล่งเงินกู้ ซึ่งต้นทุนแพงและอาจเป็นภาระกับผู้ถือหุ้น

 

ดังนั้นในทางปฎิบัติ JV AMC ต้องมีทุนจดทะเบียนที่เหมาะสมกับรูปแบบธุรกิจ โดยผู้ถือหุ้นอาจตกลงกันเองในการเพิ่มทุนจดทะเบียนตั้งแต่หลัก 100-400 ล้านบาท เพื่อคล่องตัวในการซื้อหนี้เสียมาบริหารจัดการ ส่วนทุนจดทะเบียนที่ธปท.กำหนดไว้ค่อนข้างต่ำ เพราะต้องการให้มีความสะดวกในการจัดตั้งบริหารสินทรัพย์รายย่อยๆ ไม่เน้นทุนจดทะเบียนสูง สามารถซื้อหนี้เสียมาบริหารจัดการในปริมาณไม่มาก

 

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคาร กรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB กล่าวว่า ธนาคารอยู่ระหว่างศึกษาการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อบริหารหนี้ด้อยคุณภาพ โดยมีพันธมิตรในธุรกิจรับบริหารหนี้มาเจรจากับธนาคารแล้ว 3-4 ราย มีทั้งที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ (บจ.)และนอกตลาดหลักทรัพย์ ซึ่งหากได้ข้อสรุปแล้วจะเสนอคณะกรรมการธนาคาร (บอร์ด) พิจารณาเห็นชอบคาดว่า จะเห็นความชัดเจนและจัดตั้งอย่างเป็นทางการได้ภายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

 

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโยกรุ๊ปกล่าวว่า ทุนจดทะเบียนในการจัดตั้ง JV AMC ที่เหมาะสมควรประมาณ 50 ล้านบาท แต่ถ้าจะให้เหมาะกับการบริหารจัดการหนี้ให้ได้ผลอย่างจริงจัง น่าจะใช้ทุนประมาณ 1 พันล้านบาท โดยอาจจะใช้เงินกู้เพิ่มเติมเข้ามาอีก 2-3 พันล้านบาท หากซื้อทรัพย์ในราคาลด 50% ก็จะได้พอร์ตเอ็นพีแอล 8,000 ล้านบาท 

นายสุขสันต์ ยศะสินธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ชโยกรุ๊ป

 

“JV AMC เป็นโอกาสให้แบงก์บริหารจัดการหนี้ โดยตัดขายหนี้เสียออกจากพอร์ตสินเชื่อ ลดภาษีต่างๆ และลดภาระกันสำรองจากหนี้เสีย ซึ่งทำให้แบงก์สามารถนำเงินไปปล่อยกู้ได้ ส่วนแนวโน้มเอ็นพีแอลในปีนี้ยังทยอยเพิ่มขึ้นรวม 6 แสนล้านบาท โดยธนาคารน่าจะนำออกขายไม่มาก หากมี JV AMC เกิดขึ้นจริงก็จะมีการรับซื้อหนี้ออกจากธนาคารที่เป็นพันธมิตรผู้ถือหุ้นราว 2 แสนล้านบาท”นายสุขสันต์ กล่าว 

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,753 วันที่ 30 มกราคม - 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2565