สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ดันส่งออกกัญชงปีละ 1,000 ล้านบาท

15 ต.ค. 2564 | 09:23 น.

สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ตั้งเป้าส่งออกกัญชงปีละ 1,000 ล้านบาท หลังเทคโอเวอร์ “เฮิร์บ เทรเชอร์” โดยถือหุ้น 51% ด้านการยาสูบฯ ผนึกกำลังต่อยอดอุตสาหกรรมผลิตใบกัญชง ยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบในไทย

นายภาณุพล รัตนกาญจนภัทร ประธานที่ปรึกษาการยาสูบแห่งประเทศไทย (ยสท.) เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU) ด้านอุตสาหกรรมกัญชงแบบครบวงจร ระหว่าง บริษัท เฮิร์บ เทรเชอร์ จำกัด และ บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) โดยความร่วมมือดังกล่าวเพื่อพัฒนาต่อยอดอุตสาหกรรมการผลิตกัญชงแบบครบวงจร โดยในส่วนของ ยสท. ก็ต้องการเห็นความร่วมมือครั้งนี้ ถูกส่งต่อไปยัง “ต้นน้ำ” ด้วยการช่วยยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบที่ได้รับผลกระทบจากการแข่งขันของบุหรี่ต่างประเทศและอัตราภาษีบุหรี่ใหม่ที่ปรับเพิ่มขึ้นก่อนหน้านี้ จนมีรายได้ที่ลดอย่างมาก ทั้งนี้ คาดว่าในจำนวนเกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบประมาณ 14,000 ครัวเรือน จะมีไม่ต่ำกว่า 10% ที่เข้าร่วมโครงการเพาะปลูกกัญชงกับภาคเอกชน

 

“ยสท.เองกำลังหารือกับกรมพัฒนาชุมชน กระทรวงมหาดไทย เพื่อจัดสรรงบประมาณมาเป็นทุนช่วยเหลือและสนับสนุนให้แก่เกษตรกรผู้ปลูกใบยาสูบ ที่สนใจจะเปลี่ยนมาเพาะปลูกใบกัญชง คาดว่าคงต้องใช้เวลาอีกสักระยะหนึ่ง” นายภาณุพล กล่าว

สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ดันส่งออกกัญชงปีละ 1,000 ล้านบาท

ด้าน นายชาย วินิชบุตร กรรมการบริหาร บริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เนื่องจากบริษัทฯอยู่ในภาคอุตสาหกรรม และมีสายสัมพันธ์อันดีกับบริษัทต่างชาติในนิคมอุตสสาหกรรมโรจนะ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทอาหารเครื่องดื่ม เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์ยา ฯลฯ ซึ่งมีความต้องการสารสกัด CBD จากกัญชง ที่มีคุณประโยชน์อย่างสูงต่อสุขภาพและเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกในอนาคต จึงทำให้สนใจจะร่วมมือกับบริษัท เฮิร์บ เทรเชอร์ฯ ในครั้งนี้

 

ขณะนี้ นางสาวรมย์ชลี จันทร์ประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฯ บริษัท เฮิร์บ เทรเชอร์ จำกัด กล่าวว่า ขณะนี้ บริษัทฯได้ร่วมมือกับเกษตรกรในหลายพื้นที่ เช่น เชียงใหม่ เชียงราย พะเยา เริ่มทำการเพาะปลูกกัญชงไปแล้ว โดยมีการวิจัยและนำเข้าสายพันธุ์ที่เหมาะกับแต่ละสภาพพื้นที่ไปให้เกษตรกรเพาะปลูก โดยจะขยายไปยังพื้นที่อื่นๆ เช่น สุโขทัย เพชรบูรณ์ นครนายก ปทุมธานี เป็นต้น ทั้งนี้ บริษัทฯมีแผนจะจัดทำโครงการคอนแทร็กฟาร์มมิ่งกับเกษตรกรเหล่านี้ เพื่อสร้างหลักประกันด้านรายได้และการรับซื้อผลผลิตทั้งหมดจากเกษตรกร ขณะเดียวกัน บริษัทฯก็มีลูกค้าทั้งในและนอกประเทศที่ให้ความสนใจจะสั่งซื้อผลผลิตที่ได้จากใบกัญชงมาบ้างแล้ว

 

สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ดันส่งออกกัญชงปีละ 1,000 ล้านบาท

 

ทั้งนี้ นายคณวัตร จันทรลาวัณย์ รองกรรมการผู้จัดการ บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ กล่าวเสริมว่า ปัจจัยที่บริษัทฯสนใจจะเข้าร่วมธุรกิจกับบริษัท เฮิร์บ เทรเชอร์ฯ เพราะ 1.บริษัท เฮิร์บ เทรเชอร์ฯ เป็นเพียงบริษัทเดียวที่ได้รับอนุญาตจากภาครัฐในการเป็นผู้ผลิต วิจัย ต่อยอดใบกัญชงในเชิงอุตสาหกรรม รวมถึงส่งออกไปยังต่างประเทศเพียงรายเดียวในประเทศไทย 2.แผนการผลิตสารสกัด CBD ในเฟสแรกให้ได้ปีละ 9 ตัน ซึ่งสามารถจะสร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 1000 ล้านบาท เนื่องจากราคาขายสารสกัด CBD ในต่างประเทศ หากเป็นค้าส่งจะอยู่ที่ 150,000 – 400,000 บาท/กก. และ 3.มีเป้าหมายสอดรับกับแนวทางใหม่ของบริษัทฯ ที่ต้องการจะขยายงานไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับคุณภาพชีวิตและการพัฒนาตั้งแต่ระดับฐานราก

 

ทั้งนี้ บริษัทฯจะเข้าถือหุ้นในโครงสร้างใหม่ของบริษัท เฮิร์บ เทรเชอร์ฯ ที่จะเพิ่มทุนจดทะเบียนเพิ่มเป็น 50 ล้านบาทในช่วงแรก โดยจะถือหุ้น 51% และกลุ่มผู้ถือหุ้นเดิมจะถือหุ้น 49%

 

“เนื่องจากเรามีสายสัมพันธ์ที่ดีกับบริษัทต่างชาติ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทจากยุโรป อเมริกา หรือญี่ปุ่น ที่มีความต้องการสารสกัด CBD จากกัญชงอยู่แล้ว โดยในเบื้องต้น คงจะส่งออกเป็นวัตถุดิบราว 70% ที่เหลือ 30% จะต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องภาคอุตสาหกรรมสมัยใหม่” นายคณวัตร กล่าวในที่สุด

 

อนึ่ง บมจ.สวนอุตสาหกรรมโรจนะ ได้แจ้งต่อตลาดหลักทรพย์แห่งประเทศไทย ถึงเข้าถึงการถือหุ้นในกิจการของบริษัท เฮิร์บ เทรเชอร์ฯ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 14 ตุลาคมที่ผ่านมา