สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ผนึกพันธมิตรช่วยSMEระงับข้อพิพาทเร่งด่วน

21 ก.ย. 2564 | 09:27 น.

สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย จับมือ สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีปัญหาด้านกฎหมาย เร่งระงับข้อพิพาทเร่งด่วน

สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม โดย ดร.วรวงศ์ อัจฉราวงศ์ชัย ผู้พิพากษาศาลชั้นต้นประจำสำนักประธานศาลฎีกา ผู้อำนวยการบริหารสถาบันอนุญาโตตุลาการ เซ็น MOU  กับ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย โดย นายแสงชัย ธีรกุลวาณิช ประธานสมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย เพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการที่เสริมสร้างประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมายที่เกี่ยวข้องกับ ผู้ประกอบการในการดำเนินธุรกิจและการระงับข้อพิพาททางเลือกทั้งการไกล่เกลี่ยและการอนุญาโตตุลาการ

 

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการบังคับใช้กฎหมาย อันจะส่งเสริมให้การประกอบธุรกิจโดยทั่วไปมีการแข่งขันทางการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม เป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจและสังคมในองค์รวม ดังนั้น เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าวจึงตกลงจัดทำบันทึกข้อตกลงฉบับนี้ขึ้น โดยมีหลักการในการให้ความร่วมมือ ดังนี้

 

1. สถาบันอนุญาโตตุลาการ กับ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ร่วมกันส่งเสริมความร่วมมือด้านวิชาการ เพื่อเสริมสร้างองค์ความรู้ด้านกฎหมายเกี่ยวกับการระงับข้อพิพาททางเลือก ไม่ว่าจะเป็นการไกล่เกลี่ยหรือการอนุญาโตตุลาการ พร้อมทั้งแลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นในการพัฒนา ปรับปรุง กฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับ และแนวปฏิบัติเกี่ยวข้องกับหน่วยงานทั้งสอง

 

2. สถาบันอนุญาโตตุลาการ กับ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ร่วมกันสนับสนุนด้านการประชาสัมพันธ์ เผยแพร่ความรู้ด้านการอนุญาโตตุลาการ การระงับข้อพิพาททางเลือกด้านอื่น ๆ กฎหมายเกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ โดยวิธีการบรรยาย การประชุม การสัมมนาหรือทางอื่นใด เพื่อให้ผู้ประกอบธุรกิจเอสเอ็มอี และประชาชนทั่วไปมีความรู้ ความเข้าใจและสามาระเลือกใช้กระบวนการระงับข้อพิพาทที่เหมาะสมกับข้อพิพาทของตน

 

3. สถาบันอนุญาโตตุลาการ กับ สมาพันธ์เอสเอ็มอีไทย ร่วมกันพัฒนาและขึ้นทะเบียน อนุญาโตตุลาการที่มีความเชี่ยวชาญในข้อพิพาทเกี่ยวกับธุรกิจและการค้าการลงทุน รวมทั้งให้ข้อมูลให้คำปรึกษา และความเห็น เพื่อพัฒนาหน่วยงานทั้งสอง และสนับสนุนกระบวนการด้านการอนุญาโตตุลาการและการระงับข้อพิพาททางเลือกด้านอื่น ๆ

 

สถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจจากการแพร่ระบาด COVID-19 ถึงไตรมาส 2 ปี 2564 พบว่าสินเชื่อทั้งหมด 16,680,588 ล้านบาท เป็นสินเชื่อชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special mention) 1,059,343 ล้านบาท หรือ 6.35% ของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในประเทศ และสินเชื่อทั้งหมดที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 541,081 ล้านบาท หรือ 3.24% ของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในประเทศ รวม SM และ NPL สูงถึง 1,600,424 ล้านบาท หรือ 9.59% ของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในประเทศ และหากจำแนกสินเชื่อแก่ธุรกิจเอสเอ็มอีจะพบว่าสินเชื่อเอสเอ็มอีทั้งหมด 3,368,125 ล้านบาท หรือ คิดเป็น 20.19% ของสินเชื่อทั้งหมด 

 

โดยสินเชื่อเอสเอ็มอีเป็นสินเชื่อชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ (Special mention) 416,002 ล้านบาท หรือ 12.35%% ของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในประเทศ และสินเชื่อทั้งหมดที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) 246,108 ล้านบาท หรือ 7.31% ของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในประเทศ รวม SM และ NPL สูงถึง 662,110 ล้านบาท หรือ 19.66% ของสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ในประเทศ ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเผชิญกับปัญหาหนี้สิน การเจรจาประนอมหนี้ ไกล่เกลี่ยหนี้ การไม่ได้รับความเป็นธรรมจากเจ้าหนี้ และการค้าที่ไม่เป็นธรรมกับเอสเอ็มอี จึงเป็นที่มาของความร่วมมือกันในครั้งนี้