กนง.-กนส.แนะเตรียมพร้อมเครื่องมือรับเสี่ยงที่อาจเกิดใน 2-3ปี

13 ธ.ค. 2564 | 23:15 น.

กนง.-กนส.ให้น้ำหนัก 2ความเสี่ยง “หนี้ครัวเรือนและความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน” แนะ ธปท. ก.ล.ต. และ คปภ. เตรียมมาตรการที่ต้องมีการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รองรับความเสี่ยงระยะปานกลาง 2-3ปีที่อาจเกิดขึ้น

กนง.-กนส.แนะติดตาม 4ปัจจัยสำคัญ "ความรุนแรงของสายพันธุ์โอมิครอน- ประสิทธิภาพของวัคซีน -มาตรการควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงกรณีเลวร้ายที่ต้องกลับไปล็อคดาวน์"

 

 

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยผลการประชุมร่วมกันระหว่าง กนง. และ กนส. วันที่ 8 ธันวาคม 2564 เพื่อติดตามและประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย โดยที่ประชุมเห็นว่าระบบการเงินไทยโดยรวมยังมีเสถียรภาพ ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) มีเงินกองทุน เงินสำรองและสภาพคล่องอยู่ในระดับสูง และสามารถทำหน้าที่เป็นกลไกสำคัญในการสนับสนุนความต้องการสินเชื่อเพื่อรองรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า

 

ธุรกิจประกันภัยยังมีฐานะการเงินมั่นคง โดยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำกัดอยู่เฉพาะบางบริษัทที่ขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบเจอ-จ่าย-จบ ซึ่งได้มีมาตรการดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อไม่ให้ส่งผลต่อเสถียรภาพระบบการเงินแล้ว ขณะที่ตลาดการเงินมีเสถียรภาพและสามารถทำหน้าที่ได้ตามปกติ

 

กนง.-กนส.แนะเตรียมพร้อมเครื่องมือรับเสี่ยงที่อาจเกิดใน 2-3ปี

ทั้งนี้ ในช่วงที่ผ่านมาหน่วยงานกำกับดูแลได้ออกมาตรการเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงินและช่วยเหลือภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง โดย ธปท. ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม อาทิ มาตรการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ระยะยาวอย่างยั่งยืน มาตรการรวมสินเชื่อบ้านและสินเชื่อรายย่อยอื่น ๆ ข้ามธนาคาร (debt consolidation)  มาตรการผ่อนเกณฑ์วงเงิน ระยะเวลากู้ และลดอัตราผ่อนชำระขั้นต่ำ มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ เป็นต้น ซึ่งสามารถบรรเทาภาระในการชำระหนี้และเพิ่มสภาพคล่องให้แก่ครัวเรือนและ SMEs 

 

ขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ออกมาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบต่อผู้เอาประกันภัยสำหรับกรมธรรม์โควิด-19 แบบเจอ-จ่าย-จบ และออกมาตรการผ่อนผันหลักเกณฑ์ด้านเงินกองทุนและสภาพคล่องเพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้บริษัทประกันภัย โดยลดภาระด้านการดำรงเงินกองทุนและสำรองประกันภัยอันเกิดจากการรับประกันภัยโควิด-19 รวมถึงเพิ่มทางเลือกในการจัดหาแหล่งเงินทุนและเสริมสภาพคล่อง

 และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ออกมาตรการเพื่อช่วยให้ภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 มีทางเลือกในการระดมทุนมากขึ้น โดยออกหลักเกณฑ์กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีความเสี่ยงสูง (high yield bond fund) กองทุนรวมที่เน้นลงทุนในตราสารหนี้ที่มีปัญหาชำระหนี้คืน (stressed bond fund) และกองทรัสต์ที่มีข้อกำหนดขายคืน (REIT buy-back) เป็นต้น

 

อย่างไรก็ตาม ภายใต้ความไม่แน่นอนของการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่และผลกระทบที่อาจมีต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ ที่ประชุมเห็นว่า ยังจำเป็นต้องผลักดันให้มาตรการเป็นไปตามเป้าประสงค์ พร้อมกับประเมินความเพียงพอของมาตรการควบคู่กับบริบทการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยมีปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ความรุนแรงของสายพันธุ์โอมิครอน ประสิทธิภาพของวัคซีน และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด รวมถึงกรณีเลวร้ายที่ต้องกลับไปล็อคดาวน์ เป็นต้น

 

 ทั้งนี้ นอกจากการประคับประคองการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจไม่ให้สะดุดแล้ว ที่ประชุมเห็นควรเตรียมความพร้อมด้านมาตรการและเครื่องมือในการรองรับความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นได้ในระยะปานกลาง (2 ถึง 3 ปี) ซึ่งจำเป็นต้องมีการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานกำกับดูแล โดยที่ประชุมให้น้ำหนักกับการดูแลความเสี่ยงสำคัญที่มีนัยต่อเสถียรภาพระบบการเงินไทยในอีก 2 ประเด็น ดังนี้

 

1. หนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพสินเชื่อของสถาบันการเงิน (สง.) และเป็นแรงกดดันต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปนั้น ควรเร่งผลักดันมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยที่มีภาระหนี้สูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการผลักดันให้ สง. เร่งปรับโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืนแก่ลูกหนี้รายย่อยที่มีศักยภาพแต่มีภาระหนี้สูงให้เป็นไปตามเป้าประสงค์ เตรียมความพร้อมมาตรการชะลอการก่อหนี้ใหม่ในด้านการกำกับดูแลที่เป็นมาตรฐานเดียวกันระหว่างผู้ให้บริการทางการเงินประเภทต่าง ๆ รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ที่ทำควบคู่กับการฟื้นฟูรายได้และให้ความรู้ทางด้านการเงินแก่ประชาชน เพื่อให้สถานการณ์หนี้ครัวเรือนปรับตัวดีขึ้น และภาคครัวเรือนสามารถหลุดพ้นจากกับดักหนี้ได้ในที่สุด

 

2. ความเสี่ยงที่ส่งผ่านระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ในระบบการเงิน เช่น ความผันผวนในตลาดตราสารหนี้ภาคเอกชน ซึ่งส่งผลกระทบต่อนักลงทุนโดยทั่วไป สหกรณ์ออมทรัพย์ หรือกองทุนรวม และส่งผลต่อต้นทุนการระดมทุนของภาคธุรกิจ ต้องอาศัยความร่วมมือระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องในการเตรียมความพร้อมมาตรการและเครื่องมือรองรับและยกระดับเกณฑ์การกำกับดูแลในช่วงเวลาที่สอดรับกัน เช่น การมีมาตรการดูแลความเสี่ยงของบริษัทขนาดใหญ่ ที่ระดมทุนผ่านทั้งช่องทางสินเชื่อและการออกตราสารหนี้

พร้อมกับการมีเกณฑ์กำกับดูแลเพื่อลดการกระจุกตัวของการลงทุนของสหกรณ์ออมทรัพย์ รวมถึงการมีเกณฑ์เพื่อดูแลความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของกองทุนรวมที่เข้มงวดขึ้น เป็นต้น เพื่อจำกัดการส่งผ่านความเสี่ยงและเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้กับระบบการเงิน รองรับการเปลี่ยนแปลงและความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต

 

ทั้งนี้ มติที่ประชุมเห็นควรให้หน่วยงานกำกับดูแลทั้ง ธปท. ก.ล.ต. และ คปภ. ร่วมกันติดตามความเสี่ยงเฉพาะหน้าอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะผลของการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ตลอดจนประเมินความเพียงพอและประสิทธิผลของมาตรการที่ดำเนินการไปแล้ว รวมถึงเตรียมความพร้อมด้านมาตรการและเครื่องมือในการรองรับความเสี่ยงระยะปานกลางที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะมาตรการที่ต้องมีการประสานนโยบายระหว่างหน่วยงานกำกับดูแลและหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องต่อไป