อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “ทรงตัว” ที่ระดับ 33.50 บาท/ดอลลาร์

30 ธ.ค. 2564 | 00:49 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทอาจได้แรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำมากขึ้น อีกทั้ง เงินดอลลาร์โดยรวมก็อ่อนค่าลง -อาจจบสิ้นปีนี้ในช่วง 33.40-33.50 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.50 บาทต่อดอลลาร์ "ทรงตัว"จากกระดับปิดวันก่อนหน้า

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มที่แกว่งตัว Sideways ในกรอบเดิมต่อ โดยปัญหาการระบาดของโอมิครอนในประเทศยังเป็นปัจจัยที่กดดันให้เงินบาทสามารถผันผวนในฝั่งอ่อนค่าได้ แต่เราเชื่อว่า นักลงทุนต่างชาติไม่ได้กังวลสถานการณ์การระบาดมากนัก

ดังจะเห็นได้จากการที่นักลงทุนต่างชาติเดินหน้าซื้อหุ้นไทยสุทธิตลอดทั้งสัปดาห์นี้ นอกจากนี้ เรามองว่า เงินบาทอาจได้แรงหนุนจากโฟลว์ขายทำกำไรทองคำมากขึ้น อีกทั้ง เงินดอลลาร์โดยรวมก็อ่อนค่าลงตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด ซึ่งสุดท้ายอาจทำให้ เงินบาทจบสิ้นปีนี้ในช่วง 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ได้

 

อนึ่งในปี 2022 เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มแกว่งตัว sideways ไปก่อนในช่วงแรกของปี ตามปัญหาการระบาดของโอมิครอนที่จะกดดันการฟื้นตัวเศรษฐกิจ ทว่า เงินบาทจะมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นชัดเจนในครึ่งหลังของปี หากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถฟื้นตัวได้แข็งแกร่ง

 

อีกทั้งเงินบาทอาจได้แรงหนุนจากฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจไทย ทำให้จบสิ้นปี เงินบาทอาจแข็งค่าแตะระดับ 31.75-32.00 บาทต่อดอลลาร์ได้

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.45-33.55 บาท/ดอลลาร์

แม้ว่าสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนทั่วโลกจะพบยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้นทำ new high ในหลายพื้นที่ อาทิ สหรัฐฯ ก็พบผู้ติดเชื้อแล้ววันละมากกว่า 5 แสนราย แต่ทว่า ในฝั่งตลาดการเงินกลับเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อได้ เนื่องจากผู้เล่นในตลาดต่างมองว่า การระบาดของโอมิครอนจะไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวเศรษฐกิจมากนัก หากรัฐบาลสามารถเร่งแจกจ่ายวัคซีนได้

 

อีกทั้งล่าสุดยังมีรายงานวิจัยเบื้องต้นว่า ผู้ที่ได้รับวัคซีนแล้วติดเชื้อโอมิครอนจะมีภูมิต้านทานเชื้อ COVID-19 ที่สูงมาก โดยเฉพาะภูมิต่อสายพันธุ์เดลต้า ซึ่งอาจทำให้โอมิครอนเป็นเสมือนภูมิคุ้มกันทางธรรมชาติสำหรับผู้ที่ได้รับวัคซีนและอาจทำให้การระบาดของ COVID-19 ในอนาคตมีความรุนแรงและน่ากังวลน้อยลง

 

ภาพผู้เล่นในตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่องในช่วงท้ายปี ได้สะท้อนผ่านการปรับตัวขึ้นของหุ้นในธีม Reopening หรือหุ้นในกลุ่มอุตสาหกรรม Cyclicals อาทิ กลุ่มการเงิน พลังงาน เป็นต้น โดยในฝั่งสหรัฐฯ Dow Jones ซึ่งมีสัดส่วนหุ้นในธีม Reopening มากนั้น สามารถปรับตัวขึ้น +0.25% ตามด้วย ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้นเพียง +0.14% ในขณะที่ดัชนี ดัชนี Nasdaq ปิดตลาด -0.10% สะท้อนภาพการทยอยขายทำกำไรหุ้นเทคฯ เพื่อเข้าซื้อหุ้นในธีม Reopening

 

ส่วนในฝั่งยุโรป ดัชนี STOXX50 ของยุโรป เผชิญแรงเทขายทำกำไรบ้าง โดยเฉพาะแรงขายทำกำไรหุ้นกลุ่มเทคฯ ที่ปรับตัวขึ้นได้ดีตลอดปีนี้ อาทิ Adyen -2.0%, ASML -1.7%, Infineon Tech. -1.3% อย่างไรก็ดี เรามองว่า หุ้นยุโรปยังมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ โดยเฉพาะหุ้นกลุ่ม Reopening

 

เนื่องจากภาพเศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด อีกทั้งสถานการณ์การระบาดของโอมิครอนก็มีแนวโน้มที่จะใกล้ถึงจุดเลวร้ายสุดภายใน 1 เดือนข้างหน้า และรัฐบาลก็จะสามารถควบคุมการระบาดได้ในที่สุด ตามการเร่งแจกจ่ายวัคซีนเข็มกระตุ้น รวมถึงการใช้ยาต้าน COVID-19 

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ ภาวะผู้เล่นในตลาดเปิดรับความเสี่ยง ได้หนุนให้ บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1.55% นอกจากนี้ การปรับตัวขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ยังได้แรงหนุนจากการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นในตลาด หลังจากที่บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ได้ปรับตัวขึ้นทะลุแนวต้านสำคัญจากเส้นค่าเฉลี่ย 50 วัน (50-day moving average)

 

ทั้งนี้ เรามองว่า ตลาดบอนด์จะกลับมาคึกคักอีกครั้งหลังวันหยุดยาวเทศกาลปีใหม่ โดยบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ในระยะสั้นแม้มีโอกาสแกว่งตัว sideways จากปัญหาการระบาดโอมิครอนที่ยังคงอยู่ แต่ก็มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นในระยะถัดไป ตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจและท่าทีของเฟดที่จะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์พลิกกลับมาอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ตามการทยอยลดสถานะถือครองสินทรัพย์ปลอดภัย หลังผู้เล่นในตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงต่อเนื่อง ส่งผลให้ ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ย่อตัวลงสู่ระดับ 95.93 จุด ทั้งนี้ การย่อตัวลงของเงินดอลลาร์ได้ช่วยพยุงให้ ราคาทองคำไม่ได้ปรับตัวลดลงหนัก แม้ว่าจะถูกกดดันโดยการพุ่งขึ้นของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ก็ตาม โดยราคาทองคำสามารถรีบาวด์ขึ้นสู่ระดับ 1,803 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หลังจากย่อตัวลงแตะระดับ 1,790 ดอลลาร์ต่อออนซ์

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอติดตามแนวโน้มการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ ท่ามกลางปัญหาการระบาดของโอมิครอนที่พบผู้ติดเชื้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยตลาดประเมินว่า ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) จะอยู่ 2.0 แสนราย ใกล้เคียงกับระดับในช่วงก่อนเกิดวิกฤติ COVID-19

 

สะท้อนว่า ตลาดแรงงานสหรัฐฯ สามารถเดินหน้าฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่ง แม้ว่าจะเผชิญปัญหาการระบาดอีกระลอกก็ตาม ซึ่งการฟื้นตัวของตลาดแรงงานสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจนโยบายการเงินของเฟด

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทแข็งค่าผ่านแนว 33.50 มาอยู่ที่ระดับประมาณ 33.42-33.44 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทและสกุลเงินเอเชียบางส่วนขยับแข็งค่าขึ้นท่ามกลางปริมาณธุรกรรมการซื้อขายที่เบาบางก่อนช่วงวันหยุดยาวของเทศกาลปีใหม่

 

ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ เผชิญแรงขายในฐานะที่เป็นสกุลเงินปลอดภัย เนื่องจากนักลงทุนคลายความกังวลต่อการระบาดของโอมิครอน และผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่อาจไม่รุนแรง แม้ว่าจำนวนเคสผู้ติดเชื้อจะเพิ่มสูงขึ้นมากก็ตาม 

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่  33.35-33.60 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ รายงานเศรษฐกิจการเงินเดือนพ.ย. ของธปท. ทิศทางเงินทุนของต่างชาติ สถานการณ์โควิด-19 และตัวเลขจำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์ของสหรัฐฯ