อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “ทรงตัว” ที่ระดับ 33.18 บาท/ดอลลาร์

15 ต.ค. 2564 | 00:41 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทระยะสั้นคงยังไม่เห็นการกลับไปอ่อนค่าหนักของเงินบาทและแนวต้านสำคัญของเงินบาทก็ขยับลงมาอยู่ในโซน 33.35-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกบางส่วนต่างรอขายเงินดอลลาร์อยู่

ค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.18 บาทต่อดอลลาร์ไม่เปลี่ยนแปลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า  มองกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.10-33.30 บาท/ดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทยระบุว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เรามองว่า เงินบาทยังคงได้แรงหนุนฝั่งแข็งค่าจากฟันด์โฟลว์ไหลเข้าสุทธิจากนักลงทุนต่างชาติ ที่อาจทยอยเข้ามาซื้อหุ้นไทยบนการเก็งกำไรธีม Reopening นอกจากนี้ เงินบาทยังมีแรงหนุน หากผู้ค้าทองคำเริ่มขายทำกำไรทองคำมากขึ้น หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ (ขายทำกำไรทองคำบนสกุลเงินดอลลาร์ แล้วแลกกลับเป็นเงินบาท) ซึ่งจากปัจจัยหนุนการแข็งค่าของเงินบาทดังกล่าว ทำให้เรามองว่า ในระยะสั้นคงยังไม่เห็นการกลับไปอ่อนค่าหนักของเงินบาทและแนวต้านสำคัญของเงินบาทก็ขยับลงมาอยู่ในโซน 33.35-33.50 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับที่ผู้ส่งออกบางส่วนต่างรอขายเงินดอลลาร์อยู่

 

ทั้งนี้ แม้ว่าเงินบาทอาจกลับมาแข็งค่าได้บ้าง แต่ เรายังมองว่า เงินบาทยังมีแนวรับสำคัญที่ 33 บาทต่อดอลลาร์ และการจะกลับไปแข็งค่าหนักในระยะสั้น อาทิ เช่น แข็งค่ากลับไปแตะระดับ 32.50 บาทต่อดอลลาร์ แบบในรอบก่อนหน้า อาจไม่ใช่เรื่องที่ง่ายนัก เพราะปัจจัยพื้นฐานยังไม่ได้ฟื้นตัวดีมากนัก อีกทั้ง สถานการณ์การระบาดของ COVID-19 ล่าสุด ก็ดูมีแนวโน้มน่ากังวลอยู่ หลังยอดผู้ติดเชื้อยังเพิ่มสูงขึ้น

 

อย่างไรก็ดี จะเห็นได้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเงินบาทมีการเคลื่อนไหวที่ผันผวนสูงและมีการกลับทิศทางได้เร็ว ดังนั้นเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ผู้ประกอบการควรพิจารณาใช้เครื่องมือเพิ่มเติม อาทิ การใช้ Options หรือบัญชี FCD ควบคู่ไปกับการใช้ Forward

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.10-33.30 บาท/ดอลลาร์

 

 

ตลาดการเงินโดยรวมเดินหน้าเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังผู้เล่นในตลาดลดความกังวลปัญหาการเร่งตัวขึ้นของอัตราเงินเฟ้อ รวมถึงแนวโน้มการเกิด Stagflation ขณะที่รายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียน โดยเฉพาะกลุ่มสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ก็ออกมาดีกว่าคาด หนุนให้บรรยากาศการลงทุนฟื้นตัวดีขึ้น และเชื่อว่าผู้เล่นในตลาดจะหันมาให้น้ำหนักรายงานผลประกอบการของบรรดาจดทะเบียนมากขึ้น

 

ภาวะเปิดรับความเสี่ยงของผู้เล่นในตลาด ได้หนุนให้ตลาดหุ้นในฝั่งสหรัฐฯ ปรับตัวขึ้นแข็งแกร่ง โดย ดัชนี S&P500 ปิดตลาด +1.7% เช่นเดียวกับ ดัชนี Dowjones ที่ปรับตัวขึ้นกว่า +1.6% โดยตลาดหุ้นสหรัฐฯ ได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นกลุ่มสถาบันการเงิน หลังผลประกอบการของ Bank of America, Citigroup และ Morgan Stanley ออกมาดีกว่าคาด

ส่วนทางด้านตลาดยุโรป ดัชนี STOXX50 ก็ปรับตัวขึ้นราว +1.6% เช่นกัน นำโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่มเทคฯ  Adyen +4.4%, ASML +3.9% นอกจากนี้ ตลาดหุ้นยุโรป ยังได้แรงหนุนจากการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ กลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือย Kering +2.8%, Louis Vuitton +2.0% ตามแนวโน้มการทยอยเปิดประเทศในหลายพื้นที่ซึ่งจะช่วยหนุนยอดขายของสินค้าฟุ่มเฟือย  

 

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ แม้ว่า ตลาดจะกลับมาเปิดรับความเสี่ยง ทว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี ทั่วโลกต่างย่อตัวลงต่อเนื่อง หลังผู้เล่นในตลาดเริ่มคลายกังวลปัญหาการเร่งตัวขึ้นของเงินเฟ้อ โดย บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ย่อตัวลง 4bps สู่ระดับ 1.51% ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ รวมถึง บอนด์ยีลด์ระยะยาวทั่วโลก ยังมีโอกาสปรับตัวขึ้นต่อได้ ตามทิศทางของนโยบายการเงินของบรรดาธนาคารกลางหลักที่จะเริ่มมีความเข้มงวดมากขึ้น อาทิ การทยอยคิวอี รวมถึงการส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางบางแห่ง นอกจากนี้ หากตลาดกลับมาเปิดรับความเสี่ยงอย่างต่อเนื่อง โดยไม่มีปัจจัยเสี่ยงให้กังวลมาก เชื่อว่าบอนด์ยีลด์ 10ปี ก็สามารถทยอยปรับตัวขึ้นต่อได้

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์โดยรวมทรงตัวเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังผู้เล่นบางส่วนทยอยลดการถือครองเงินดอลลาร์ ตามภาวะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นของตลาด อย่างไรก็ดี เงินดอลลาร์ยังพอมีโมเมนตัมช่วยพยุงอยู่บ้าง จากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ โดยเฉพาะยอดผู้ขอรับสวัสดิการการว่างงานครั้งแรก (Initial Jobless Claims) ที่ลดลงต่อเนื่อง ดีกว่าคาด หนุนแนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้นของเฟด ทั้งนี้ ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ยังแกว่งตัวใกล้ระดับ 94 จุด

 

นอกจากนี้ การเคลื่อนไหว Sideways ของเงินดอลลาร์และการปรับตัวลงของบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ได้หนุนให้ราคาทองคำ ยังคงทรงตัวใกล้ระดับ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเรามองว่า อาจเริ่มเห็นผู้เล่นบางส่วนเข้ามาขายทำกำไรทองคำมากขึ้น หลังราคาทองคำปรับตัวขึ้นใกล้แนวต้านสำคัญ อีกทั้ง ราคาทองคำก็มีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลง หากบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ พลิกกลับมาปรับตัวขึ้นตามการทยอยลดคิวอีของเฟดที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือนหน้าได้

 

สำหรับวันนี้ ตลาดจะติดตามสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ผ่านรายงานยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนกันยายน ที่อาจหดตัวราว -0.2% จากเดือนก่อนหน้า กดดันโดยยอดขายรถยนต์ที่ลดลง ซึ่งหากไม่รวมยอดขายรถยนต์และน้ำมัน ยอดค้าปลีกจะเพิ่มขึ้น +0.2%  สะท้อนว่าการใช้จ่ายในสหรัฐฯ ยังฟื้นตัวต่อเนื่อง แม้ว่าระดับราคาสินค้ายังอยู่ในระดับสูง นอกจากนี้ เรายังมองว่า การใช้จ่ายในสหรัฐฯ จะทยอยฟื้นตัวได้ดี หลังสถานการณ์การระบาดเริ่มดีขึ้นจากการเร่งแจกจ่ายวัคซีน ซึ่งจะสะท้อนผ่าน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (U of Michigan Consumer Sentiment) เดือนตุลาคม ที่จะปรับตัวขึ้นสู่ระดับ 73.5 จุด

 

และนอกเหนือจากการรายงานข้อมูลเศรษฐกิจดังกล่าว เราเชื่อว่า ปัจจัยสำคัญที่จะมีผลต่อตลาดการเงินในระยะนี้ คือ การรายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน ซึ่งถ้าหากงบออกมาดีกว่าคาดและแนวโน้มจะเติบโตได้ในอนาคตก็จะช่วยให้ตลาดทยอยเปิดรับความเสี่ยงต่อได้