ICO หนึ่งทางเลือกลงทุนใหม่ ผลตอบแทนคุ้ม

01 ต.ค. 2564 | 04:17 น.

ก.ล.ต.หนุนลงทุนทางเลือกใหม่ “ICO” หลังพบการเติบโตก้าวกระโดด ชี้ผู้ระดมทุนเข้าถึงง่าย คล่องตัว ด้านนักลงทุนได้ผลตอบแทนสูง พร้อมประเดิมรายแรก “สิริฮับ”

ในสถานการณ์ที่ตัวแปรมีความผันผวน นักลงทุนต้องแสวงหาการลงทุน เพื่อให้ได้ผลตอบแทนที่ดี จึงไม่แปลกใจที่การลงทุนในรูปแบบต่างๆ จะเริ่มมีการพัฒนาออกมาเพื่อเป็นตัวเลือก อีกทั้งยังสอดคล้องกับเทคโนโลยีที่ก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะสินทรัพย์ดิจิทัลที่เริ่มเป็นที่นิยมและเข้ามามีบทบาทในการลงทุนมากขึ้น

 

รูปแบบหนึ่งที่น่าสนใจในขณะนี้คือ Initial Coin Offering (ICO) หรือการระดมทุนแบบดิจิทัลด้วยการเสนอขายดิจิทัลโทเคน (Digital token) ที่มีลักษณะคล้ายกับการเสนอขายหุ้นสามัญแก่ประชาชนทั่วไปเป็นครั้งแรก (ไอพีโอ) ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) นั่นเอง

 

การเติบโตแบบก้าวกระโดดของ ICO ช่วงที่ผ่านมา จากช่องทางการเข้าถึงเงินทุนที่สะดวก รวดเร็ว และค่าใช้จ่ายไม่สูงนัก ทำให้ได้รับความนิยมจากกลุ่มเทคสตาร์ทอัพ ขณะที่นักลงทุนมีขั้นตอนการซื้อขายที่ไม่ยุ่งยาก และมีโอกาสได้ผลตอบแทนที่สูง

 

ส่งผลให้สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เล็งเห็นและมีโอกาสเข้ามามีบทบาท เพราะ Digital token ที่ผู้ระดมทุนเป็นผู้ออกบางกรณี อาจมีลักษณะเข้าข่ายเป็นตราสารทางการเงินคล้ายกับหลักทรัพย์ที่อยู่ภายใต้พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535

กระบวนการเสนอขาย ICO นั้น มีความง่ายและคล่องตัวสำหรับธุรกิจมาก ซึ่งในขั้นต้นสตาร์ทอัพจะแสดงเจตนารมณ์ที่จะระดมทุนผ่าน ICO ทางเว็บไซต์ เพื่อเป็นแนวทางให้นักลงทุน รวมถึงประเมินกระแสความสนใจผ่านสื่อโซเชียลมีเดีย จากนั้นบริษัทจะทำการเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับโครงการ รูปแบบธุรกิจ และแผนการเสนอขายผ่านเอกสารที่เรียกว่า White paper ซึ่งในขั้นตอนนี้ บริษัทจะได้รับข้อเสนอแนะจากผู้ที่สนใจ และอาจแก้ไข White paper เพื่อปรับปรุงโครงการให้ดียิ่งขึ้นได้

 

ขั้นตอนสุดท้ายก่อนเสนอขาย จะมีการทำการตลาด (Road show) ผ่านสื่อออนไลน์ ซึ่งมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่าการทำไอพีโอมาก และมีการกำหนดวันเสนอขาย บางบริษัทอาจจัดให้มี Pre-sale ก่อนเสนอขายจริงก็ได้

 

การเสนอขายนั้น จะทำผ่านระบบสัญญาอัจฉริยะ (Smart contact) ให้นักลงทุนทำการโอนแลกเหรียญเงินดิจิทัลกับ Digital token ของบริษัท ผ่านการแลกเปลี่ยนที่อยู่กระเป๋าเงินดิจิทัลของทั้งสองฝ่าย เป็นวิธีที่สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว อีกทั้ง Digital token ดังกล่าวก็จะเข้าไปจดทะเบียนในตลาดซื้อขายเหรียญเงินดิจิทัล และ Digital token ต่อไปเพื่อให้นักลงทุนซื้อขายเปลี่ยนมือได้

ผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล

 อย่างไรก็ตาม การลงทุนใน ICO มีโอกาสได้ผลตอบแทนสูงมากหากประสบความสำเร็จ แต่นักลงทุนต้องศึกษา ทำความเข้าใจรูปแบบการลงทุนก่อนตัดสินใจเพื่อลดความเสี่ยง โดยจำเป็นต้องทราบถึงจุดประสงค์การนำเงินไปใช้และแผนธุรกิจของผู้ระดมทุน, ทราบสิทธิผู้ถือโทเคน token จาก White paper, ตรวจสอบว่ามีการเปิดเผย Smart contract บนเว็บไซต์ ที่สอดคล้องกับ White paper และตรวจสอบความน่าเชื่อถือของกระเป๋าเงินดิจิทัล หรือแพลตฟอร์มที่ใช้ในการระดมทุน

 

นอกจากนี้ นักลงทุนต้องระวังโดนโกงหรือหลอกลวงจากต่างประเทศ เนื่องจาก ICO เป็นธุรกรรมข้ามประเทศ หากธุรกิจไม่มีข้อมูลให้ตรวจสอบได้อย่างเพียงพอ และอาจมีข้อจำกัดในการได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายหรือการดำเนินการทางกฎหมายในต่างประเทศ, อาจซื้อขายเปลี่ยนมือได้ยากหาก Digital token ที่ลงทุนไว้ไม่ได้รับความนิยม, ระมัดระวังธุรกิจล้มเหลว เนื่องจากการลงทุนใน ICO ส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในโครงการที่ก่อตั้งใหม่ และระวังสัญญาณอันตราย หรือโฆษณาชวนเชื่อต่างๆ

 

ปัจจุบันมีบริษัทที่เป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ที่ได้รับใบอนุญาตจากก.ล.ต.แล้วจำนวน 6 ราย คือ บริษัท ลองรูท (ประเทศไทย) จำกัด, บริษัท ที-บ็อกซ์ (ไทยแลนด์) จำกัด, บริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด และบริษัท บิเธิร์บ จำกัด ส่วนบริษัท คิวบิกซ์ ดิจิทัล แอสเสท จำกัด และบริษัท แฟรคชั่น (ประเทศไทย) จำกัด ยังไม่เริ่มประกอบธุรกิจ

 

ล่าสุด มีการเสนอขาย ICO แล้ว 1 ราย เริ่มเปิดให้จองซื้อเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2564 คือ “โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนสิริฮับ” (SiriHub Investment Token) ของบริษัท เอ็กซ์สปริง ดิจิทัล จำกัด โดยเป็นโทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุนที่อ้างอิงกระแสรายรับจาก “สิริ แคมปัส” สำนักงานใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) (SIRI) เป็นอสังหาริมทรัพย์อ้างอิง (Real Estate-backed ICO)

 

ทั้งนี้ สิริฮับมูลค่าการระดมทุนรวมที่ 2,400 ล้านบาท นักลงทุนจะได้รับผลประโยชน์ตามที่ระบุไว้บนสัญญาอัจฉริยะ (Smart Contract) จะแบ่งเสนอขายเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่ สิริฮับ A (SiriHubA) มูลค่าการระดมทุน 1,600 ล้านบาท ส่วนแบ่งรายได้รายไตรมาสไม่เกิน 4.5% ต่อปี และ สิริฮับ B (SiriHubB) มูลค่าการระดมทุน 800 ล้านบาท ส่วนแบ่งรายได้รายไตรมาสไม่เกิน 8% ต่อปี และทั้งสองกลุ่มจะได้รับส่วนแบ่งจากการจำหน่ายทรัพย์สินเมื่อสิ้นสุดโครงการ

 

“ช่วงที่ต้องก้าวข้ามผ่านวิกฤติต่างๆ ต้องมีความระมัดระวังเสมอ เพราะความเสี่ยงมีอยู่รอบด้าน ขณะเดียวกันการลงทุนในรูปแบบใหม่ๆ โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ดิจิทัล ถือเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่ และจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ให้ผลตอบแทนอย่างน่าพอใจ”

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,718 วันที่ 30 กันยายน - 2 ตุลาคม พ.ศ. 2564