ธปท.จ่อออกมาตรการเพิ่มแรงจูงใจรวมหนี้

30 ก.ย. 2564 | 04:41 น.

ธปท.เดินหน้ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะสั้นและยาว เล็งออกเกณฑ์ใหม่ หนุน รีไฟแนนซ์ ห้ามคิดค่าธรรมเนียมกรณีปิดบัญชี และให้คิดดอกเบี้ยต่ำเพีปๆยงหลักเดียว หวังผลักดันการรวมหนี้ให้เกิดขึ้น

นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า มาตรการสินเชื่อฟื้นฟูล็อตแรก แม้จะครบ 1 แสนล้านบาทตามเป้าหมาย โดยสามารถปล่อยได้  1.06 แสนล้านบาท มีผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ 3.45 หมื่นราย เฉลี่ย 3.07 ล้านบาทต่อราย แต่ธปท.ได้ปรับเกณฑ์เพิ่ม เช่น เพิ่มเติมวงเงินให้ลูกหนี้เดิมที่ไม่เคยใช้เงินของตัวเอง เติมเพดานให้เข้าถึงมากขึ้น รวมถึงเพิ่มเติมการค้ำประกันรายตัวและรายเล็กที่สูงขึ้น

  นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายและกำกับสถาบันการเงิน 2 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)

“จากนี้ไป เราจะติดตามดูโปรแกรมที่แบงก์ออกมาว่า จะเสนอความช่วยเหลือลูกหนี้อย่างไรและขอให้แบงก์กำหนดเป้าหมายด้วย คาดว่าเดือนตุลาคมคงจะเห็นภาพและผลักดันมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะยาวที่ออกมาเมื่อวันที่ 3 กันยายน เพื่อให้ต่อท่อกับมาตรการพักชำระหนี้ 2 เดือนที่จะครบกำหนด” นางสาวสุวรรณี กล่าว

นางอรมนต์ จันทพันธ์ รองผู้อำนวยการกลุ่มงานปรับโครงสร้างหนี้ ธปท.กล่าวเพิ่มเติมว่าธปท.กำลังจะออกมาตรการในกลางเดือนหน้า เพื่อเพิ่มแรงจูงใจให้มาตรการรวมหนี้เกิดขึ้นได้ รวมถึงส่งเสริมทางการเงินด้วย เพราะมาตรการรวมหนี้ เป็นการรวมหนี้สินเชื่อไม่มีหลักประกัน (บัตรเครดิตหรือสินเชื่อส่วนบุคคล) ใช้หลักประกันของสินเชื่อบ้านที่ลูกหนี้มี และรวมหนี้ในธนาคารเดิมหรือต่างธนาคาร ซึ่งอัตราดอกเบี้ยจะลดลงอย่างมาก

นางอรมนต์ จันทพันธ์ รองผู้อำนวยการกลุ่มงานปรับโครงสร้างหนี้ ธปท.

 

เช่น สินเชื่อส่วนบุคคลอัตรา 25% ถ้าหากนำมารวมกับสินเชื่อบ้านดอกเบี้ยสินเชื่อบุคคลจะสูงกว่า สินเชื่อบ้านเล็กน้อย แต่ยังอยู่เป็นตัวเลขหลักเดียว อาจจะได้รับลดอัตราดอกบี้ยถึง 10%    

 

นอกจากนั้นยังพบว่า มีลูกหนี้บางส่วนที่มีประวัติการชำระหนี้ที่ดีสำหรับการรีไฟแนนซ์ ไม่ว่าจะเป็นสินเชื่อส่วนบุคคล สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ ซึ่งจะเป็นแนวทางช่วย เหลือเพื่อให้ลูกหนี้ได้รับดอกเบี้ยในอัตราลดลง โดยจะห้ามไม่ให้ใช้อัตราดอกเบี้ยคงที่ และห้ามคิดค่าธรรมเนียมกรณีลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนกำหนดหรือปิดบัญชีก่อนกำหนด

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,718 วันที่ 30 กันยายน - 2 ตุลาคม พ.ศ. 2564