ACIS แต่งตัวเข้าตลาดหุ้น จ่อขาย IPO ปลายปี 65

09 พ.ย. 2564 | 10:23 น.

ACIS แต่งตัวรอจังหวะเศรษฐกิจฟื้น เล็งขาย IPO เข้าตลาดหลัก ทรัพย์ไตรมาส 4 ปี 65 ชี้เทรน “ภัยคุกคามไซเบอร์” เป็นเรื่องใกล้ตัวประชาชน ไม่ใช่เฉพาะบริษัทหรือองค์กรอีกต่อไป แถมปีหน้ายังเผชิญกฎกติกาของหน่วยงานกำกับเพิ่มอีกเพียบ

PwC ประเทศไทยออกมา ระบุว่า การโจมตีทางไซเบอร์ด้วยซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ หรือ “แรนซัมแวร์” มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นจนกลายเป็นหนึ่งในภัยคุกคามที่ร้ายแรงที่สุดของไทย โดยจะเห็นว่า แรนซัมแวร์เกิดขึ้นจำนวนมากในช่วงนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มสถาบันการเงินและโรงพยาบาล จากก่อนหน้าที่ภัยไซเบอร์ที่พบมาก จะเป็นมัลแวร์ประเภทไวรัส โทรจัน และโปรแกรมอื่นๆ ที่ใช้ในการโจมตีและเข้าถึงข่อมูลที่มีความอ่อนไหว

 

นายปริญญา หอมเอนก ประธานกรรมการบริหารบริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด (ACIS) ผู้ให้บริการไซเบอร์ซีเคียวริตี้ เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 เร่งให้บริษัทและประชาชนต้องมีงบประมาณสำหรับการรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์ (Cyber Security) มากขึ้น เนื่องจากการทำงานจากที่บ้านและพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านออนไลน์ที่เพิ่มมากขึ้น เปิดโอกาสมิจฉาชีพเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น

นายปริญญา หอมเอนก ประธานกรรมการบริหารบริษัท เอซิส โปรเฟสชั่นนัล เซ็นเตอร์ จำกัด (ACIS)

“โควิด ดิสรัปทรานฟอร์เมชั่น แต่ข่าวร้ายที่การรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์ไม่ได้ทรานฟอร์มไปด้วยกัน เห็นได้จากช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาจะเห็นข่าวความถี่ของภัยคุกคามด้านไซเบอร์เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ให้บริการหรือคนเฝ้าระมัดระวังมีจำนวนน้อย”นายปริญญากล่าว

 

ดังนั้น ภาพรวมความต้องการด้านบริการรักษาความปลอดภัยด้านไซเบอร์ จึงเป็นที่ต้องการสูงขึ้น ซึ่งใน Framework ของภาพรวมพบว่า เป็นลักษณะเดียวกันทั้งโลกที่ด้านบริการไซเบอร์ซีเคียวริตี้เซ็กเตอร์ มีอัตราความต้องการจากลูกค้าสูงขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นบริการให้ไปเตรียมระบบ เฝ้าระวัง และแก้ไขปัญหา เมื่อเรื่องไซเบอร์กลายเป็นเรื่องของประชาชนไม่ใช่เฉพาะบริษัทหรือองค์กรอีกต่อไป

ทุกคนจึงต้องการรักษาความปลอดภัย ซึ่งต้องมีผู้รู้ที่จะให้บริการ โดยเอซิสยืนอยู่ในจุดนี้ เราเล็งเห็นปัญหาว่า จะเป็นแบบนี้มานานแล้ว และมีประสบการณ์ในธุรกิจนี้มากว่า 20 ปี โดยสิ้นปีนี้มีแนวโน้มที่จะเห็นยอดขายเติบโต 15-20% หรือประมาณ 230 ล้านบาทจากสิ้นปีก่อนอยู่ที่ 202 ล้านบาท และแนวโน้มปีหน้า จะเห็นการเติบโตของยอดขายเพิ่มขึ้นราว 20-25% ประมาณ 300 ล้านบาทขึ้นไป

 

ขณะเดียวกัน ยังมีบริษัทในกลุ่มอีก 3 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท ไซเบอร์ตรอน จำกัด บริษัท ลีเกิลเทค จำกัด และบริษัท อินเทลลิเจนท์ ดาต้า อนาไลติค จำกัด ซึ่งทำธุรกิจเสริมทัพด้าน Cyber Security เป็นอย่างดี

 

“ผมมีแผนจะนำบริษัท เอซิส เข้าจดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์ โดยได้ลงทุนทรานฟอร์มบริษัท จัดระบบและเตรียมความพร้อมในด้านต่างๆ เช่น ระบบบัญชี เป็นระบบ PAEs ระบบควบคุมภายในและอื่นๆ ซึ่งถ้าโควิด-19 คลี่คลาย และเศรษฐกิจภาพรวมฟื้นตัว ซึ่งน่าจะมีความชัดเจนในปี 2565 จากที่ปัจจุบันรัฐบาลได้ทยอยผ่อนคลายมาตรการและทยอยเปิดรับนักท่องเที่ยวตามจำนวนผู้ติดเชื้อที่ทยอยปรับลดอย่างต่อเนื่อง

 

ดังนั้นราวไตรมาส 4 ปีหน้า ก็น่าจะ IPO ได้ โดยวัตถุประสงค์ของการเข้าตลาดเพื่อสร้าง New S Curve เสริมทัพธุรกิจเดิมเพิ่มโอกาสในการต่อยอดรายได้ประจำอย่างสม่ำเสมอและมีโอกาสเติบโตในระยะยาวที่ยั่งยืน”

 

นายปริญญากล่าวว่า มองไปข้างหน้าต้องยอมรับว่า ทั้งตัวบุคคลและองค์กรมีโอกาสที่จะโดนภัยคุกคามจาก ไซเบอร์ ซึ่งแนวคิดของเอซิส คือ Cyber Resilience หมายถึง ทุกคนมีโอกาสเจอภัยคุกคามจากไซเบอร์ แต่ธุรกิจของลูกค้าสามารถไปต่อได้ ไม่ล่ม

 

หน้าที่ของเอซิส จะเป็นบริษัทที่ให้บริการครบวงจร คือ นอกจากเฝ้าระวัง มอนิเตอร์ และตรวจสอบแล้ว เมื่อเจอภัยคุกคามต้องจัดการกวาดบ้าน เตรียมระบบให้มี Cyber Resilience จุดเด่นหลักๆ คือเราให้บริการครบวงจรครอบคลุมใน 4 ธุรกิจ ทั้งด้าน Identify Protect Detect และ Response

 

โดยเฉพาะปีหน้า การขับเคลื่อนธุรกิจภายใต้กฎกติกา/กฎหมายใหม่หลายฉบับเช่น พ.รบ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ร.บ. ไซเบอร์ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จะเข้มข้นขึ้นมาก แนวโน้มธุรกิจจะเติบโตก้าวกระโดดด้วยกฎกติกาของหน่วยงานกำกับบวกกับสภาพแวดล้อมของพฤติกรรมผู้บริโภคและมิจฉาชีพที่อาศัยช่องโหว่เหล่านี้เข้ามาเป็นภัยคุกคามไซเบอร์ในรูปแบบต่างๆ

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,729 วันที่ 7 - 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2564