อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ “อ่อนค่า” ที่ระดับ 33.46 บาท/ดอลลาร์

24 ก.ย. 2564 | 00:35 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทหากอ่อนค่าทะลุแนวต้าน33.50บาท/ดอลลาร์ได้ ก็สามารถอ่อนค่าต่อได้ถึงระดับ 33.80-33.85 บาทต่อดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  33.46 บาทต่อดอลลาร์ “อ่อนค่า”ลงเล็กน้อยจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ  33.44 บาทต่อดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์   นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระว่าแนวโน้มค่าเงินบาท เราคงมุมมองว่า  ในระยะสั้น เงินบาทยังมีโอกาสอ่อนค่าและอาจทดสอบแนวต้านสำคัญที่ระดับ 33.50 บาทต่อดอลลาร์ได้ ตามการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ และ การอ่อนค่าลงของเงินหยวน จากประเด็นความเสี่ยง Evergrande ขณะเดียวกัน ปัจจัยในประเทศก็ยังมีผลต่อแนวโน้มเงินบาท หากนักลงทุนต่างชาติยังคงทยอยเทขายสินทรัพย์ไทยอย่างต่อเนื่อง ทว่า เรามองว่า แรงเทขายสินทรัพย์ไทยโดยนักลงทุนต่างชาติ อาจเริ่มจำกัดลง ยกเว้นในกรณีที่ ปัญหา Evergrande ลุกลามส่งผลกระทบหนักต่อเศรษฐกิจจีน ซึ่งอาจทำให้นักลงทุนต่างชาติกลับมาเทขายสินทรัพย์ในฝั่ง EM ได้อีกรอบ

 

ทั้งนี้ เรามองว่า หากเงินบาทสามารถอ่อนค่าทะลุแนวต้านได้ ก็สามารถอ่อนค่าต่อได้ถึงระดับ 33.80-33.85 บาทต่อดอลลาร์ ทว่า หากเงินบาทไม่สามารถผ่านแนวต้านได้ เราเชื่อว่า จะเริ่มเห็นการกลับตัวของเงินบาท ซึ่งมีโอกาสกลับมาแข็งค่าสู่ระดับ 32.70-32.80 บาทต่อดอลลาร์ ได้เช่นกัน

 

มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 33.40-33.55 บาท/ดอลลาร์

 

ผู้เล่นในตลาดการเงินเริ่มกล้าที่จะเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น หลังจากความไม่แน่นอนหลักที่สำคัญ อย่าง ผลการประชุมเฟดนั้นไม่ได้ผิดไปจากที่ตลาดคาดการณ์ไว้มากนัก โดยเฟดยังคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.00-0.25% จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวดีขึ้นสู่เป้าหมาย ทั้งนี้ เฟดยังได้ระบุว่า การทยอยลดคิวอีของเฟดอาจเริ่มได้ในเร็วนี้ และเฟดจะสามารถหยุดการซื้อสินทรัพย์ได้ภายในกลางปีหน้า ทั้งนี้ ประธานเฟดได้ระบุว่า การลดคิวอีอาจเกิดขึ้นได้ในช่วงเดือนพฤศจิกายน ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยของเฟดนั้นจะเกิดขึ้นหลังการทำคิวอียุติลง

อย่างไรก็ดี ในประมาณการแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยนโยบายเฟดล่าสุดหรือ Dot Plot พบว่า มีจำนวนเจ้าหน้าที่เฟดหลายท่านที่สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2022 ขณะเดียวกัน เจ้าหน้าที่เฟดส่วนใหญ่ก็สนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยถึงราว 3 ครั้ง ในปี 2023 และ ปี 2024 ซึ่งมากกว่าที่ประมาณการในเดือนมิถุนายนและคาดการณ์ของตลาดเล็กน้อย อย่างไรก็ดี ในระยะสั้น ผู้เล่นในตลาดจะยังไม่กล้าเปิดรับความเสี่ยงเต็มที่ เนื่องจากผู้เล่นตลาดต่างรอจับตาแนวทางการแก้ปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท Evergrande

 

อนึ่ง ภาพตลาดทยอยเปิดรับความเสี่ยงมากขึ้นนั้น ได้หนุนให้ในฝั่งตลาดการเงินในฝั่งสหรัฐฯ ดัชนี Dowjones รีบาวด์ขึ้นมากว่า 1.0% เช่นเดียวกันกับ ดัชนี S&P500 ที่ปิดตลาด +0.95%

 

ส่วนทางด้านตลาดยุโรป ดัชนี STOXX50 เดินหน้าปรับตัวขึ้นต่อเนื่องกว่า +1.29% หนุนโดยการปรับตัวขึ้นของหุ้นในกลุ่ม Cyclical อาทิ Daimler +3.97%, BNP Paribas +3.50%, Total Energies +2.56%

 

ในฝั่งตลาดบอนด์ แนวโน้มเฟดทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ยมากกว่าที่ตลาดคาดการณ์เล็กน้อยนั้น ได้ส่งผลให้ บอนด์ยีลด์ระยะสั้นปรับตัวขึ้น ในขณะที่บอนด์ยีลด์ระยะยาว อย่าง บอนด์ยีลด์ 10ปี ย่อตัวลงเล็กน้อย สู่ระดับ 1.30% หรือกล่าวได้ว่า ความชันของบอนด์ยีลด์เคิร์ฟปรับตัวลดลง (Curve Flattening) สะท้อนว่าผู้เล่นในตลาดเริ่มรับรู้แนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ซึ่งก็เป็นไปตามที่เฟดคาดหวังไว้ว่า ตลาดควรจะเริ่มรับรู้แนวโน้มการปรับเปลี่ยนนโยบายล่วงหน้า เพื่อลดความผันผวนในตลาดเมื่อเฟดมีการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินจริง

ทางด้านตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก หลังตลาดมองว่า ผลการประชุมล่าสุดของเฟด มีแนวโน้มที่จะสนับสนุนนโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่มีเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ออกมาสนับสนุนการขึ้นดอกเบี้ยในปี 2022 รวมถึง การปรับแนวโน้มการขึ้นดอกเบี้ยในอนาคตที่มากกว่าเดิม

 

นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากผู้เล่นในตลาดยังคงมีความต้องการถือเงินดอลลาร์เป็นสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อรับมือกับความผันผวนในตลาด จากประเด็น Evergrande ล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 93.50 จุด กดดันให้ ราคาทองคำย่อตัวลงมาสู่ระดับ 1,766 ดอลลาร์ต่อออนซ์ แต่โดยรวมยังทรงตัวในระดับดังกล่าว เนื่องจากผู้เล่นในตลาดยังถือสินทรัพย์ปลอดภัยมากขึ้น ท่ามกลางความกังวลปัญหา Evergrande 

สำหรับวันนี้ เรามองว่า นอกเหนือจากประเด็นปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ของบริษัท Evergrande ตลาดจะจับตาผลการประชุมของธนาคารกลางอังกฤษ (BOE)  โดยการฟื้นตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจอังกฤษ ทำให้บรรดานักวิเคราะห์มองว่า ธนาคารกลางอังกฤษ (BOE) อาจเริ่มส่งสัญญาณสนับสนุนการใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น (Tightening Policy) อาทิ อาจมีเสียงสนับสนุนการทยอยลดคิวอีมากขึ้น ทั้งนี้ ตลาดมองว่า BOE จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 0.10% และอาจเริ่มทยอยขึ้นดอกเบี้ยได้ในครึ่งหลังของปีหน้า หากเศรษฐกิจฟื้นตัวได้ตามเป้า

 

ส่วนในฝั่งไทย ตลาดประเมินว่า ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ที่มีความรุนแรงมาก ทั้งในต่างประเทศและในประเทศช่วงเดือนสิงหาคม จะกดดันให้ ยอดการส่งออกไทย (Exports) ขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง เหลือ +17%y/y เช่นเดียวกับ ยอดนำเข้า (Imports) ที่จะขยายตัวเพียง +40% ทั้งนี้ ดุลการค้ายังคงเกินดุลราว 1.4 พันล้านดอลลาร์