เรื่องใกล้ตัวต้องรู้ " ถูกเลิกจ้าง ลูกจ้างต้องได้รับเงินชดเชยเท่าไร

11 ต.ค. 2564 | 05:12 น.

สถานการณ์โควิดและสภาพเศรษฐกิจ เพิ่มปัจจัยความเสี่ยงต่อ"ลูกจ้าง"ที่อาจถูกเลิกจ้างอย่างกระทันหันได้ทุกเมื่อ จึงควรตระเตรียมวางแผนทางการเงิน และรู้ว่าหากต้องถูกเลิกจ้างจะได้รับเงินชดเชย ไปใช้ในระหว่างที่ว่างงาน หรือเป็นเงินทุนในการหางานใหม่ได้อย่างไร

 

สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แม้จะมีทิศทางดีขึ้น จากมาตรการล็อกดาวน์และเร่งระดมฉีดวัคซีนให้คนไทย แต่ก็ยังไม่มีแนวโน้มว่ากลับสู่ภาวะปกติเมื่อไรและด้วยสภาพเศรษฐกิจ ทำให้หลายธุรกิจต้องปิดกิจการลงและลดต้นทุน ส่งผลให้สภาพจ้างงานอยู่ในภาวะที่ไม่มั่งคง เป็นความเสี่ยงกับ"ลูกจ้าง" ที่มีสิทธิถูกเลิกจ้าง"ได้ทุกเมื่อ 

ข้อมูลจากสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) รายงานตัวเลขการว่างงาน ไตรมาส 2 ปีนี้มีประมาณ 7.3 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน 1.89% จำนวนนี้เป็นผู้ว่างงานมานานเกิน1 ปีสูงถึง 20% ขณะที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) รศ.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านการพัฒนาแรงงาน ฝ่ายการวิจัยทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาสังคม ประเมินว่าอัตราการว่างงานปี 2564 อยู่ที่  2.5-3% และจำนวนผู้ว่างงานอาจแตะถึง 1 ล้านคน หากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ยังยืดเยื้อ

ดังนั้นจึงเป็นเรื่องใกล้ตัวที่ต้องรู้ว่า หากถูกเลิกจ้าง หรือให้ออกจากงาน โดยไม่ได้มาจากความผิดของพนักงานหรือลูกจ้าง   นายจ้างจะต้องจ่ายเงินค่าชดเชยเพื่อให้มีเงินใช้ในระหว่างที่ว่างงาน หรือเป็นเงินทุนในการหางานใหม่อย่างไร

 

เงินค่าชดเชยที่นายจ้างจะต้องชดเชย สามารถแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ ๆ และตามกฎหมายลูกจ้างต้องได้รับค่าชดเชย ดังนี้

 

1. ค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างกรณีทั่วไป (รวมถึงการเลิกจ้าง เพราะสถานการณ์โควิด - 19)

  • หากลูกจ้างทำงานมายังไม่ถึง 120 วัน นายจ้างจะไม่จ่ายค่าชดเชยก็ได้
  • หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 120 วัน - 1 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 30 วัน ในอัตราสุดท้าย
  • หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 1 - 3 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 90 วัน ในอัตราสุดท้าย
  • หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 3 - 6 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 180 วัน ในอัตราสุดท้าย
  • หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 6 - 10 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 240 วัน ในอัตราสุดท้าย
  • หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 10 - 20 ปี นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 300 วัน ในอัตราสุดท้าย
  • หากลูกจ้างทำงานมาแล้ว 20 ปีขึ้นไป นายจ้างต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างการทำงาน 400 วัน ในอัตราสุดท้าย

 

2. ค่าเสียหายจากการไม่บอกกล่าวล่วงหน้า

  • ค่าเสียหายนี้เกิดในกรณีหากนายจ้าง "ไล่ออก" ทันทีโดยไม่บอกล่วงหน้า ถือว่า นายจ้างทำผิดสัญญาจ้างแรงงาน นอกจากจะต้องจ่ายค่าชดเชยตามกรณีเลิกจ้างทั่วไป ตามข้อ 1 แล้ว (มาตรา 118) ยังต้องจ่ายค่าเสียหายจากการไม่บอกกล่าวล่วงหน้าด้วย ตามมาตรา 17/1 เป็นจำนวนเท่ากับค่าจ้างในอัตราที่ลูกจ้างได้รับอยู่อัตราสุดท้าย คิดเต็มจำนวนเสมือนหนึ่งว่านายจ้างได้บอกกล่าวล่วงหน้าให้เตรียมตัวก่อนออกจากงาน แต่ค่าเสียหายจำนวนนี้จะคิดอย่างมากที่สุด ไม่เกินค่าจ้างสามเดือน

 

ข้อมูลจาก : พระราชบัญญัติ คุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 มาตรา 118 และมาตรา 17/1

มา : กระทรวงยุติธรรม,  กระทรวงแรงงาน 
 

เรื่องใกล้ตัวต้องรู้ " ถูกเลิกจ้าง ลูกจ้างต้องได้รับเงินชดเชยเท่าไร