อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ "อ่อนค่า" ที่ระดับ 33.42 บาท/ดอลลาร์

18 ตุลาคม 2564

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึงฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติ และความผันผวนของราคาทองคำ

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ 33.42 บาทต่อดอลลาร์อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 33.32 บาทต่อดอลลาร์
 

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุนธนาคารกรุงไทยระบุว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ตลาดการเงินเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยง หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น ขณะเดียวกัน ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนก็เริ่มทยอยออกมาดีกว่าคาด
 

สำหรับสัปดาห์นี้ ตลาดจะรอลุ้นผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสที่ 3 พร้อมกับติดตามถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด อาทิ ประธานเฟด ถึงแนวโน้มเศรษฐกิจและโอกาสที่เฟดจะเริ่มลดคิวอีในเดือนพฤศจิกายน
 

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจ มีดังนี้
ฝั่งสหรัฐฯ - ถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าเฟดต่อประเด็นการทยอยลดคิวอีในเดือนพฤศจิกายนจะยังคงเป็นที่จับตาของตลาด ซึ่งในสัปดาห์นี้จะมีเจ้าหน้าที่เฟดหลายท่านออกมาให้สัมภาษณ์ รวมถึงประธานเฟด Powell ในวันศุกร์ นอกเหนือจากถ้อยแถลงของบรรดาเจ้าหน้าที่เฟด ตลาดจะให้น้ำหนักรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียนในไตรมาส 3 โดยเฉพาะบริษัทเทคฯ ยักษ์ใหญ่ที่อาจส่งผลต่อการปรับตัวของดัชนีตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้ อย่าง Netflix และ Tesla ซึ่งเราประเมินว่า ตลาดจะตอบรับผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในเชิงบวก หนุนให้ตลาดเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นได้ นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามทิศทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจในเดือนตุลาคม โดยตลาดประเมินว่า ภาคการบริการมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้น สะท้อนผ่าน ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อภาคการบริการ (Markit Services PMI) เดือนตุลาคม ที่จะเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 55.2 จุด (ดัชนีเกิน 50 จุด หมายถึงภาวะขยายตัว)

ฝั่งยุโรป - ตลาดจะติดตามทิศทางของเงินเฟ้อในฝั่งยุโรป ท่ามกลางปัญหาด้าน Supply Chain ที่หนุนราคาต้นทุนสินค้า รวมถึง ราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่อง โดยในฝั่งอังกฤษ ตลาดมองว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไป (CPI) เดือนกันยายน จะอยู่ในระดับสูงที่ 3.2% ซึ่งอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูงนานกว่าคาด อาจกดดันให้ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) ทยอยใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นได้ เช่นเดียวกับในฝั่งยูโรโซน อัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะยังอยู่ที่ระดับ 3.4% ซึ่งอาจหนุนการทยอยลดคิวอีของธนาคารกลางยุโรป (ECB) ในปีนี้เช่นกั
 

นอกจากนี้ ตลาดจะติดตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยุโรป หลังข้อมูลเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาต่างสะท้อนภาพโมเมนตัมการฟื้นตัวที่ชะลอลง โดยเฉพาะในภาคการผลิตที่เผชิญปัญหา Supply chain disruption โดย PMI ภาคการผลิตของทั้งยูโรโซนและอังกฤษ ในเดือนตุลาคม จะชะลอลงสู่ระดับ 57 จุด และ 56 จุด ตามลำดับ ส่วนภาคการบริการก็มีแนวโน้มชะลอตัวลงเช่นกัน จากปัญหาเงินเฟ้อที่เร่งตัวสูงขึ้น กดดันให้ผู้บริโภคอาจชะลอการใช้จ่ายลงบ้าง โดย PMI ภาคการบริการของยูโรโซนและอังกฤษ จะลดลงสู่ระดับ 55.5 จุด และ 54.5 จุด ตามลำดับ

 

ฝั่งเอเชีย - ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ภาพการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน โดยตลาดมองว่าเศรษฐกิจจีนจะชะลอตัวหนักในไตรมาสที่ 3 โดยจะขยายตัวได้ราว +5.0%y/y จากที่โตถึงเกือบ 8% ในไตรมาสก่อน จากปัญหาการระบาดรวมถึงปัญหาน้ำท่วม ขณะเดียวกัน ภาคธุรกิจของจีนก็เผชิญแรงกดดันจากการเข้ามาคุมเข้มภาคธุรกิจของรัฐบาล โดยเฉพาะในฝั่งภาคการผลิตที่เผชิญภาวะขาดแคลนพลังงาน จนบางอุตสาหกรรมถูกจำกัดกำลังการผลิต นอกจากนี้ ภาพการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนจะถูกสะท้อนผ่าน ยอดผลผลิตอุตสาหกรรม (Industrial Production) ในเดือนกันยายนที่จะโตเพียง 3.8%y/y ชะลอลงจากที่โตได้ +5.3% ในเดือนก่อน เช่นเดียวกับ ยอดการลงทุนสินทรัพย์ภาวร (Fixed Assets Investment) ที่นับตั้งแต่ต้นปีจะโตชะลอลงเหลือ +7.8%y/y ทั้งนี้ ยอดค้าปลีก (Retail Sales) จะฟื้นตัวดีขึ้นและขยายตัวกว่า +3.5%y/y ตามการผ่อนคลายมาตรการ Lockdown อนึ่ง การชะลอตัวหนักของเศรษฐกิจจีนชี้ว่าทางการจีนอาจใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลายมากขึ้นและใช้การกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังเพื่อช่วยพยุงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ โดยธนาคารกลางจีน (PBOC) จะคงอัตราดอกเบี้ยอ้างอิง (LPR) ที่ระดับ 3.85% และ 4.65% สำหรับ LPR อายุ 1 ปี และ 5 ปี ตามลำดับ ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะเริ่มฟื้นตัวดีขึ้น โดยเฉพาะภาคการบริการ สะท้อนผ่าน Services PMI เดือนตุลาคม ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 51 จุด หลังสถานการณ์การระบาดในญี่ปุ่นดีขึ้นต่อเนื่อง
 

ฝั่งไทย - ตลาดประเมินว่า ดุลการค้าในเดือนกันยายนมีแนวโน้มขาดดุลต่อเนื่องราว 1 พันล้านดอลลาร์ เนื่องจากยอดการนำเข้า (Imports) ยังคงอยู่ในระดับสูงและโตได้กว่า +35%y/y หนุนโดยราคาสินค้าต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัญหา Supply chain disruption รวมถึงราคาสินค้าพลังงานที่ปรับตัวขึ้นต่อเนื่องในเดือนกันยายน ขณะที่ ยอดการส่งออก (Exports) จะเริ่มกลับมาฟื้นตัวและขยายตัวราว +13%y/y ตามการฟื้นตัวทั่วโลกหลังสถานการณ์ COVID-19 เริ่มสงบลงและหลายประเทศก็เริ่มทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown
 

สำหรับ แนวโน้มของค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นได้ ตามการอ่อนค่าลงของเงินดอลลาร์ รวมถึงฟันด์โฟลว์จากนักลงทุนต่างชาติ แต่ควรเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยงภายใน อาทิ ปัญหาน้ำท่วม รวมถึง สถานการณ์ COVID ที่ยอดการระบาดยังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ ความผันผวนของราคาทองคำก็อาจส่งผลต่อความเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทได้เช่นกัน (ราคาทองคำย่อตัวลง อาจเห็นโฟลว์ซื้อทองคำในสกุลเงินดอลลาร์ กดดันเงินบาทอ่อนค่าลง ขณะที่หากราคาทองคำปรับตัวขึ้น อาทิ แตะแนวต้านสำคัญ อาจมีแรงขายทำกำไร หนุนให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น)
 

ส่วนในมุมแนวโน้มเงินดอลลาร์นั้น เรามองว่า ในสัปดาห์นี้ ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของตลาด (Risk-On) อาจกดดันให้เงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ทั้งนี้ เงินดอลลาร์อาจไม่อ่อนค่าไปมาก หากบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดยังคงหนุนการลดคิวอีในเดือนหน้าและข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยรวมดีกว่าเศรษฐกิจอื่นๆ
 

นอกจากนี้ ในเชิงเทคนิคัล โมเมนตัมการอ่อนค่าของเงินบาทอาจเริ่มแผ่วลงในระยะสั้นสอดคล้องกับการเกิด Bearish Divergence ซึ่งเรามองว่า เงินบาทยังมีแนวต้านสำคัญอยู่ในโซน 33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่บรรดาผู้ส่งออกต่างรอเข้ามาทยอยขายดอลลาร์ ขณะที่ ผู้นำเข้าต่างรอซื้อเงินดอลลาร์ หากเงินบาทพลิกกลับมาแข็งค่า โดยแนวรับของเงินบาทจะอยู่ในโซน 33.00-33.10 บาทต่อดอลลาร์ 
 

มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 33.10-33.60 บาท/ดอลลาร์
 

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.30-33.50 บาท/ดอลลาร์

 

ทางด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่าเงินบาทปรับตัวอยู่ที่ระดับประมาณ 33.42-33.45 บาทต่อดอลลาร์ฯ ในช่วงเช้าวันนี้ อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับระดับปิดตลาดเมื่อปลายสัปดาห์ก่อนที่ 33.31 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทอ่อนค่าลงสอดคล้องกับทิศทางสกุลเงินอื่นๆ ในเอเชียก่อนการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจจีนในวันนี้ ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ได้รับแรงหนุนจากบอนด์ยีลด์สหรัฐฯ ที่ปรับตัวขึ้น หลังจากที่ข้อมูลยอดค้าปลีกของสหรัฐฯ ขยายตัวมากกว่าที่ตลาดคาด  

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 33.35-33.55 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยตัวเลขเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่  GDP ไตรมาส 3 และข้อมูลเศรษฐกิจเดือนก.ย. ของจีน ตลอดจนตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนก.ย. และดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนต.ค. ของสหรัฐฯ ขณะที่ปัจจัยอื่นๆ ที่ต้องติดตาม ได้แก่ เม็ดเงินลงทุนของนักลงทุนต่างชาติ สถานการณ์ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีน สถานการณ์โควิดในประเทศ