หวั่นคุมค่าทวงหนี้ ดันต้นทุน-เอ็นพีแอลเพิ่ม

27 ส.ค. 2564 | 07:41 น.

สินเชื่อเช่าซื้อไตรมาส 2 แผ่ว สวนทางหนี้จัดชั้นกล่าวถึงเป็นพิเศษ ขยับแตะ 1.23 แสนล้านบาท 3 สมาคมห่วงประกาศคุมค่าทวงหนี้ดันต้นทุน-เอ็นพีแอลเพิ่ม ซ้ำเติมเต็นซ์ระดับกลาง-เล็ก รายได้ไม่เข้าแต่รายจ่ายเพิ่ม สมาคมเช่าซื้อเร่งหาข้อสรุปจ่ายชดเชยโอเอ

ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ไม่เพียงได้รับผลกระทบการระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าเท่านั้น แต่ยังได้รับผลกระทบจากประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ที่กำหนดอัตราค่าทวงถามหนี้ที่ 50 บาทต่องวด ซึ่่งจะมีผลในทางปฏิบัติ 30 วันหลังประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2564 โดยปัจุบันอยู่ระหว่างการหารือระหว่างสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ไทย (Outsource Agent:OA) เพื่อหาจุดสมดุลให้อยู่กันได้ทั้งสถาบันการเงินและบริษัททวงถามหนี้

 

นายวิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ ประธานสมาคมเช่าซื้อไทยเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า หลังการระบาดของโควิดรอบ3 ในปีนี้กระทบต่อยอดขายรถทั้งเก่าและใหม่ โดยรถใหม่อาจลดลง 20% ส่วนรถเก่า ถ้าเป็นพื้นที่ในกรุงเทพปริมณฑล จะลดประมาณ 20% แต่ต่างจังหวัดอาจจะลด 30-40% ส่วนหนึ่งเพราะในพื้นที่กรุงเทพส่วนใหญ่ เน้นขายและให้จองซื้อรถออนไลน์ทั้งรถเก่าและรถใหม่ ทำให้ยอดขายตกไม่มากนัก

วิสิทธิ์ พึ่งพรสวรรค์ ประธานสมาคมเช่าซื้อไทย

ดังนั้นความต้องการสินเชื่อครึ่งปีหลัง ยังขึ้นอยู่กับสถานการณ์โควิด-19 ถ้ารัฐบาลคลายล็อดดาวน์ในวันที่ 1 ก.ย.นี้และฉีดวัคซีนให้ได้มากเพียงพอ ก็ยังพอจะเริ่มมีความหวัง แต่หากยอดผู้ติดเชื้อกลับมาเพิ่มขึ้นอีก ก็มีความไม่แน่นอน แม้ 1-2 วันที่ผ่านมา จะเห็นคนติดเชื้อลดลงบ้าง โดยหากรัฐบาลคลายล็อกดาวน์บางพื้นที่เรื่อยๆ แนวโน้มจะเห็นกำลังซื้อหรือยอดขายรถยนต์จะค่อยๆฟื้นตัว

ส่วนแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) อาจจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนหนึ่งเพราะมาตรการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ซึ่งพบว่า มีลูกค้าติดต่อขอรับความช่วยเหลือเพิ่มขึ้น 3-4 เท่า ซึ่งถ้าเป็นรายที่ได้รับผลกระทบตรง จะใช้วิธีพักชำระหนี้ ส่วนรายที่ไม่ได้รับผลกระทบตรงก็จะปรับโครงสร้างหนี้

 

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เป็นห่วงในช่วงที่เหลือของปีมีหลายประเด็นเช่น เรื่องค่าติดตามทวงถามหนี้ ซึ่งจะกระทบบริษัทที่ไม่มีทีมติดตามหนี้ภายในบริษัท โดยต้องจ้างโอเอหรือบริษัทติดตามทวงถามหนี้ (Outsource Agent:OA) กลายเป็นรายได้ไม่มีแถมต้องมีรายจ่ายเพิ่ม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับนายกสมาคมการค้าผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ไทย (OA)

สินเชื่อเช่าซื้อระบบธนาคารพาณิชย์

“เรากำลังหารือนายกสมาคม OA เรื่องการจ่ายค่าติดตามทวงถามหนี้ เพราะหากคิดตามประกาศคณะกรรมการกำกับการทวงถามหนี้ ทาง OA ก็อยู่ไม่ได้ จึงต้องหาจุดสมดุลกัน นอกจากนี้ยังห่วงยอดขายรถที่หดหาย โดยเฝ้าดูเดือนต่อเดือน เพราะทำให้การปล่อยสินเชื่อลดลง รวมทั้งจับตาเอ็นพีแอล ซึ่งทุกคนพูดคล้ายกันว่า ถ้าเป็นอยู่อย่างนี้อีก 2-3 เดือนจะอยู่ไม่ได้”นายวิสิทธิ์ กล่าว

นายภิญโญ ธนวัชรกรณ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้วหรือรถมือสองกล่าวว่า ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบัน ถ้าจะคิดค่าทวงถามหนี้ตามประกาศคณะกรรมการฯที่ 50 บาทต่อ 1 งวด ถ้าเป็นการนำมาใช้เพียง 3-6 เดือนก็เป็นการช่วยคนผ่อนชำระหนี้ระยะสั้น แต่ระยะยาวไม่ดีแน่ เพราะอัตรานี้สถาบันการเงินและ OA อยู่ไม่ได้

 

ซึ่งในที่สุด แนวโน้มสถาบันการเงินจะสร้างกำแพง โดยไม่ปล่อยสินเชื่อคนกลุ่มที่มีความเสี่ยงหรือจำเป็นต้องบวกดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น เท่ากับคนดีที่ซื้อรถยนต์ต้องแบกภาระแทนคนที่ผิดนัดชำระหนี้ จึงเป็นการสร้างความบิดเบี้ยวต่อระบบ หรืออาจจะเห็นการปรับลดดอกเบี้ยเงินฝากแทน

ภิญโญ ธนวัชรกรณ์ นายกสมาคมผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้ว

“กลไกทวงถามหนี้ที่มีมาเรียกเก็บจากคนไม่ดี เป็นการเรียกเก็บจากคนเป็นหนี้แล้วค้างชำระ แต่นโยบายที่ออกมาเป็นการทำให้ตลาดบิดเบี้ยว การปล่อยสินเชื่อยากขึ้น เพราะคนซื้อรถยนต์ส่วนใหญ่ขอสินเชื่อ 80-90% ต่อไปกลุ่มที่มีความเสี่ยงก็ยิ่งเพิ่มปัญหากับระบบ” นายภิญโญ กล่าว

 

ขณะที่แหล่งข่าวระบุว่า นโยบายบริษัทเช่าซื้อจะไม่เหมือนกัน บางรายเสนอผลสำเร็จและมีแรงจูงใจจะมีผลตอบแทนเพิ่มเติม ตามเป้าหรือเกินเป้าที่ได้รับลูกหนี้ในการติดตาม ส่วนใหญ่เป็นลูกหนี้ค้างชำระเกิน 3 งวด ซึ่งที่ประชุมมีการเสนอค่าจ้างตามผลสำเร็จเช่น ลูกหนี้ 100 ราย หากติดตามได้ 80 รายจะขอเบิกค่าจ้างเฉพาะ 80 รายที่ประสบความสำเร็จ ในรายที่ไม่สำเร็จ ทางโอเอต้องลงพื้นที่ แต่ไม่ขอเบิกค่าจ้าง ซึ่งถ้าคิดเฉพาะจำนวนรายอาจดูว่า มีจำนวนมาก แต่ในรายที่ไม่สำเร็จก็เป็นต้นทุน แต่ที่ประชุมยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,708 วันที่ 26 - 28 สิงหาคม พ.ศ. 2564