อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.39 บาท/ดอลลาร์

25 พ.ย. 2564 | 00:57 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าอาจเบาบางลงบ้าง หลังดอลลาร์แข็งค่าหนักถ้าราคาทองคำรีบาวด์กลับขึ้นมาจะช่วยหนุนให้แข็งค่าขึ้น

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.39 บาทต่อดอลลาร์"อ่อนค่า"ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.33 บาทต่อดอลลาร์

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า แรงกดดันเงินบาทฝั่งอ่อนค่าอาจเบาบางลงได้บ้าง หลังเงินดอลลาร์แข็งค่าหนักอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมาและเงินดอลลาร์ก็เริ่มแตะแนวต้านเชิงเทคนิคัล ทำให้ผู้เล่นบางส่วนอาจเลือกขายทำกำไรเงินดอลลาร์ออกมาบ้าง แต่ทั้งนี้ ต้องระวังความผันผวนในฝั่งอ่อนค่าจากการปรับสถานะถือครองของผู้เล่นต่างชาติที่ก่อนหน้าได้เก็งกำไรเงินบาทแข็งค่า แต่เริ่มเผชิญการขาดทุนหลังเงินบาทพลิกอ่อนค่าเร็ว ซึ่งจะเห็นว่าล่าสุด ผู้เล่นต่างชาติได้ทยอยขายบอนด์ระยะสั้นสุทธิกว่า 1.6 พันล้านบาท ในวันก่อน 

อนึ่ง ภาพเชิง Technical รายวันของเงินบาท โดยเฉพาะจากสัญญาณ MACD ยังคงสนับสนุนแนวโน้มการอ่อนค่าของเงินบาท แต่เราเชื่อว่า เงินบาทจะกลับไปเจอแนวต้านสำคัญในโซน 33.40-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นจุดที่ผู้ส่งออกบางรายยังรอขายเงินดอลลาร์ รวมถึงผู้เล่นต่างชาติอาจรอจังหวะกลับเข้ามาเก็งกำไรเงินบาทอีกรอบได้ นอกจากนี้ ต้องติดตามทิศทางราคาทองคำอย่างใกล้ชิด เพราะหากราคาทองคำรีบาวด์กลับขึ้นมาได้ ก็จะช่วยหนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นได้บ้าง

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.30-33.45 บาท/ดอลลาร์

ผู้เล่นในตลาดการเงินโดยรวมยังอยู่ในภาวะระมัดระวังตัวและไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงมากนัก หลังรายงานการประชุมเฟดล่าสุด (FOMC Meeting Minutes) ได้สะท้อนว่า เฟดพร้อมที่จะเร่งการลดคิวอี หากเงินเฟ้อมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้นและอยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด รวมถึง ตลาดแรงงานสหรัฐฯ ฟื้นตัวได้แข็งแกร่งกว่าคาด

นอกจากนี้ ตลาดยังคงเชื่อว่าเฟดอาจใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็ว หลังข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ล้วนออกมาดีกว่าคาด อาทิ ยอดการใช้จ่ายส่วนบุคคล (Personal Spending) ในเดือนตุลาคมที่ปรับตัวขึ้นกว่า 1.3% จากเดือนก่อน รวมถึง ยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ปรับตัวลดลงสู่ระดับราว 2 แสนราย ซึ่งเป็นระดับปกติในช่วงก่อนวิกฤติ COVID-19  และที่สำคัญ อัตราเงินเฟ้อ PCE ยังคงปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 5.0% ยิ่งสนับสนุนโอกาสที่เฟดจะเร่งลดคิวอีและขึ้นดอกเบี้ยได้หลายครั้งในปีหน้า

ทั้งนี้ แม้ว่าตลาดจะยังคงกังวลแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดเร็วขึ้นของเฟด แต่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ยังคงได้แรงหนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งกว่าคาด ทำให้ ดัชนี S&P500 ปรับตัวขึ้น +0.23% ส่วนดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq รีบาวด์ขึ้น +0.44% หลังจากที่ตลอดสัปดาห์หุ้นเทคฯ เผชิญแรงเทขายหนัก

ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ดัชนี STOXX50 ย่อตัวลงต่อเนื่องถึง -0.18% จากประเด็นปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ที่ยังคงกดดันให้ตลาดหุ้นยุโรปยังอยู่ในโหมดปรับฐานจากจุดสูงสุดก่อนหน้าต่อ โดยผู้เล่นในตลาดเลือกที่ขายทำกำไรหุ้นกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มยานยนต์ Volkswagen -2.9%, Daimler -2.1% หรือ กลุ่มสินค้าแฟชั่น Inditex -2.7%, Adidas -1.4% หากหลายประเทศในยุโรปเผชิญมาตรการ Lockdown อีกครั้ง 

ในฝั่งตลาดบอนด์ บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ผันผวนพอสมควร โดยในช่วงแรกบอนด์ยีลด์ปรับตัวสูงขึ้นแตะระดับ 1.69% ก่อนที่จะย่อตัวลงสู่ระดับ 1.63% หลังจากที่รายงานการประชุมของเฟดล่าสุด รวมถึงถ้อยแถลงเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ Mary Daly ต่างทำให้ผู้เล่นในตลาดเชื่อว่า เฟดจะใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็ว ซึ่งภาพดังกล่าว ส่งผลให้ ยีลด์เคิร์ฟมีความชันน้อยลง (Flattening Curve) หรือบอนด์ยีลด์ระยะสั้นปรับตัวขึ้น ขณะที่บอนด์ยีลด์ระยะยาวย่อตัวลง ตามแนวโน้มการปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นหลายครั้งของเฟดในปีหน้า  

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์เดินหน้าแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 96.88 จุด ซึ่งเป็นการแข็งค่าที่สุดในรอบ 16 เดือน และเหนือความคาดหมายของเราไปมาก โดยการแข็งค่าของเงินดอลลาร์นั้นถูกหนุนโดยภาพเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่ยังคงแข็งแกร่งและดูโดดเด่นกว่าภูมิภาคอื่นๆ รวมถึงแนวโน้มเฟดอาจเร่งใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นในปีหน้า 

นอกจากนี้ การแข็งค่าขึ้นของเงินดอลลาร์ ได้กดดันให้ เงินเยนของญี่ปุ่น (JPY) อ่อนค่า แตะระดับ 115.44 เยนต่อดอลลาร์ ขณะเดียวกัน แนวโน้มเฟดใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดได้เร็วและการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ ก็ยังคงกดดันให้ ราคาทองคำแกว่งตัว sideways ในช่วง 1,790 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเราคงมองว่า ระดับดังกล่าวจะเป็นแนวรับสำคัญที่ผู้เล่นบางส่วนยังคงรอกลับเข้ามาเก็งกำไรการรีบาวด์ของราคาทองคำในระยะสั้น

สำหรับวันนี้ ตลาดจะรอลุ้นว่า ธนาคารกลางเกาหลีใต้ (BOK) จะตัดสินใจปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายสู่ระดับ 1.00% ได้หรือไม่ หลังจากที่ก่อนหน้า BOK ได้ส่งสัญญาณพร้อมทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ทว่า ล่าสุด การระบาดของ COVID-19 ในเกาหลีใต้ก็เริ่มกลับมารุนแรงอีกครั้ง 

อนึ่ง ผู้เล่นในตลาดควรระมัดระวังความผันผวนในตลาด เนื่องจากวันนี้จะเป็นวันหยุดในฝั่งสหรัฐฯ ช่วงเทศกาล Thanksgiving ธุรกิจกรรมทางการเงินจากผู้เล่นในฝั่งต่างชาติอาจเบาบางลง 

ทางศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.24-33.40 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ เทียบกับระดับปิดตลาดวันทำการก่อนหน้าที่ 33.33 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอาจยังเผชิญแรงกดดันด้านอ่อนค่าในระหว่างวัน เนื่องจากเงินดอลลาร์ฯ มีปัจจัยบวกจากข้อมูลตลาดแรงงานและตัวเลขเงินเฟ้อสหรัฐฯ ที่ออกมาดี ซึ่งอาจทำให้เฟดจำเป็นต้องเร่งจังหวะการลดวงเงิน QE และอาจตามมาด้วยการคุมเข้มด้วยการขึ้นดอกเบี้ย  

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.20-33.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยที่ต้องติดตามจะอยู่ที่ ทิศทางราคาทองคำ สถานการณ์โควิด-19 มุมมองต่อทิศทางนโยบายการเงินของสหรัฐฯ และการตอบรับของสกุลเงินเอเชียหลังธนาคารกลางเกาหลีใต้ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายแล้ว