เงินฝากเอกชน 4.5 ล้านล้าน จ่อซบกองทุน-ตราสารหนี้

12 ส.ค. 2564 | 07:05 น.

ตลาดเงินคึกคักรับบริหารเงินฝากส่วนเกิน หลังสคฝ.ลดวงเงินคุ้มครอง 1 ล้านบาทต่อราย ประเมินรายย่อยกว่า 5.4 ล้านล้านบาทหมุนเวียนในระบบธนาคารและแบงก์รัฐ จับตาเงินฝากภาคธุรกิจ 4.5 ล้านล้านบาท หนีซบกองทุน ตราสารหนี้

11 สิงหาคม 2564 จะเป็นวันแรกที่การคุ้มครองเงินฝากของสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) ลดจาก 5 ล้านบาทเหลือ 1 ล้านบาท แม้ว่าสคฝ.จะออกมายืนยันว่า ไม่เห็นการเคลื่อนย้ายเงินฝากอย่างเป็นนัยสำคัญ เนื่องจากวงเงินที่ได้รับการคุ้มครองครอบคลุมผู้ฝากเงินถึง 98.05% ขณะที่กลุ่มท่ี่มีมากกว่า 1 ล้านบาทนั้น มีการบริหารการลงทุนมากกว่าที่จะฝากเงินไว้ในบัญชีเงินฝาก เนื่องจากผลตอบแทนต่ำ

 

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ttb analytics ธนาคาร ทีเอ็มบีธนชาตหรือ ทีทีบีเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เงินฝากรวม 15.2 ล้านล้านบาทนั้น เป็นเงินฝากของรายย่อย 8.42 ล้านล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้ จะมีบัญชีเงินฝากที่เกิน 1 ล้านบาทประมาณ 5.4 ล้านล้านบาท โดยมองว่า เม็ดเงินเหล่านี้จะไหลเวียนอยู่ในระบบของธนาคารพาณิชย์และอาจโยกไปสถาบันการเงินของรัฐบ้าง เพราะยังมีเงินฝากประจำพิเศษที่ยังให้ผลตอบแทนค่อนข้างดี

นริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ttb analytics ธนาคาร ทีเอ็มบีธนชาต

 

ส่วนเงินฝากของธุรกิจหรือนิติบุคคลยอดรวม 4.8 ล้านล้านบาท สัดส่วนกว่าครึ่งที่เป็นบัญชีเงินฝากที่เกิน 1 ล้านบาทคือ ประมาณ 4.5 ล้านล้านบาท ส่วนนี้อาจจะไหลออกไปลงทุนในกองทุนหรือตราสารหนี้บ้าง ซึ่งมีโอกาสจะได้รับผลตอบแทนดีกว่าดอกเบี้ยเงินฝากในระบบธนาคาร เพราะที่ผ่านมาเงินฝากของภาคธุรกิจในระบบธนาคาร จะได้รับดอกเบี้ยน้อยกว่าเงินฝากของรายย่อย

 

นายวิริยะชัย จิตตวัฒนรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่าย, Private Wealth Management ธนาคาร กรุงไทยกล่าวว่า บัญชีเงินฝากภาคธุรกิจส่วนที่เกิน 1 ล้านบาทนั้น ในแง่ของการบริหารเงินของบริษัท ส่วนหนึ่งเพื่อใช้เป็นสภาพคล่อง จะเน้นความปลอดภัย ซึ่งเป็นเงินก้อนที่รับความเสี่ยงได้ต่ำ ส่วนบริษัทที่มีสภาพคล่องเหลือ อาจจะลงทุนในตลาดหุ้นกู้บ้าง ตามแผนการใช้เงินของบริษัท โดยเห็นได้จากบริษัทจดทะเบียนที่มีเงินฝากเหลือบางส่วน จะนำไปลงทุนซื้อพันธบัตร อายุ 1-2 ปี หรือหุ้นกู้เอกชนอายุ 5 ปี

วิริยะชัย จิตตวัฒนรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่าย, Private Wealth Management ธนาคาร กรุงไทย

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เริ่มเห็นนักลงทุนสนใจลงทุนประเภทหุ้นกู้ที่มีอนุพันธุ์แฝง หรือ Structured Note มากขึ้น ซึ่งต่างจากหุ้นกู้ทั่วไป โดยจะมีการคุ้มครองเงินต้น จึงเป็นโอกาสสำหรับบริษัทที่มีเงินเหลือ แม้จะรับความเสี่ยงได้ต่ำหรือเป็นเงินสภาพคล่องที่มีเวลายาวขึ้นในการใช้เงิน โดยสามารถกระจายการลงทุนในสตรัคเจอร์โน้ต ระยะเวลาลงทุนยาวขึ้น เฉลี่ย 5ปี จ่ายผลตอบแทนค่อนค้างดี ที่สำคัญเงินต้นได้รับความคุ้มครองจากธนาคาร

 

“ถือเป็นทางเลือกในการลงทุน ตอบโจทย์เงินเย็นหรือเงินส่วนเกินที่มีเวลาใช้เงินยาวขึ้น แทนที่จะซื้อกองทุนอย่างเดียว ในแง่ธนาคารก่อนหน้า มีการออกมาแล้วและกระแสตอบรับค่อนข้างดี จึงเป็นโอกาสในการพัฒนาผลิตภัณฑ์การลงทุนที่มีเงื่อนไขคุ้มครองเงินต้น”นายวิริยะชัยกล่าว

 

นางสาวดุษณี เกลียวปฏินนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์การออมและกลยุทธ์ลูกค้าบุคคลธนกิจ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า การปรับลดวงเงินคุ้มครองของสคฝ.กระทบเงินฝากรายย่อยน้อยมาก เพราะ 3 ปีที่ผ่านมา ดอกเบี้ยเงินฝากต่ำมาก ความต้องการสินเชื่อเองก็ฝืดเคือง จนเกิดสภาพคล่องส่วนเกินในระบบ ซึ่งลูกค้ารายย่อยส่วนหนึ่ง หนีออกไปลงทุนหุ้นกู้แล้ว 4 ปีผลตอบแทน 3% ต่อปี ขณะที่เงินฝากออมทรัพย์ดอกเบี้ยต่ำมาก สูงสุดแค่อัตรา 0.85%ต่อปี (หักภาษีเงินได้แล้ว)

ดุษณี เกลียวปฏินนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผลิตภัณฑ์การออมและกลยุทธ์ลูกค้าบุคคลธนกิจ ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย

ปัจจุบันเงินฝากส่วนใหญ่จะอยู่ในมือเอสเอ็มอีและบริษัทขนาดใหญ่ (Corporate) อาจจะกระทบบ้าง แต่บริษัทต้องเลือกธนาคารพาณิชย์ที่มั่นคง โดยเฉพาะธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีการตรวจสอบดูแลระบบธนาคารพาณิชย์ไทยอย่างเข้มแข็ง ดังนั้น จึงยากจะเห็นการหมุนรอบของเงินฝาก

 

สำหรับกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง (Wealth Management) หรือลูกค้า Preferred ของธนาคารครึ่งปีแรก สินทรัพย์ภายใต้การ บริหาร (AUM ) แตะ 3 แสนล้านบาทจากปลายปีก่อนอยู่ที่ 2.7 แสนล้านบาท เติบโตประมาณ 15% หลักๆ มาจากฐานลูกค้าเก่าที่ขยายตัวอย่างชัดเจน ส่วนฐานลูกค้าใหม่ ตลาดไม่เอื้อในการพบปะลูกค้า

เงินฝากเอกชน 4.5 ล้านล้าน จ่อซบกองทุน-ตราสารหนี้

“ตอนนี้เงินฝากรวมของลูกค้า Preferred ลดลง 10% โดยลดในบัญชีเงินฝากคงที่ เพราะเงินฝากคงที่จ่ายดอกเบี้ย 0.7% ต่อปีไม่กำหนดวงเงิน ส่วนเงินฝากออมทรัพย์จ่ายดอกเบี้ย 1.5% ต่อปี ซึ่งขึ้นกับวงเงินฝาก แล้วย้ายไปลงทุนในกองทุน หุ้นกู้ (เติบโตมาก) และประกัน (ยูนิตลิงค์) เพราะมีทางเลือกลงทุนหลากหลายมากขึ้น”

 

อย่างไรก็ตาม ปีนี้ต้องระมัดระวังในการลงทุน เพราะไม่เหมือนเดิม แม้จะเป็นการลงทุนในประเทศเดียวกัน แต่จะต้องเลือกของ (ผลิตภัณฑ์) และแบ่งพอร์ตการลลงทุน เช่น ถ้าเป็นลูกจ้างบริษัทที่มีสถานะปกติต้องมีเงินสำรองค่าใช้จ่าย 12 เดือน (ในตลาดเงิน) ถ้าเป็นบริษัทต้องมีสำรองค่าใช้จ่ายมากกว่า ยิ่งบริษัทขนาดเล็ก จำเป็นต้องพิจารณาสภาพคล่องและต้องจัดพอร์ตเป็นสำคัญ

 

เช่นเดียวกัน ในแง่ของการลงทุนในหุ้นกู้ (อย่าโลภ) ปีนี้นอกจากต้องดูอุตสาหกรรมแล้ว ต้องดูเป็นรายบริษัท หลักการลงทุนสัดส่วนไม่ควรเกิน 20% ต่อการลงทุนรายบริษัทคือ กระจายลงทุนเพียง 15% ต่อบริษัท เพราะหากกระทบผู้ลงทุนไม่เจ็บตัวมากและยังอยู่ได้

 

หน้า 1  หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,704 วันที่ 12 - 14 สิงหาคม พ.ศ. 2564