อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า”ที่ระดับ 33.42 บาท/ดอลลาร์

15 ธ.ค. 2564 | 00:41 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแนวโน้ม “ผันผวน”จากภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด อาจแกว่งตัว Sidewaysหรืออ่อนค่าได้บ้าง เงินดอลลาร์อาจแข็งค่าขึ้นในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟดระยะสั้น

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.42 บาทต่อดอลลาร์ "อ่อนค่า"ลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.37 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน   พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทมีแนวโน้มผันผวนจากภาวะระมัดระวังตัวของผู้เล่นในตลาด ที่ส่งผลให้เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟดระยะสั้น

 

อย่างไรก็ดี เราคาดว่า หากผลการประชุมเฟดเป็นไปตามที่ตลาดคาดการณ์ไว้ หรือ เฟดส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยในปีหน้า “น้อยกว่า” ที่ตลาดคาดการณ์ เช่น จำนวนเจ้าหน้าที่เฟดที่สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยมากกว่า 2 ครั้งไม่ต่างจากการประชุมในเดือนกันยายน

 

ภาพดังกล่าว อาจหนุนให้ตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น และอาจกดดันให้เงินดอลลาร์ย่อตัวลงได้ นอกจากนี้ การอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์และท่าทีของเฟดที่ไม่ได้เร่งรีบใช้นโยบายการเงินอย่างที่ตลาดคาดหวังก็อาจหนุนให้ ราคาทองคำรีบาวด์ขึ้น ซึ่งการรีบาวด์ของราคาทองคำจะสามารถช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้เช่นกัน

 

ดังนั้น เรามองว่า ในช่วงก่อนรับรู้ผลการประชุมเฟด เงินบาทอาจแกว่งตัว Sideways หรือ อ่อนค่าลงได้บ้าง แต่เงินบาทมีโอกาสกลับมาแข็งค่าขึ้น หลังผลการประชุมเฟดอาจไม่ได้ Hawkish เท่าที่ตลาดคาดหวังไว้

 

ทั้งนี้ ในส่วนของแนวต้านเงินบาทจะอยู่ที่ระดับ 33.70 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนแนวรับเงินบาทยังคงอยู่ในโซน 33.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งมองว่ายังพอมีแรงซื้อเงินดอลลาร์ของผู้นำเข้าบางส่วน ช่วยพยุงไม่ให้เงินบาทแข็งไปได้เร็ว ยกเว้นว่า นักลงทุนต่างชาติจะเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินบาทมากขึ้นอย่างชัดเจน ซึ่งเรายังไม่เห็นสัญญาณดังกล่าว (มีความเป็นไปได้ว่า ผู้เล่นต่างชาติอาจรอดูความชัดเจนของดีล M&A ว่าจะมีลักษณะโฟลว์ธุรกรรมการจ่ายเงินแบบไหนก่อน)

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.50 บาท/ดอลลาร์

 

ตลาดการเงินโดยรวมยังคงอยู่ในโหมดระมัดระวังตัว (Cautious Mode) จากความกังวลแนวโน้มเฟดใช้นโยบายการเงินเร็วขึ้น หลังจากที่ดัชนีราคาสินค้าผู้ผลิต (Producer Price Index: PPI) ของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 9.6% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก

 

นอกจากนี้ ปัญหาการระบาดของ Omicron ในฝั่งยุโรป รวมถึงสหรัฐฯ ก็ส่งผลให้ผู้เล่นในตลาดประเมินว่าการฟื้นตัวเศรษฐกิจอาจชะลอลงในระยะสั้น ซึ่งภาวะระมัดระวังตัวของตลาดส่งผลให้ ผู้เล่นในตลาดเลือกที่จะลดความเสี่ยงลงก่อนที่จะรับรู้ผลการประชุมเฟดในช่วงเช้าตรู่ของวันพฤหัสฯ นี้ ทำให้ดัชนีหุ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ และยุโรป ต่างย่อตัวลงต่อเนื่อง

 

โดยในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ปรับตัวลงราว -1.14% เนื่องจากหุ้นเทคฯ ซึ่งมีระดับ Valuation ที่สูงนั้นจะมีความอ่อนไหวกับแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น โดยเฉพาะการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ส่วนดัชนี S&P500 ปิดตลาด -0.75% จากทั้งการปรับตัวลงของหุ้นเทคฯ ขนาดใหญ่ Microsoft -3.3%, Google -1.2% รวมถึงแรงขายหุ้นกลุ่ม Cyclical อื่นๆ

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 ย่อตัวลงต่อเนื่องราว -0.92% กดดันจากความกังวลว่าแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจอาจชะลอลงหลังรัฐบาลหลายประเทศอาจทยอยใช้นโยบาย Lockdown ที่เข้มงวดมากขึ้น เพื่อควบคุมปัญหาการระบาดของโอมิครอน นอกจากนี้ หุ้นกลุ่มเทคฯ ยังปรับตัวลงหนัก จากความกังวลแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด  Adyen -5.0%, Infineon Tech. -3.1%, ASML -2.7%

 

ส่วนทางด้านฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่าตลาดจะอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวมากขึ้น ทว่าแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของเฟด ก็ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นเล็กน้อยสู่ระดับ 1.44% ทั้งนี้ เราคงมองว่า บอนด์ยีลด์ระยะยาวยังมีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้นต่อได้ ตามการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดขึ้นของเฟด

 

รวมถึงบรรยากาศตลาดการเงินที่มีโอกาสที่จะกลับมาเปิดรับความเสี่ยงหลังจากที่ตลาดรับรู้แนวโน้มนโยบายการเงินเฟดเป็นที่เรียบร้อย รวมถึงตลาดเริ่มลดความกังวลการระบาดของโอมิครอนลง หากหลายประเทศสามารถเร่งการแจกจ่ายวัคซีนเข็มกระตุ้นและควบคุมสถานการณ์การระบาดได้

 

ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ผันผวนหนักในช่วงวันก่อนหน้า โดยเงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่นๆ หลังจากที่ PPI ของสหรัฐฯ พุ่งขึ้นสูงกว่าคาดและอาจหนุนให้เฟดต้องเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัยในระยะสั้นเพื่อหลบความผันผวนในตลาด ส่งผลให้ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 96.57 จุด

 

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่า ตลาดไม่ได้กลับสู่โหมดปิดรับความเสี่ยงเต็มที่เมื่อเทียบกับช่วงตลาดปรับฐานหนักจากความกังวลโอมิครอนช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ดังจะเห็นได้จากการที่ค่าเงินเยนของญี่ปุ่น (JPY) ไม่ได้แข็งค่าขึ้นหนัก กลับกัน ค่าเงินเยนได้อ่อนค่าลงแตะระดับ 113.8 เยนต่อดอลลาร์

 

 

สำหรับวันนี้ ในด้านข้อมูลเศรษฐกิจ ตลาดประเมินว่า ข้อมูลเศรษฐกิจสำคัญของจีนในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมาจะสะท้อนภาพการฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยเฉพาะในด้านการบริโภคที่เริ่มฟื้นตัวดีขึ้นหลังจากปัญหาการระบาด COVID-19 เริ่มลดลง ส่งผลให้ยอดค้าปลีก (Retail Sales) อาจขยายตัวราว 4.8%y/y

 

ส่วนในภาคการผลิตอุตสาหกรรมก็มีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง จากความต้องการสินค้าตามการฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก ดังจะเห็นได้จากยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ที่จะโต 3.8%y/y อย่างไรก็ดี ในด้านการลงทุนสินทรัพย์ถาวร (Fixed Assets Investment) อาจได้รับผลกระทบจากปัญหาหนี้ในภาคอสังหาฯ ส่งผลให้ FAI โตชะลอลงเหลือ 5.4%y/y

 

ทั้งนี้ การประกาศลด Reserve Requirement Ratio ล่าสุดของธนาคารกลางจีน (PBOC) อาจสะท้อนให้เห็นว่าทางการจีนพร้อมใช้เครื่องมือต่างๆ ในการประคองการฟื้นตัวเศรษฐกิจและลดผลกระทบจากปัญหาหนี้ในภาคอสังหาฯ นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจ ซึ่งในช่วงที่นโยบายของทางการจีนมีความสนับสนุนเศรษฐกิจมากขึ้น มักจะสอดคล้องกับช่วงที่ระดับราคาหรือ Valuation ของตลาดหุ้นจีนสามารถปรับตัวสูงขึ้น (Valuation Multiple Expansion) และหนุนผลตอบแทนของตลาดหุ้นจีน

 

นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีน ตลาดจะรอลุ้น การประชุมของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ เฟด โดยเรามองว่า เฟดจะยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.00%-0.25% ในการประชุมครั้งนี้ แต่เฟดก็อาจส่งสัญญาณพร้อมปรับขึ้นดอกเบี้ยได้อย่างน้อย 1 ครั้ง สำหรับปี 2022 ในประมาณการแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายหรือ Fed’s Dot Plot ใหม่

 

นอกจากนี้ เราคาดว่า เฟดอาจมีมติเร่งการลดคิวอีจากเดือนละ 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ เป็น 3 หมื่นล้านดอลลาร์ เริ่มต้นปีหน้า หลังสภาวะเศรษฐกิจและตลาดการเงินสหรัฐฯ ฟื้นตัวดีขึ้นมากจากช่วงวิกฤติ อนึ่ง การส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยนโยบายและเร่งลดคิวอีของเฟดอาจไม่ได้ส่งผลต่อตลาดมากนัก เพราะผู้เล่นในตลาดได้คาดการณ์การเร่งลดคิวอี รวมถึง ประเมินว่าเฟดอาจขึ้นดอกเบี้ยได้ถึง 2-3 ครั้งในปีหน้า

 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาททรงตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.38-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ใกล้เคียงระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.38 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทเคลื่อนไหวในกรอบที่แคบลง เพราะแม้จะมีแรงหนุนจากสัญญาณซื้อสุทธิพันธบัตรไทยของนักลงทุนต่างชาติ แต่ตลาดก็ยังคงอยู่ระหว่างรอติดตามการส่งสัญญาณเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินของเฟดในคืนนี้อย่างใกล้ชิด


สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.35-33.50 บาทต่อดอลลาร์ฯ  ปัจจัยติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมนโยบายการเงิน dot plot และตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ของเฟด ทิศทางเงินทุนเคลื่อนย้าย สถานการณ์โควิด-19 ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ประกอบด้วย ยอดค้าปลีก ผลสำรวจภาคการผลิตของเฟดสาขานิวยอร์กและดัชนีตลาดที่อยู่อาศัย