‘ธ.ทิสโก้’ เปิด 3 ธีมลงทุนมาแรง สร้างกำไรเพิ่มรับปีขาล

06 ม.ค. 2565 | 05:01 น.

ธนาคารทิสโก้  แนะซื้อ 3 ธีมลงทุนเพิ่มโอกาสสร้างกำไรงามรับปีขาล ชี้กลุ่มเมกะเทรนด์อย่าง ‘เมตาเวิร์ส’ และ ‘นวัตกรรมการแพทย์’ มาแรง เหมาะลงทุนระยะยาว และจับจังหวะเข้าซื้อกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วแบบยุโรป และญี่ปุ่น เพื่อกำไรระยะสั้น   

 

6 ม.ค. 65  นายณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์ ผู้อำนวยการอาวุโสที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้ จำกัด (มหาชน)  เปิดเผยว่า ในปี 2565 เศรษฐกิจจะเข้าสู่ช่วงกลางของการเติบโต (Mid Cycle) โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่า เศรษฐกิจโลกปี 2565 จะเติบโตแบบชะลอตัวมาอยู่ที่ 4.9% จากปี 2564 ที่คาดว่าจะเติบโต 5.9%  โดยมีปัจจัยกดดัน 3 ประการ

 

ณัฐกฤติ เหล่าทวีทรัพย์  ผู้อำนวยการอาวุโสที่ปรึกษาการลงทุนทิสโก้เวลธ์ ธนาคารทิสโก้

1. การระบาดของ COVID-19 ที่ยังยืดเยื้อจากไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่มีความรุนแรงในการแพร่ระบาดมากกว่าเดิมที่อาจจะนำไปสู่การกลับมาใช้มาตรการ Lockdown และจะเป็นอุปสรรคต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่แต่ละประเทศเริ่มมีข้อจำกัดในการกระตุ้นเศรษฐกิจจากการใช้เม็ดเงินอัดฉีดไปในช่วงก่อนหน้านี้ 

 

2. แรงกดดันเงินเฟ้อที่อาจจะอยู่ระดับสูงจากปัญหาเชิงโครงสร้างในด้านอุปทานของแรงงานที่ขาดแคลน เช่น ในสหรัฐฯ ที่มีแรงงานถูกปลดออกในช่วงไวรัส COVID–19 ระบาด เป็นจำนวนมากถึงกว่า 3 ล้านคน และเป็นแรงงานที่มีอายุมากกว่า 55 ปี ซึ่งส่วนใหญ่อาจตัดสินใจเกษียณอายุและไม่กลับสู่ตลาดแรงงานอีก  แม้ว่าด้านอุปสงค์จะผ่อนคลายลงในปีหน้า ทำให้การผลิตสินค้าก็ยังไม่สามารถทำได้เท่ากับก่อนเกิดวิกฤต COVID–19  

 

และ 3. นโยบายการเงินจากปัญหาเงินเฟ้อที่คาดว่าจะทรงตัวระดับสูงกว่าเป้าหมายของธนาคารกลาง ทำให้เกิดการเปลี่ยนนโยบายการเงินเข้มงวดมากขึ้นอย่างชัดเจน โดย Fed น่าจะยุติการทำ QE ในไตรมาส 1 นี้ และอาจเริ่มขึ้นดอกเบี้ยทันทีอีกราว 3 ครั้งในปี 2565 ซึ่งสภาพคล่องที่ลดลงและดอกเบี้ยที่เป็นขาขึ้นชัดเจน จะเป็นปัจจัยกดดันต่อ Valuation ของตลาดหุ้นในปีนี้ โดยข้อมูลในอดีตชี้ว่า ค่าอัตราราคาต่อกำไร (P/E) ของตลาดหุ้นสหรัฐฯ (S&P 500) จะลดลงเฉลี่ย 5% ในช่วง 2-3 เดือนหลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) เริ่มขึ้นดอกเบี้ยครั้งแรก

 

 

นายณัฐกฤติกล่าวอีกว่า จากปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้กลยุทธ์การลงทุนปี 2565 จึงอยู่ในสภาวะที่ไม่ได้มีตัวเลือกมากนัก โดยคาดว่า ‘หุ้น’ จะสร้างผลตอบแทนดีกว่าตราสารหนี้ ซึ่งมีความเสี่ยงและอาจจะไม่คุ้มค่าการลงทุนเท่าใดนักในช่วงที่ดอกเบี้ยกำลังเป็นเทรนด์ขาขึ้น อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้หุ้นจะเป็นสินทรัพย์ที่น่าจะสร้างผลตอบแทนเป็นบวกได้ในปีนี้ แต่ผลตอบแทนก็ย่อมผันผวนไปตามปัจจัยลบที่เกิดขึ้น ดังนั้น จึงแนะนำให้นักลงทุนเน้นลงทุนระยะยาวเพื่อกระจายความเสี่ยงจากการลงทุน และเน้นลงทุนในกลุ่มหุ้นที่มีการเติบโตระดับสูงสอดรับกับ Megatrends 

 

สำหรับในปี 2565 ธนาคารทิสโก้แนะนำทยอยสะสม 3 ธีมการลงทุนหลัก ดังนี้  

 

1.หุ้นกลุ่มเมตาเวิร์ส (Metaverse) ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มเทคโนโลยีแห่งอนาคต (The Future Trend of Technology) เพราะเป็นกลุ่มหุ้นที่มีแนวโน้มการเติบโตในระดับสูง มีโมเดลทางธุรกิจ (Business Model) ที่มีกำไรขั้นต้นที่ดีและมีรายได้ค่อนข้างสม่ำเสมอจากผู้ใช้งานในปัจจุบันที่กำลังอยู่ในช่วงเติบโต ซึ่งหุ้นกลุ่มนี้ ได้แก่ Video Games และ Esports, Cloud Computing และ Cyber Security ที่คาดว่าจะมียอดขายเติบโตใน ประมาณ 20% ต่อปี ซึ่งดีกว่าเมื่อเทียบกับยอดขายของกลุ่มบริษัทใน NASDAQ 100 ที่คาดว่าจะเติบโตเพียง 8% ต่อปี  

 


2. หุ้นกลุ่มนวัตกรรมการแพทย์ (Healthcare Innovation) อย่างไบโอเทค (Biotechnology) ที่มีการเติบโตอย่างต่อเนื่องตามค่าใช้จ่ายการในการดูแลสุขภาพและการรักษาพยาบาล ซึ่งมีแนวโน้มเติบโตสูงกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจของประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และจีน โดยคาดว่าในปี 2565 ทั่วโลกยังคงต้องอยู่ร่วมกับไวรัส COVID–19 ที่มีการกลายพันธุ์ หุ้นกลุ่มนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่ใช้นวัตกรรมทางชีวภาพใหม่ๆ มาช่วยป้องกันและรักษา ทำให้รายได้ของหุ้นกลุ่มนี้เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยคาดว่าตลาดของอุตสาหกรรมไบโอเทคของประเทศสหรัฐฯ และจีนในปี 2565 จะมียอดขายเติบโตได้ราว 12% และ 38% ตามลำดับ 

 

โดยหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีแห่งอนาคต และหุ้นกลุ่มนวัตกรรมการแพทย์ นับเป็นเมกะเทรนด์ ที่เหมาะสำหรับการลงทุนระยะยาว  

 

3. หุ้นกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว (Developed Market: DM) โดยเฉพาะประเทศที่คาดว่าหุ้นจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเมื่อ Fed จะดำเนินนโยบายการเงินที่เข้มงวดในไตรมาสที่ 1/2565 ได้แก่ ได้แก่ ตลาดหุ้นญี่ปุ่น และยุโรป โดยทั้งสองประเทศยังมีเม็ดเงินส่วนเพิ่มจากการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล  อย่างประเทศญี่ปุ่นที่จะมีเม็ดเงินกว่า 78.9 ล้านล้านเยน คิดเป็น 5.6% ของ GDP และฝั่งยุโรปที่จะมีวงเงินกระตุ้นเศรษฐกิจ 7.5 แสนล้านยูโร คิดเป็น 5.5% ของ GDP ทั้งนี้ ระดับมูลค่าหุ้น (Valuation) ของ 2 ประเทศยังมีความน่าสนใจ ด้วยระดับอัตราราคาปิดต่อกำไรต่อหุ้น 12 เดือนข้างหน้า (Forward P/E 12 Months) เพียง 14 เท่า และ 15.5 เท่าตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับไม่ได้สูงเกินไปเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา 

 

ทั้งนี้ แนะนำว่าสำหรับตลาดหุ้นยุโรปและญี่ปุ่น นักลงทุนควรใช้กลยุทธ์ “ทยอยซื้อ” ในจังหวะที่ตลาดปรับตัวลง เพื่อหาจังหวะทำกำไรในช่วงที่ราคาปรับตัวขึ้น