งบประมาณขาดดุลเรื้อรัง รายจ่ายพุ่ง รายได้จำกัด รอการปฏิรูป

05 ม.ค. 2565 | 10:21 น.

ไทยงบประมาณขาดดุลต่อเนื่อง 20 ปี เหตุการจัดเก็บรายได้จำกัด จากโครงสร้างภาษีที่ล้าสมัย แถมถูกโยงประเด็นการเมือง แถมรายจ่ายพุ่งต่อเนื่อง หากรวมแผนการคลังระยะปานกลางปี 3 ปี ไทยจะขาดดุลเรื้อรัง ที่ต้องเร่งแก้ไข

แผนการคลังระยะปานกลาง (ปีงบประมาณ 2566-2569) ที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 21 ธันวาคม 2564  ก็ยังเป็นแผนการขาดดุลงบประมาณต่อเนื่อง โดยในปีงบประมาณ 2566 ขาดดุล 6.95 แสนล้านบาท ปีงบประมาณ 2567 ขาดดุล 7.1 แสนล้านบาท ปีงบประมาณ 2568 ขาดดุล 7.23 แสนล้านบาท และปีงบประมาณ 2569 ขาดดุล 7.36 แสนล้านบาท 

 

ดังนั้นการจัดทำงบประมาณของรัฐบาล จะยังเป็นงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องเป็นปีที่ 20 นับจากปีงบประมาณปี 2550 และยังไม่เห็นทีท่าว่า ไทยจะกลับไปสู่การจัดงบประมาณสมดุลได้ปีไหน เพราะที่ผ่านมาเคยประกาศเพื่อสร้างความเชื่อมั่นด้านการคลัง แต่ไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะเมื่อเกิดการระบาดของโควิด-19 ที่ยืดเยื้อมา 2 ปี ทำให้รายจ่ายภาครัฐพุ่ง ขณะที่รายได้ก็พลาดเป้าหมายไปมากเช่นกัน 

 

การขาดดุลงบประมาณ ก็เหมือนคนที่มีรายจ่ายสูงกว่ารายได้ และหากปล่อยให้เรื้อรังยาวนานก็เข้าข่ายมีหนี้สินล้นพ้นตัวได้ ซึ่งจะมีผล กระทบต่อความเชื่อมั่นได้ แต่สาเหตุหนึ่งของการจัดทำงบประมาณขาดดุลเอง ก็เพราะข้อจำกัดของการจัดเก็บรายได้รัฐบาลที่ไม่สามารถเพิ่มอัตราภาษีได้เลย รวมถึงจำนวนคนที่เข้าระบบเสียภาษีของไทยยังน้อย

งบประมาณขาดดุลเรื้อรัง รายจ่ายพุ่ง รายได้จำกัด รอการปฏิรูป

หากพิจารณาจากการจัดทำงบประมาณในช่วง 10 ปีย้อนหลังจะเห็นว่า การเพิ่มเป้าหมายการจัดเก็บรายได้รัฐบาลลดลงอย่างต่อเนื่อง และหลายปียังจัดเก็บตํ่ากว่าเป้าหมายอีกด้วย โดยเฉพาะในปีงบประมาณ 2564 ที่การจัดเก็บรายได้ตํ่ากว่าเป้าหมายถึง 3.07 แสนล้านบาท หรือ 11.5% เหตุผลกระทบหลักจากการแพร่ระบาดโควิด-19 โดยกรมสรรพากร ตํ่ากว่าเป้าหมาย 10.1 % กรมสรรพสามิต ตํ่ากว่าเป้าหมาย 16.2%และกรมศุลกากร ตํ่ากว่าเป้าหมาย 2.3 %

ขณะที่การปรับโครงสร้างภาษีที่พูดกันมาในหลายรัฐบาล แต่ด้วยข้อจำกัดทางการเมือง ทำให้ไม่มีความคืบหน้าใดๆ และในทางกลับกันการลดอัตราภาษีกลับถูกรวมไปเป็นนโยบายหาเสียงของพรรคการเมืองไป โดยไม่ได้คำนึงถึงรายได้รัฐบาลเลย 

 

แต่ดูเหมือนจะเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นเมื่อมีกระแสข่าวจากกรมสรรพากรว่า หนึ่งในแผนปูิรูปภาษีนั้นคือ กำลังศึกษารูปแบบการจัดเก็บภาษีจากการซื้อขายหุ้นในรูปแบบ Financial Transaction Tax ซึ่งมีในประมวล รัษฎากรอยู่แล้ว แต่ได้รับการยกเว้นมาตั้งแต่ปี 2534 

 

ทั้งนี้ในประมวลรัษฎากร กำหนดไว้ว่า การขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.1% ของมูลค่าขาย ซึ่งแค่เพียงข่าวออกมาก็เหมือนจะมีเสียงคัดค้านดังไปทั่วตลาดทุน ก็ยังต้องลุ้นว่า จะสามารถบังคับใช้กฎหมายที่ยกเว้นมานานกว่า 30 ปีหรือไม่ เพราะรัฐบาลเองก็หน้ามืดเช่นกัน ไม่มีเงินมากพอที่จะมาใช้ในการกระตุ้นเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย

 

โดยเฉพาะการกลายพันธ์ุของโควิดเป็นสายพันธุ์โอมิครอนที่ยังไม่ชัดเจนว่า จะรุนแรงเท่าสายพันธุ์เดลตา จนรัฐบาลต้องใช้มาตรการล็อกดาวน์ เพื่อควบคุมการระบาดหรือไม่ เพราะหากเป็นเช่นนั้น ความต้องการใช้เงินในการดูแลเยียวยาผล กระทบจะยิ่งมหาศาล ขณะที่เงินกู้เพื่อดูแลโควิด-19 เหลือเพียงแสนกว่าล้านบาทเท่านั้น

 

ภาษีอีกตัวที่จะมีผลบังคับในวันที่ 1 มกราคม 2565 แม้จะเป็นอัตราเดียวกับที่เคยเสียมาเมื่อ 2 ปีก่อน แต่จะไม่มีส่วนลด 90% อีกในปีนี้เพื่อให้ท้องถิ่นสามารถจัดเก็บได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย ลดการพึ่งพาจากงบประมาณส่วนกลางคือ ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง โดยจะเสียในอัตรา 0.01-0.1% สำหรับการประกอบเกษตรกรรม  ส่วนที่อยู่อาศัย จะเสียภาษีในอัตรา 0.02-0.1% การใช้ประโยชน์อื่นนอกเหนือจากนั้น และที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ จะเสียในอัตรา 0.3-0.7%

 

ส่วนภาษีที่เก็บได้เพิ่มเติมไปก่อนหน้าเมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 คือ ภาษี e-Service ที่จัดเก็บภาษี มูลค่าเพิ่ม (แวต) จากแพลตฟอร์มออนไลน์ต่างประเทศ โดยตั้งเป้าทั้งปีจะจัดเก็บได้ปี 1 หมื่นล้านบาท ซึ่งก็ยังไม่มากพอที่จะมาเพิ่มรายได้ และในอนาคตสรรพากรกำลังหาช่องทาง ที่จะจัดเก็บภาษีเงินได้จากแพลตฟอร์มต่างประเทศเหล่านี้ หากทำได้จะเป็นเม้ดเงินมหาศาลทีเดียว 

 

ภาษีที่หลายฝ่ายเรียกร้องคือ การเพิ่มอัตราภาษีแวต จากปัจจุบันที่จัดเก็บ 7% ซึ่งผ่อนผันมายาวนาน จากอัตราที่กำหมายกำหนดไว้ที่ 10% เพราะแค่เพียงเพิ่มแวต 1% จะทำให้มีรายได้เพิ่มทันที 7-8 หมื่นล้านบาท โดยไม่ต้องไปไล่เก็บภาษีเล็กๆ น้อยๆ

 

แต่อย่างที่รู้ว่า แวตเป็นเผือกร้อนกับทุกรัฐบาล เพราะจะมีผลบังคับใช้กับประชาชนทุกคน โดยเฉพาะกับประชาชนฐานรากซึ่งจะถูกมองว่า รีดเลือดกับปู และคนกลุ่มนี้คือ ฐานเสียงใหญ่ของนักการเมือง จึงยังไม่มีรัฐบาลชุดไหนกล้าเพิ่มแวตอีก แม้แต่เปอร์เซ็นต์เดียว 

 

ทำให้การจัดทำงบประมาณก็น่าจะขาดดุลเรื้อรังไปอีกยาวนาน

 

หน้า 8 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,744 วันที่ 30 ธันวาคม พ.ศ. 2564 - 1 มกราคม พ.ศ. 2565