อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 32.95 บาท/ดอลลาร์

21 ม.ค. 2565 | 00:35 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท แนวต้านสำคัญจะอยู่ในโซน 33.10-33.30 บาทต่อดอลลาร์ คาดผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ที่ระดับดังกล่าว ส่วนแนวรับสำคัญช่วง 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ อาจมีแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าช่วยพยุงเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปมากได้

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.95 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  32.92 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มผันผวนและแกว่งตัว Sideways ระหว่างโซน 32.85-33.05 บาทต่อดอลลาร์ เพราะแม้ว่าเงินบาทจะได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากแนวโน้มการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดของโอมิครอนและการทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติแบบ Test and Go รวมถึงเงินบาทอาจได้แรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำบ้าง แต่แรงกดดันด้านอ่อนค่าก็ยังคงมีอยู่ ทั้งภาวะปิดรับความเสี่ยงของตลาดการเงินโดยรวมที่ยังหนุนให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น และอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยเพิ่มเติมได้ หลังจากที่เริ่มเห็นสัญญาณนักลงทุนต่างชาติทยอยขายทำกำไรหุ้นไทยมาสักระยะนึงแล้ว

 

ทั้งนี้ เรามองว่า แนวต้านสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในโซน 33.10-33.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งคาดว่าผู้ส่งออกต่างรอทยอยขายเงินดอลลาร์ที่ระดับดังกล่าว ส่วนแนวรับสำคัญจะอยู่ในช่วง 32.80-32.90 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจมีแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าช่วยพยุงเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปมากได้  

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.05 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินโดยรวมยังคงผันผวนหนักและอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวจากหลายปัจจัยที่สร้างแรงกดดันต่อตลาด ทั้งความกังวลเฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากกว่าคาด รวมถึง ความเสี่ยงภูมิรัฐศาสต์จากปัญหาความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย กับยูเครนและชาติพันธมิตร NATO อาทิ สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศในยุโรป นอกจากนี้ รายงานผลประกอบการของบริษัทเทคฯ ใหญ่ของสหรัฐฯ อย่าง Netflix ที่ออกมาน่าผิดหวังก็เป็นอีกปัจจัยที่กดดันให้ตลาดพลิกกลับมาปิดรับความเสี่ยงในช่วงท้ายตลาด ส่งผลให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปิดตลาด -1.30% ส่วนดัชนี S&P500 ก็ปรับตัวลดลงกว่า -1.10% เช่นกัน

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป สามารถปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง +0.73% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มพลังงาน อาทิ Enel, Iberdrola นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Reopening อาทิ กลุ่มการเดินทางและท่องเที่ยว ตามความหวังการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ หากการระบาดโอมิครอนสงบลง

ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดการเงินยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงและอาจกดดันให้ตลาดการเงินฝั่งเอเชียในวันนี้ผันผวนตาม แต่ทว่า ตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงอาจสามารถปรับตัวขึ้นได้บ้าง หลังธนาคารกลางจีน (PBOC) เดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้น ทั้งการลดดอกเบี้ยนโยบายและอัดฉีดสภาพคล่อง เพื่อช่วยพยุงการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ซึ่งภาพดังกล่าวอาจทำให้ผู้เล่นในตลาดต่างมีความหวังว่าตลาดหุ้นจีนและฮ่องกงอาจทยอยปรับตัวขึ้นจากโซนแนวรับได้ หลังจากที่ทั้งสองตลาดแกว่งตัว sideways มาเป็นเวลานาน

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาดได้หนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงราว 8bps แตะระดับ 1.78% และหนุนให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี ทั่วโลกต่างปรับตัวลดลงเช่นกัน แต่จะเห็นได้ว่า แม้บอนด์ยีลด์ 10 ปี จะปรับตัวลดลง แต่ผู้เล่นในตลาดยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยง ซึ่งอาจมองได้ว่า ผู้เล่นในตลาดยังมีความกังวลแนวโน้มนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด รวมถึงเริ่มมีปัจจัยเสี่ยงใหม่เข้ามากระทบตลาด อย่าง ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนและพันธมิตร NATO อย่างไรก็ดี เรามองว่าประเด็นความขัดแย้ง ถ้าหากบานปลายเป็นการบุกยูเครนของรัสเซีย ก็อาจกดดันให้ตลาดปิดรับความเสี่ยง ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี อาจย่อตัวลงได้บ้าง แต่ทว่า สุดท้าย บอนด์ยีลด์ 10 ปี ก็จะสามารถรีบาวด์และปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ตามแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยและลดงบดุลของเฟดในที่สุด

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยเงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในช่วงตลาดผันผวน ทำให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 95.74 จุด ทั้งนี้ แม้ว่า การแข็งค่าของเงินดอลลาร์จะกดดันราคาทองคำ แต่ทว่า ผู้เล่นในตลาดการเงินยังคงไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงและเลือกที่จะยังคงถือทองคำเพื่อหลบความผันผวนในตลาด ส่งผลให้ราคาทองคำ ยังคงแกว่งตัวใกล้ระดับ 1,840 ดอลลาร์ต่อออนซ์ได้

 

สำหรับวันนี้ ในฝั่งไทยมีข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ คือ ยอดการส่งออกและนำเข้าในเดือนธันวาคม โดยเรามองว่าการส่งออกของไทยในเดือนธันวาคมอาจได้รับผลกระทบจากปัญหาการระบาดโอมิครอนทั่วโลกบ้าง แต่ทว่า ยอดการส่งออกจะสามารถขยายตัวกว่า +17%y/y ส่วนยอดการนำเข้าอาจโตได้ราว +20%y/y ทำให้ดุลการค้า (Trade Balance) อาจเกินดุลเล็กน้อย +550 ล้านดอลลาร์

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทเคลื่อนไหวอยู่ที่ระดับประมาณ 32.97-33.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ อ่อนค่าลงเล็กน้อยเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 32.89 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทและสกุลเงินในภูมิภาคปรับตัวอ่อนค่าลงเล็กน้อย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ทยอยฟื้นตัวกลับมาได้ตามแรงซื้อคืนของนักลงทุน เพื่อรอติดตามสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดจากการประชุม FOMC ในสัปดาห์หน้า 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 32.80-33.10 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19 ตัวเลขการส่งออกของไทย รายงานการประชุมของธนาคารกลางญี่ปุ่น และตัวเลขดัชนีชี้นำเศรษฐกิจเดือนธ.ค. ของสหรัฐฯ