อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 33.84 บาท/ดอลลาร์

29 ก.ย. 2564 | 00:34 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทขยับกรอบการแกว่งตัว โดยแนวต้านสำคัญจะอยู่ในช่วง 33.85-34.00 บาท/ดอลลาร์ แนะติดตามผลประชุม กนง. บ่ายของวันนี้

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.84 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.77 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย  ระบุว่า แนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมุมมองว่า  ในระยะสั้น เงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าต่อได้ หลังเงินบาทอ่อนค่าและยืนเหนือแนวต้านสำคัญที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ ทำให้ในช่วงที่เงินดอลลาร์ยังมีโมเมนตัมหนุนการแข็งค่าอยู่นั้น เงินบาทจะขยับกรอบการแกว่งตัว โดยแนวต้านสำคัญจะอยู่ในช่วง 33.85-34.00 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งเราประเมินว่า ระดับดังกล่าวจะเริ่มเห็นผู้ส่งออกมาทยอยขายเงินดอลลาร์มากขึ้น

 

นอกจากนี้ ควรติดตามผลการประชุม กนง. ในช่วงบ่ายของวันนี้ เพราะหาก กนง. มีมติคงดอกเบี้ยนโยบาย พร้อมกับ มีมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจในปีหน้า เรามองว่า ภาพดังกล่าวอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทลงได้

 

อย่างไรก็ดี เรายังไม่เห็นโอกาสที่เงินบาทจะกลับมาแข็งค่าได้ชัดเจน จนกว่าปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ในตลาดจะเริ่มคลี่คลายและทิศทางการฟื้นตัวเศรษฐกิจจะเริ่มดีขึ้น โดยแนวรับสำคัญของเงินบาทจะอยู่ในโซน 33.30 บาทต่อดอลลาร์

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.75-33.95 บาท/ดอลลาร์

 

ตลาดการเงินโดยรวมยังคงเผชิญแรงเทขายสินทรัพย์ที่รุนแรง ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มการทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่องหรือลดคิวอี รวมถึงแนวโน้มการทยอยขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางหลัก ที่ส่งผลให้บอนด์ยีลด์ 10ปี ทั่วโลกต่างปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง กดดันราคาสินทรัพย์เสี่ยงโดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มเทคฯ

 

นอกจากนี้ โมเมนตัมการฟื้นตัวเศรษฐกิจที่เริ่มชะลอตัวลง ไปพร้อมกับทิศทางเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ยังคงสร้างความกังวลแนวโน้มการเกิดภาวะ Stagflation (เศรษฐกิจขยายตัวต่ำ แต่เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง) ซึ่งผู้เล่นในตลาดการเงินมองว่า มีโอกาสที่จะเกิดภาพดังกล่าวได้ หากเศรษฐกิจจีนชะลอลงหนักจากวิกฤติหนี้ Evergrande  รวมถึงราคาสินค้าพลังงานทรงตัวในระดับสูง และปัญหาด้าน Supply-chain ที่จะส่งผลกระทบต่อความต้องการสินค้าและต้นทุนภาคการผลิต

 

นอกเหนือจากความกังวลดังกล่าวในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดยังเผชิญความไม่แน่นอนทางการเมืองสหรัฐฯ หลังสภาคองเกรสยังไม่สามารถตกลงกันได้ในประเด็นขยายเพดานหนี้ ซึ่งอาจทำให้สหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ได้ในช่วงกลางเดือนตุลาคม ภาวะปิดรับความเสี่ยงดังกล่าวของตลาดสหรัฐฯ ได้กดดันให้ ดัชนีหุ้นเทคฯ Nasdaq ดิ่งลง -2.8% เช่นเดียวกันกับ ดัชนี S&P500 ที่ปิดตลาด -2.0% 

ส่วนทางด้านตลาดยุโรป ดัชนี STOXX50 พลิกกลับมาปรับตัวลงกว่า -2.6% กดดันโดยแรงเทขายหุ้นเทคฯ หลังบอนด์ยีลด์ 10ปี ทั่วโลกต่างปรับตัวสูงขึ้น ส่งผลให้ ASML -7.2%, Adyen -5.4%, Infineon Tech. 5.4% ขณะเดียวกัน หุ้นสินค้าแบรนด์เนมก็เผชิญแรงเทขายจากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจจีนชะลอตัวลง Adidas -4.1%, Louis Vuitton -3.1%

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ แนวโน้มการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อาทิ การลดคิวอี รวมถึง การทยอยขึ้นดอกเบี้ย และทิศทางเงินเฟ้อที่ยังทรงตัวในระดับสูง ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ 10ปี ทั่วโลกต่างปรับสูงขึ้น โดย บอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ปรับตัวขึ้น กว่า 7bps สู่ระดับ 1.55% เช่นเดียวกับ บอนด์ยีลด์ 10ปี ในฝั่งยุโรป อาทิ บอนด์ยีลด์ 10ปี อังกฤษ ที่ปรับตัวขึ้นกว่า 4bps สู่ระดับ 1.0% ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดตั้งแต่ไตรมาส 1 ของปีก่อน

 

ทั้งนี้ เรามองว่า บอนด์ยีลด์ 10ปี โดยเฉพาะ ยีลด์ในฝั่งสหรัฐฯ อาจเผชิญความผันผวนต่อได้ เนื่องจากทั้งสัปดาห์จะมีบรรดาเจ้าหน้าที่เฟดออกมาแถลงอีกหลายท่าน รวมถึง ตลาดจะรอจับตาแนวโน้มการเจรจา Debt Ceiling ของสหรัฐฯ ว่าจะมีทิศทางอย่างไร เพราะหากสภาคองเกรสยังไม่อนุมัติขยายเพดานหนี้ก็อาจทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ เผชิญความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้ได้

 

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์ยังคงเดินหน้าแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หนุนโดยบอนด์ยีลด์ 10ปี สหรัฐฯ ที่ปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากผู้เล่นในตลาดยังคงมีความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อรับมือกับความผันผวนในตลาด จากทั้งประเด็น Evergrande รวมถึงความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอตัวลง

 

ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 93.70 จุด กดดันให้ ค่าเงินยูโร (EUR) อ่อนค่าลงสู่ระดับ 1.168 ดอลลาร์ต่อยูโร ส่วนค่าเงินเยน (JPY) ก็อ่อนค่าแตะระดับ 111.6 เยนต่อดอลลาร์ ในขณะที่ ค่าเงินปอนด์ (GBP) พลิกกลับมาอ่อนค่าหนัก สู่ระดับ 1.354 ดอลลาร์ต่อปอนด์ หลังผู้เล่นในตลาดต่างกังวลแนวโน้มเงินเฟ้อเร่งตัวขึ้น จากการเร่งตัวขึ้นราคาสินค้าพลังงาน ท่ามกลางภาวะขาดแคลนน้ำมันที่ล่าสุดส่งผลให้ ปั๊มน้ำมันบางแห่งในอังกฤษไม่สามารถให้บริการได้

 

สำหรับวันนี้ เรามองว่า ไฮไลท์สำคัญจะอยู่ที่ การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของไทย โดยเรามองว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่จะถึงนี้ กนง. จะมีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.50% หลังการระบาดเริ่มคลี่คลายลง

 

ส่วนการแจกจ่ายวัคซีนก็สามารถเร่งตัวขึ้นได้มากและรัฐบาลได้เตรียมกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจการคลังเพิ่มเติม หลังขยายเพดานหนี้สาธารณะเป็น 70% ของ GDP ทั้งนี้ควรจับตามุมมองของ กนง. ต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและปัจจัยเสี่ยงต่อเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปีนี้ รวมถึงปีหน้า เพราะหาก กนง. มีมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจมากขึ้น โดยเฉพาะในปีหน้า อาทิ กนง. คงมองว่า รัฐบาลจะสามารถทยอยเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ และจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไม่น้อยกว่า 6 ล้านคน มุมมองดังกล่าวก็อาจช่วยชะลอแรงกดดันฝั่งอ่อนค่าของเงินบาทในช่วงนี้ได้

 

ทางด้านศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เช้านี้ (29 ก.ย.) เงินบาทอ่อนค่าลงทดสอบแนว 33.90 บาทต่อดอลลาร์ฯ ก่อนจะมาเคลื่อนไหวที่ระดับประมาณ 33.87-33.89 บาทต่อดอลลาร์ฯ เทียบกับระดับปิดตลาดวานนี้ที่ 33.76 บาทต่อดอลลาร์ฯ  โดยเงินบาทอ่อนค่าลงท่ามกลางการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ฯ ที่ได้รับแรงหนุนจากบอลด์ยีลด์สหรัฐฯ อายุ 10 ปีซึ่งปรับตัวสูงขึ้นมายืนเหนือ 1.50% ประกอบกับถ้อยแถลงของประธานเฟดสะท้อนว่า สหรัฐฯ มีแนวโน้มที่จะเผชิญแรงกดดันเงินเฟ้อสูงเป็นระยะเวลานานกว่าที่คาดไว้

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ คาดไว้ที่ 33.75-34.00 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ผลการประชุมกนง. ทิศทางฟันด์โฟลว์ของนักลงทุนต่างชาติ สถานการณ์โควิดในประเทศ ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดทำสัญญาขายบ้านที่รอปิดการขาย (pending home sales) เดือนส.ค.