บอร์ด STGT ไฟเขียวจ่ายปันผลระหว่างกาลหุ้นละ 1.25 บาท

11 ส.ค. 2564 | 12:32 น.

บอร์ด STGT อนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาล 1.25 บาทต่อหุ้น ในเดือนกันยายน และอีกไม่น้อยกว่า 1.25 บาทต่อหุ้นในเดือนธันวาคม หลังผลประกอบการไตรมาส2 ทำรายได้รวม 12,967.7 ล้านบาท เติบโตต่อเนื่องแม้ปิดโรงงานชั่วคราว

นางสาวจริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ STGT เปิดเผยว่า บริษัทฯสามารถทำผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2564 เติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้จะมีการปิดโรงงานตรังและโรงงานสุราษฎร์ธานีชั่วคราวในช่วงก่อนหน้านี้ หลังพบพนักงานติด COVID-19 โดยมีรายได้รวม 12,967.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 164.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 7,280.1 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 590.5% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

จริญญา จิโรจน์กุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ศรีตรังโกลฟส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน)

 

จากผลการดำเนินงานดังกล่าว คณะกรรมการ(บอร์ด)บริษัทฯ จึงมีมติอนุมัติจ่ายเงินปันผลระหว่างกาลจากผลการดำเนินงานไตรมาส 2/2564 ในอัตราหุ้นละ 1.25 บาท เตรียมขึ้นเครื่องหมาย XD ในวันที่ 23 สิงหาคมนี้ และจ่ายเงินปันผลแก่ผู้ถือหุ้นในวันที่ 7 กันยายน 2564 และอีกไม่น้อยกว่า 1.25 บาทต่อหุ้น ที่จะจ่ายในเดือนธันวาคม ภายหลังการอนุมัติงบไตรมาส 3/2564 ด้วยเช่นกัน

ขณะที่ภาพรวมผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกปี 2564 ยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่งจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีรายได้รวม 28,401.4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 227.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 17,331.7 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,068.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากความต้องการใช้ถุงมือยางในตลาดโลกที่มีอย่างต่อเนื่องเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่จากไวรัสกลายพันธุ์ และใช้เพื่อการฉีดวัคซีน ประกอบกับบริษัทฯ ได้เดินเครื่องจักรโรงงานสุราษฎร์ธานี 2 เป็นที่เรียบร้อย ส่งผลดีต่อกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น

 

สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในช่วงครึ่งปีหลัง จะได้รับผลดีจากกำลังการผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผานมาได้เดินเครื่องจักรโรงงานสุราษฎร์ธานี 3 เป็นที่เรียบร้อย และจะทยอยเดินเครื่องจักรโรงงานใหม่อีก 2 แห่ง ได้แก่ โรงงานในอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา และโรงงานตรัง ภายในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้ ซึ่งจะส่งผลให้บริษัทฯ สามารถผลิตถุงมือยางเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 36,000 ล้านชิ้นต่อปี จากเดิม 33,000 ล้านชิ้นต่อปี