ความเสี่ยงของประเทศ

23 ส.ค. 2564 | 21:09 น.

โดย : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร นักลงทุนแบบเน้นคุณค่า ( Value Investor) ชั้นแนวหน้า

การ  “ล่มสลาย” ของประเทศอัฟกานิสถานเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมาทำให้ผมหวนระลึกถึงการล่มสลายของประเทศ “เวียตนามใต้” ในปี 1975 หรือเมื่อ 46 ปีมาแล้ว  ภาพที่คนจำนวนมากแห่กันไปขึ้นเครื่องบิน “ลำสุดท้าย”  ของกองทัพอเมริกันในกรุงคาบูลนั้น  เหมือนกับภาพที่คนเวียตนามแห่กันไปขึ้นเฮลิคอปเตอร์  “ลำสุดท้าย” ที่สถานทูตอเมริกัน  ทุกคนต่างก็พยายามหนีออกนอกประเทศก่อนที่จะถูกจับหรือถูก “ขัง” อยู่ในประเทศที่รัฐหรือผู้มีอำนาจรายใหม่เข้ามาปกครองด้วยระบบ  “เผด็จการ” ที่จะกดขี่และไม่ให้สิทธิเสรีภาพกับประชาชน  และจะ “แก้แค้น” เอาผิดคนที่เคยช่วยเหลือศัตรู  ซึ่งก็คืออเมริการวมถึงรัฐบาลเดิม 

นอกจากนั้น  คนที่มีความคิดและวิถีชีวิตที่เป็นปฏิปักษ์กับฝ่ายที่เป็นอำนาจใหม่ก็จะถูกลงโทษอย่างหนัก  ทรัพย์สมบัติต่าง ๆ ของพวกเขาก็อาจจะถูกยึด  นี่คือโศกนาฏกรรมที่เลวร้ายสำหรับคนที่มีอะไรที่จะต้องเสียในประเทศทั้งสองในช่วงเวลานั้นแม้ว่าฝ่ายตาลีบันจะประกาศว่าจะไม่ทำ  แต่ในความเป็นจริงแล้วคงไม่มีใครเชื่อ

ความเสี่ยงที่ประเทศจะ “ล่มสลาย” และระบบการปกครองล้มเหลว  ซึ่งจะทำให้ทรัพย์สินต่าง ๆ  ที่มีอยู่ด้อยค่าลงไปอย่างหนัก  และทำให้การลงทุนในหลักทรัพย์กลายเป็น  “หายนะ”  นั้น  เป็นความเสี่ยงสำคัญที่ VI พันธุ์แท้ที่ลงทุนระยะยาวมากไม่สามารถที่จะละเลยได้  ว่าที่จริง  ไม่จำเป็นที่ประเทศจะต้องล่มสลายแบบอัฟกานิสถานหรือเวียตนามใต้ในปี 1975 หรอกที่จะทำลายการลงทุนหรือทรัพย์สมบัติส่วนตัวของเราจนหมดสิ้น รวมไปถึงความเป็นอยู่ที่แม้แต่จะเอาตัวรอดก็ยากแล้ว 

แค่ประเทศที่มีรัฐบาลที่บริหารงานผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงและทำให้เศรษฐกิจตกต่ำต่อเนื่องยาวนานและไม่มีใครสามารถแก้ไขได้  อาจจะเพราะเป็นรัฐบาลที่เป็นเผด็จการมีอำนาจเหนือประชาชนซึ่งทำให้ไม่สามารถเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือถูกโค่นล้มได้อย่างเวเนซูเอลาก็สามารถที่จะทำให้ประเทศ  “ล่มสลาย” ได้  และคนต้องหนีออกไปหากินหรือใช้ชีวิตในต่างประเทศถ้าสามารถที่จะไปได้  และคนที่เคยรวยเป็นร้อย ๆ ล้านบาทกลายเป็น “ยาจก” เนื่องจากเงินเฟ้อที่ทำให้เงินไม่มีค่ากลายเป็นเศษกระดาษ  และนี่ก็คือประเทศที่ครั้งหนึ่ง “รวยกว่าประเทศไทย”

โชคยังดีที่อย่างน้อยในกรณีของไทยเองนั้น  เราสามารถที่จะผ่านสถานการณ์เลวร้ายดังกล่าวมาได้จนถึงวันนี้  แม้ว่าช่วงเร็ว ๆ นี้ผมเองก็เริ่มรู้สึกกังวลเหมือนกัน  เพราะตลอด 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมาในย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่ผมอาศัยอยู่นั้น  เกือบทุกวันตั้งแต่เย็นจนถึง 2-3 ทุ่ม  ผมจะได้ยินเสียงปืนดังกระหึ่มเป็นระยะ ๆ   แน่นอนว่ามันไม่ใช่สงครามเพราะนั่นคือเสียงปืนกระสุนยางและแก๊สน้ำตาที่ใช้คุม “ม็อบ” ที่ประท้วงรัฐบาลต่อเนื่องมาเกือบ 2 ปีแล้ว  แต่มันก็คือ “การต่อสู้” ของคนไทยด้วยกันที่ไม่รู้ว่าสุดท้ายจะนำไปถึงไหน  ไทยในอีก 5-10 ปีข้างหน้ามี “ความเสี่ยงของประเทศ” แค่ไหน?

ความเสี่ยงของประเทศนั้น  ไม่ได้มีแค่ว่าจะล่มหรือไม่ล่มลาย  ว่าที่จริงอะไรก็ตามที่รัฐเป็นคนทำและทำให้การลงทุนของนักลงทุนเสียหายก็ต้องถือว่าเป็น “ความเสี่ยงทางการเมือง” ทั้งนั้น  การเปลี่ยนแปลงของรัฐบาลไปเป็นแบบสังคมนิยมที่ยึดกิจการของเอกชนมาเป็นของรัฐแบบเวเนซูเอลานั้น  ทำให้ต่างชาติโดยเฉพาะที่เป็นเจ้าของกิจการน้ำมันต้องถอนตัวออกมาส่งผลให้ประสิทธิภาพการผลิตน้ำมันลดลงต่อเนื่องและล้มละลายในที่สุด

นี่เป็นความเสี่ยงทางการเมืองที่ทำให้ประเทศล่มสลายได้  นักลงทุนแทบจะไม่เหลืออะไรเช่นเดียวกับประเทศและประชาชนที่ได้อาจจะได้ประโยชน์ชั่วคราวแต่กลับล้มละลายในที่สุด  ดังนั้น  การสังเกตติดตาม  ตรวจสอบและวิเคราะห์ความคิด  สังคมและการเมืองของประเทศที่เราลงทุน  โดยเฉพาะในประเทศที่ยังพัฒนาไม่สูงและไม่เป็นประชาธิปไตยพอ  จึงเป็นเรื่องสำคัญ  และถ้าพบว่าความเสี่ยงมีสูงกว่าปกติมาก  สิ่งหนึ่งที่ต้องทำก็คือหลีกเลี่ยงการลงทุน  แต่ถ้าสูงแต่ยังพอรับได้  เราก็ต้องมี “Margin of Safety” มากขึ้น  นั่นหมายความว่าจะต้องซื้อหลักทรัพย์ในราคาที่ถูกกว่าปกติ  เป็นต้น

ตัวอย่างความเสี่ยงของประเทศหรือตลาดหลักทรัพย์ที่เกิดขึ้นในช่วงเร็ว ๆ  นี้นั้น  กรณีแรกเป็นตลาดฮ่องกง  ซึ่งในอดีตยาวนานนั้นต้องถือว่าเป็นตลาดที่มีความเสี่ยงทางการเมืองน้อยมาก  เหตุผลก็เพราะว่านี่คือสังคมที่มีการพัฒนาสูงมาก  รายได้ต่อหัวติดอันดับโลก ในด้านการเมืองเองนั้น  ก็มีเสรีภาพและเป็น  “ประชาธิปไตย” มีกฎหมายที่มีมาตรฐานสูงตามแบบอังกฤษที่ปกครองมานาน  แต่แล้ว  เมื่อจีนเข้ามาปกครองแทนในปี 1997 หรือกว่า 20 ปีมาแล้ว  ฮ่องกงก็เริ่มลดระดับของการเป็นประชาธิปไตยลงเรื่อย ๆ  แม้ว่าทางเศรษฐกิจจะเติบโตต่อไปอย่างรวดเร็ว  จนมาถึงวันหนึ่งที่คนรุ่นใหม่ของฮ่องกงเริ่มจะทนไม่ไหวที่ต้องขาดอิสรภาพในการดำเนินชีวิตอย่างที่ควรเป็น  จึงเริ่มประท้วงเรียกร้องและ “ต่อสู้” กับรัฐบาลจีนโดยเฉพาะในยุคของสีจิ้นผิงที่ดูเหมือนว่าจีนจะย้อนกลับไปกระชับอำนาจของรัฐและขยายอิทธิพลในโลกในฐานะของการเป็น  “Super Power” หรือ “มหาอำนาจชั้นนำ” มากขึ้น  ผลก็คือ  เกิดความโกลาหลและฮ่องกงอาจจะกำลังลดระดับของการเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการเงินที่สำคัญของจีนลงในระยะยาว  ซึ่งก็จะส่งผลต่อตลาดหุ้นอย่างหนัก  ว่าที่จริงตลาดหุ้นฮ่องกงก็ไม่ไปไหนมาหลายปีแล้ว

ความเสี่ยงทางการเมืองของประเทศและตลาดหุ้นจีนเองก็ไม่แพ้ฮ่องกง  สัญญาณแรกที่ส่งออกมาให้เราที่เป็นคนนอกได้เห็นก็คือ  การที่รัฐบาลล้มการทำ IPO ของ Ant Group บริษัทในเครือของอาลีบาบาของแจ็คหม่า ซึ่งเป็นการทำ IPO ที่น่าจะใหญ่และไฮโปรไฟล์ที่สุดในโลกโดยใช้เหตุผลเรื่องของการ “กินรวบ”ตลาดการเงินของจีน  แต่นักวิเคราะห์ทางการเมืองกลับมองว่าเป็นเรื่องที่รัฐบาลจีนต้องการ “กำหราบ”  แจ็คหม่า ที่ชอบวิจารณ์รัฐบาลในทางที่เสียหายต่อหน้าสาธารณชนรวมถึงชาวต่างประเทศ  เพราะหลังจากนั้นแจ็คหม่าก็ “หาย” ไปจากสาธารณชนและก็แทบไม่กล้าพูดอะไรอย่างที่เคยทำมาตลอด  หลังจากกรณีของอาลีบาบาแล้ว  จีนก็เริ่มปฏิบัติการ “เด็ดปีก” บริษัทเท็คโนโลยีขนาดใหญ่ของจีนเป็นว่าเล่นเพราะเกรงว่าถ้าปล่อยไว้จะกลายเป็น Monopoly หรือผูกขาดกิจกรรมสำคัญของประเทศซึ่งในที่สุดก็อาจจะเป็น “ภัย” ต่อการปกครองประเทศของพรรคคอมมิวนิสต์ได้  ผลก็คือ  หุ้นเท็คขนาดใหญ่ของจีนตกลงมาอย่างหนัก หุ้นอาลีบาบาตกลงมาถึงประมาณ 50% ในเวลาไม่ถึงปี  เช่นเดียวกับหุ้นเท็คอื่น ๆ  ที่ตกลงมาอย่างหนักขนาด 30-40% เช่นเดียวกัน

มีคำถามถึงผมบ่อย ๆ ในฐานะที่เป็นคนที่สนับสนุนการลงทุนในตลาดหุ้นเวียตนามว่าผมไม่กลัวความเสี่ยงทางการเมืองของประเทศเวียตนามที่เป็นคอมมิวนิสต์และการพัฒนาทางเศรษฐกิจก็ยังค่อนข้างต่ำหรือ?  คำตอบของผมก็คือ  ผมกลัวและก็ตระหนักว่ามีความเสี่ยงแน่นอน  ว่าที่จริงความเสี่ยงที่ใหญ่ ๆ  ของเวียตนามนั้นเกิดขึ้นแล้วไม่นานมานี้เองที่ค่าเงินเคยตกลงมาถึง 30 % เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ  ดัชนีหุ้นเคยตกลงมาถึงเกือบ 80% ในช่วงเวลา 2 ปีในช่วงซับไพร์ม  ช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่เวียตนามได้ปรับตัวและเรียนรู้แล้วว่าจะบริหารประเทศอย่างไรที่จะเกิดความมั่นคงและเติบโตไปอย่างรวดเร็ว  คนเวียตนามได้ “ลิ้มรส” ของความมั่งคั่งที่เพิ่มขึ้นมากและกำลังเพิ่มต่อไปเรื่อย ๆ  ไม่มีใครต้องการที่จะหยุดสถานการณ์ที่ดี ๆ  แบบนี้และถ้าจะมีก็คงไม่มีใครยอม  เรื่องของความคิดและเสรีภาพทางการเมืองที่มักเป็นประเด็นสำคัญสำหรับคนที่มีอันจะกินพอสมควรแล้วนั้น  ดูเหมือนจะไม่เป็นประเด็นสำหรับคนเวียตนามนัก  อาจจะอีกซัก 10-20 ปีกว่าที่คนจะรวยพอและเรียกร้องเสรีภาพซึ่งอาจจะทำให้เกิดการต่อสู้ทางการเมืองที่จะก่อให้เกิดความเสี่ยง  ดังนั้น  ผมคิดว่าความเสี่ยงทางการเมืองของเวียตนามนั้นน่าจะไม่สูงและนาทีนี้ผมคิดว่าน้อยกว่าประเทศไทยด้วยซ้ำ

ความเสี่ยงของประเทศที่ไม่รุนแรงขนาดล่มสลายหรือหายนะแต่ก็มีนัยสำคัญมากเช่นเดียวกันก็คือการที่รัฐบาลในประเทศที่เราลงทุนอยู่เปลี่ยนนโยบายที่จะมีผลกระทบต่อผลตอบแทนการลงทุนในตลาดอย่างมีนัยสำคัญ  ตัวอย่างเช่น  การประกาศควบคุมเงินตราออกนอกประเทศ  การเก็บหรือเพิ่มอัตราภาษีอย่างที่จะกระทบกับนักลงทุนอย่างมาก  เช่น  การคิดภาษีกำไรจากการขายหุ้นหรือขึ้นภาษีนิติบุคคลอย่างมากและผิดจากมาตรฐานของประเทศที่มีการพัฒนาเศรษฐกิจระดับใกล้เคียงกัน เป็นต้น  สิ่งต่าง ๆ  เหล่านี้เป็นเรื่องที่บางทีคาดการณ์ได้ยาก  แต่รัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยและเข้าใจและมีความสามารถในการบริหารเศรษฐกิจระดับสากลก็มักจะไม่ทำอะไรให้เกิดความเสียหายต่อตลาดหุ้นหรือการลงทุนทางตรงอื่น ๆ  เหนือสิ่งอื่นใดก็คือ  มักจะต้องฟังเสียงของประชาชนรวมถึงนักลงทุนก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรที่จะมีผลกระทบรุนแรง  ดังนั้น  นักลงทุนก็มีเวลาเพียงพอที่จะปรับตัวหรือกำหนดกลยุทธ์ที่จะหลีกเลี่ยงความสูญเสียได้มากขึ้น  ดังนั้น  ประเทศหรือตลาดที่เป็นแบบนั้นก็จะถูกมองว่าเป็นตลาดหรือประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำและคนก็จะยินดีและอยากลงทุนมากขึ้น