อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “แข็งค่า” ที่ระดับ 33.30 บาท/ดอลลาร์

12 ม.ค. 2565 | 00:54 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทหาก “แข็งค่า”ใกล้ระดับ 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ อาจมีแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าช่วยพยุงเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปมากได้

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.30 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.41 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทยระบุว่า สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าขึ้น แต่จะไม่แข็งค่าไปมากนัก เพราะถึงแม้ว่า เงินบาทจะได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากการย่อตัวลงของเงินดอลลาร์

 

ท่ามกลางภาวะเปิดรับความเสี่ยง และโฟลว์ขายทำกำไรทองคำ แต่ แรงกดดันฝั่งอ่อนค่ายังคงเป็นปัญหาการระบาดของโอมิครอนในประเทศทำให้ การแข็งค่าขึ้นจนหลุดระดับ 33.00 บาทต่อดอลลาร์นั้น ต้องอาศัยฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติพอสมควร นอกจากนี้ หากเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 33.20-33.30 บาทต่อดอลลาร์ ก็อาจมีแรงซื้อเงินดอลลาร์จากฝั่งผู้นำเข้าช่วยพยุงเงินบาทไม่ให้แข็งค่าไปมากได้ 

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.20-33.40 บาท/ดอลลาร์

ตลาดการเงินพลิกกลับมาเปิดรับความเสี่ยง หลังถ้อยแถลงของประธานเฟดต่อคณะกรรมาธิการการธนาคารประจำวุฒิสภา (Senate Banking Committee) ไม่ได้ผิดไปจากที่ตลาดคาดการณ์และรับรู้ไปแล้วเท่าไหร่นัก โดยประธานเฟดได้ระบุว่า เฟดพร้อมขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าคาดเพื่อสกัดปัญหาเงินเฟ้อ

 

รวมถึงเฟดจะสามารถลดงบดุลได้ในอัตราที่เร็วขึ้นจากที่เคยทำในอดีต เนื่องจากเศรษฐกิจสหรัฐฯ มีความแข็งแกร่งมากขึ้น ซึ่งภาพดังกล่าวได้สอดคล้องกับมุมมองของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดท่านอื่นๆ และผู้เล่นในตลาดส่วนใหญ่ก็ได้รับรู้แนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟดไปพอสมควรแล้ว

 

ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาดได้หนุนให้ หุ้นสหรัฐฯ สามารถรีบาวด์ขึ้นมาได้แรง โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มเทคฯ และ หุ้นสไตล์ Growth ที่ถูกเทขายหนักในช่วงหลายวันที่ผ่านมา หนุนให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวขึ้น +1.41% ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด +0.92% โดยการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นเทคฯ และหุ้นสไตล์ Growth

 

สะท้อนว่า มีผู้เล่นบางส่วนต่างรอเข้าซื้อตอนราคาย่อตัวลง (Buy on Dip) จากความคาดหวังว่า การเติบโตของผลกำไรของหุ้นกลุ่มดังกล่าวยังคงดีอยู่ และปัญหาด้านเงินเฟ้อที่จะทำให้เฟดต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ยนั้นก็อาจจะคลี่คลายลงในไม่ช้า

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป รีบาวด์ขึ้นมาเกือบ +1.0%  นำโดยการรีบาวด์ขึ้นของหุ้นกลุ่มเทคฯ อาทิ Infineon Tech. +2.5%,  Adyen +2.3% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรปยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่ม Cyclical

 

ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มประเมินว่า ปัญหาการระบาดของโอมิครอนในยุโรปอาจใกล้ถึงจุดเลวร้ายสุดและเศรษฐกิจจะกลับมาฟื้นตัวได้ดีขึ้น ทั้งนี้ เราคงมองว่า การปรับฐานของหุ้นยุโรปในช่วงที่ผ่านมา คือ โอกาสในการเข้าสะสม หรือ Buy on Dip

 

เนื่องจากหุ้นยุโรปยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Cyclical หรือ หุ้นในธีม Reopening เนื่องจากภาพเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มกลับมาฟื้นตัวได้ดี หากสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนเริ่มสงบลง อีกทั้ง นโยบายการเงินของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ก็ยังมีความผ่อนคลายมากกว่าเฟด

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ถ้อยแถลงของประธานเฟดที่ไม่ได้สร้างความประหลาดใจให้กับตลาด รวมถึงผลการประมูลบอนด์สหรัฐฯ ที่ยังมีความต้องการจากนักลงทุนที่ดีอยู่นั้น ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลงสู่ระดับ 1.74% ซึ่งการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ อาจหนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี ทั่วโลก ต่างย่อตัวลง หรือ ทรงตัวในระดับเดิมต่อ จนกว่าจะมีปัจจัยใหม่เข้ามาหนุนการปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์อีกครั้ง

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุด ดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวลงมาใกล้ระดับ 95.62 จุด กดดันโดยภาวะตลาดเปิดรับความเสี่ยงและถ้อยแถลงของประธานเฟดที่สอดคล้องกับมุมมองของผู้เล่นในตลาด

 

นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินดอลลาร์และการย่อตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ ราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นมาแตะระดับ 1,821 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคาดว่า การปรับตัวขึ้นของราคาทองคำอาจหนุนให้ผู้เล่นบางส่วนเข้ามาทยอยขายทำกำไรได้ ซึ่งโฟลว์ขายทำกำไรทองคำดังกล่าวจะสามารถช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะให้ความสนใจรายงานข้อมูลเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) ในเดือนธันวาคม หลังจากที่ข้อมูลตลาดแรงงานสหรัฐฯ ล่าสุดได้สะท้อนว่าตลาดแรงงานสหรัฐฯ อาจใกล้ถึงระดับที่เฟดพึงพอใจ โดยหากเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้นแตะระดับ 7.0% จะยิ่งเพิ่มโอกาสที่เฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็วกว่าคาด

 

อาทิ ขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมและพร้อมลดงบดุลในปีนี้ ซึ่งเรามองว่า หากเฟดจะตัดสินใจขึ้นดอกเบี้ยในเดือนมีนาคมได้จริง เฟดจะต้องมีการสื่อสารล่วงหน้า ดังนั้น ควรจับตาถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดในสัปดาห์นี้ โดยเฉพาะ John Williams ที่มีท่าทีเป็นกลางต่อแนวโน้มการปรับนโยบายการเงินเฟด

 

และที่สำคัญตลาดจะจับตาการแถลงต่อคณะกรรมาธิการ Senate Banking ในกระบวนการสรรหาประธานและรองประธานเฟด (Confirmation Hearing) ของว่าที่รองประธานเฟด Lael Brainard ว่าจะมีมุมมองต่อภาวะตลาดแรงงานและเงินเฟ้ออย่างไร รวมถึงมุมมองต่อการปรับเปลี่ยนนโยบายการเงินเฟดในอนาคตเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจ

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทแข็งค่ามาอยู่ในกรอบประมาณ 33.30-33.34 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวันทำการก่อนหน้าที่ 33.42 บาทต่อดอลลาร์ฯ เงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นสอดคล้องกับทิศทางสกุลเงินอื่นๆ ในภูมิภาค ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ขาดแรงหนุนเพิ่มเติม เพราะแม้ถ้อยแถลงของนายเจอโรม พาวเวล ประธานเฟด จะสะท้อนทิศทางคุมเข้มนโยบายการเงินของสหรัฐฯ เพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่ก็เป็นสัญญาณตามที่ตลาดรับรู้ไปมากแล้ว

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่  33.20-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19 ดัชนีราคาผู้บริโภคเดือนธ.ค. ของสหรัฐฯ ตลอดจนดัชนีราคาผู้บริโภค ดัชนีราคาผู้ผลิต และยอดปล่อยกู้ใหม่สกุลเงินหยวน