สภาพัฒน์ห่วง หนี้ครัวเรือนพุ่ง คุณภาพสินเชื่อด้อยลง

25 ส.ค. 2564 | 11:26 น.

สภาพัฒน์ชี้ หนี้ครัวเรือนไทยเพิ่มขึ้น ไตรมาส 1/64 สูงถึง 14.13 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.5% ต่อจีดีพี แถมคุณภาพด้อยลง โดยเฉพาะสินเชื่ออุปโภคบริโภค หนี้เสียเพิ่มเป็น 2.92% ของสินเชื่อรวม ด้อยลงทุกประเภท สะท้อนครัวเรือนเริ่มมีปัญหารายได้

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)เปิดเผยว่า หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้น และยังต้องเฝ้าระวังคุณภาพสินเชื่อที่อาจด้อยลง โดยไตรมาส 1 ปี2564 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.13 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.6% จากระดับ  4.1% ในไตรมาสก่อน คิดเป็นสัดส่วน 90.5%  ต่อ GDP ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการเลื่อนและพักชำระหนี้ ที่ทำให้ยอดหนี้คงค้างไม่ลดลง รวมทั้งครัวเรือนที่ไม่ได้รับผลกระทบมีการก่อหนี้เพิ่มขึ้น

ดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.)

 

ขณะที่คุณภาพสินเชื่อยังต้องเฝ้าระวัง โดยสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล) ของสินเชื่อเพื่ออุปโภคบริโภคต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.92% เพิ่มขึ้นจากระดับ 2.84%  ในไตรมาสก่อน และด้อยลงเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อที่อยู่อาศัย สะท้อนให้เห็นว่า ครัวเรือนเริ่มมีปัญหาในการหารายได้หรือสถานะทางการเงินเปราะบางมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไปคือ

 

1.ผลของมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เดิม และมาตรการช่วยเหลือเพิ่มเติม  แม้ว่าสถาบันการเงินได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติมจากการระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ แต่ผลกระทบเกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว จึงจำเป็นต้องเร่งรัดการดำเนินมาตรการให้เร็วขึ้น โดยต้องอาศัยความร่วมมือจากสถาบันการเงินทุกแห่ง เพื่อให้สามารถประคับประคองสถานะทางการเงินของครัวเรือนให้ผ่านพ้นจากวิกฤตไปได้ ไม่ให้เป็นหนี้เสีย ชะลอการฟ้องร้องคดี รวมถึงการยึดทรัพย์อย่างไรก็ตาม ต้องระวังไม่ให้เกิดพฤติกรรมที่ทำให้ลูกหนี้ดีไม่ชำระหนี้ตามปกติ (Moral Hazard)

 

2. รายได้ ความสามารถในการชำระหนี้ของครัวเรือน และการก่อหนี้นอกระบบ จากการระบาดระลอกใหม่ และมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดจะส่งผลกระทบต่อรายได้และฐานะการเงินของครัวเรือน และเพิ่มความเสี่ยงการผิดนัดชำระหนี้ ประกอบกับสถาบันการเงินชะลอการปล่อยสินเชื่ออาจทำให้ครัวเรือนที่ขาดสภาพคล่องหันไปก่อหนี้นอกระบบ จึงควรมีมาตรการรักษาการจ้างงาน ควบคู่กับการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งอาจใช้กลไกสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐในการช่วยเหลือ

 

3. การเฝ้าระวังกลุ่มมิจฉาชีพฉวยโอกาสหลอกลวง โดยการให้สินเชื่อผ่าน Online Platform ซึ่งเป็นการดำเนินการที่ผิดกฎหมาย และส่งผลกระทบให้ผู้หลงเชื่อเสียข้อมูลส่วนบุคคล จ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงและโดนติดตามทวงหนี้ด้วยวิธีที่รุนแรงได้จึงควรเร่งรัดให้เจ้าหน้าที่ รวมทั้งคณะกรรมการกำกับทวงถามหนี้เข้ามามีบทบาทในการควบคุมดูแลให้เข้มงวดมากยิ่งขึ้น

 

ล่าสุดมีประกาศกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการทวงถามหนี้ฉบับใหม่ ขณะเดียวกันประชาชนควรตรวจสอบรายชื่อจากผู้ให้บริการทางการเงิน (ที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์) ที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายก่อนการกู้ยืมเงิน