สร้างโอกาสการลงทุนทั่วโลกจาก Factor Investing

09 ส.ค. 2564 | 06:19 น.

สร้างโอกาสการลงทุนทั่วโลกจาก Factor Investing : คอลัมน์ มันนี่ ดี ไอ วาย โดย ณรงค์ศักดิ์ ปลอดมีชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ไทยพาณิชย์ จำกัด

การลงทุนของนักลงทุนในประเทศไทยไม่ว่าจะเป็นนักลงทุนรายย่อยหรือนักลงทุนสถาบัน ได้การพัฒนาเป็นอย่างมากใน 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากโอกาสของการลงทุนมีอยู่ทุกที่ทั่วโลก ทำให้นักลงทุนที่ในอดีตลงทุนเฉพาะหุ้นในประเทศไทย เริ่มมีมองหาโอกาสและขยายขอบเขตการลงทุนไปยังต่างประเทศมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ อเมริกา จีน ฮ่องกง หรือเวียดนาม เป็นต้น

 

การกระจายการลงทุนในต่างประเทศนับว่า เป็นการกระจายความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ และยังเป็นสร้างโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น ทั้งยังเพิ่มโอกาสในการเข้าลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมที่แตกต่างจากตลาดหุ้นในประเทศ

 

เนื่องจากการขยายขอบเขตการลงทุนทำให้มีจำนวนหุ้นให้เลือกมากขึ้น ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้นักลงทุนหาหุ้นที่ดีได้มากขึ้น แต่เมื่อมีจำนวนหุ้นให้เลือกมาขึ้นย่อมหมายถึงว่าต้องมีการศึกษาวิเคราะห์หุ้นเหล่านั้นมากขึ้น จากหุ้นไทยที่มีหลักร้อยตัวขยายไปต่างประเทศทำให้มีหุ้นเป็นหลักพันตัว อาจจะทำให้การศึกษาข้อมูลหุ้นทีละตัว ทุกตัวเป็นไปได้ยากมากขึ้น

 

หนึ่งในวิธีการลงทุนที่ช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์หุ้นทุกตัวได้ ไม่ว่าขอบเขตการลงทุนของเราจะขยายออกไปใหญ่แค่ไหนก็คือ Factor Investing

 

 

Factor Investing เป็นที่รู้จักกันมานานแล้วในต่างประเทศ แต่ในประเทศไทยนั้นนักลงทุนเริ่มให้ความสนใจเมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา 

หลักการคร่าวๆ ของ Factor Investing คือ การที่นักลงทุนนำข้อมูล Factor เช่น Value ซึ่งจะใช้เลือกหุ้นกลุ่มเน้นคุณค่า, Quality ซึ่งจะใช้เลือกหุ้นกลุ่มเน้นคุณภาพ หรือ Momentum ซึ่งจะใช้เลือกหุ้นกลุ่มที่มีผลตอบแทนย้อนหลังสูง มาเปลี่ยนเป็นคะแนนสำหรับหุ้นแต่ละตัว ตัวอย่างเช่น

  • Value Factor เราอาจใช้ P/E เป็นตัวแทน โดยจะให้คะแนนที่สูงกับหุ้นที่มี P/E ต่ำ ๆ และในทางตรงกันข้ามให้คะแนนต่ำกับหุ้นที่มี P/E สูง ๆ
  • Quality Factor เราอาจใช้อัตราผลตอบแทนจากส่วนของเจ้าของ (Return on Equity: ROE) เป็นตัวแทน โดยจะให้คะแนนที่สูงกับหุ้นที่มี ROE สูง ๆ และในทางตรงกันข้ามให้คะแนนต่ำกับหุ้นที่มี ROE ต่ำ ๆ
  • Momentum Factor เราอาจใช้ผลตอบแทนย้อนหลัง 12 เดือนล่าสุดเป็นตัวแทน โดยจะให้คะแนนที่สูงกับหุ้นที่มีผลตอบแทนย้อนหลังสูง ๆ และในทางตรงกันข้ามให้คะแนนต่ำกับหุ้นที่มีผลตอบแทนย้อนหลังต่ำ ๆ

 

สุดท้ายนักลงทุนก็สามารถเลือกหุ้นได้ตามปรัชญาการลงทุนของแต่ละคน เช่น นักลงทุนที่ชอบหุ้น Value และ Quality ก็จะนำคะแนนของ Value และ Quality มารวมกันเพื่อเลือกหุ้นที่มีคะแนนรวมสูงที่สุด

 

หรือนักลงทุนที่มีประสบการณ์ลงทุนที่มากอาจจะปรับกลุ่มของ Factor ที่สนใจไปตามสภาวะของเศรษฐกิจ เช่น เมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่การขยายตัว นักลงทุนอาจจะให้น้ำหนักกับ Value Factor มากกว่า Factor อื่น ๆ แต่ในทางกลับกับเมื่อเศรษฐกิจเข้าสู่สภาวะหดตัว นักลงทุนก็จะเปลี่ยนมาให้น้ำหนักกับ Quality Factor มากขึ้น เป็นต้น

สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนในต่างประเทศ ปัจจุบันสามารถลงทุนตรงในต่างประเทศเองได้สะดวกขึ้น ประกอบกับ การเข้าถึงข้อมูลการลงทุนนั้นง่ายกว่าในอดีต จึงทำให้การลงทุนในต่างประเทศสามารถเข้าถึงกลุ่มอุตสาหกรรมที่หลากหลายทั้งในส่วนของอุตสาหกรรมดั้งเดิมและในอุตสาหกรรมยุคใหม่ที่เกี่ยวข้องกับปัญญาประดิษฐ์, Big Data, Cloud Computing, Cyber security และ Virtual Reality ได้มากขึ้น

 

และการนำ Factor Investing มาใช้ประกอบในการลงทุน ก็จะทำให้สามารถคัดเลือกหลักทรัพย์ในการลงทุนในต่างประเทศ รวมถึงสามารถปรับพอร์ตการลงทุนตามมุมมองการลงทุนของตนเองได้

 

นอกจากนั้น สำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนในต่างประเทศแต่ไม่มีความพร้อมที่จะลงทุนด้วยตนเอง การลงทุนผ่านกองทุนรวมจึงเป็นอีกทางเลือกที่น่าสนใจ ซึ่งมีข้อดีคือ สามารถลงทุนได้ทันที สะดวก รวดเร็ว และมีมืออาชีพมาช่วยบริหารจัดการการลงทุนโดยผู้จัดการกองทุนที่มีความเชี่ยวชาญคอยดูแลและบริหารเงินลงทุนแทนเรา

 

สำหรับนักลงทุนที่สนใจลงทุนโดยเน้น Factor ทางบลจ.ไทยพาณิชย์ ได้นำเสนอกองทุนประเภทนี้ตามแต่ละ Factor เพื่อเป็นทางเลือกของนักลงทุน ได้แก่

 

1) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Thai Equity Quality Portfolio (SCBQUALITY) เน้นปัจจัยคุณภาพ (Quality Factor Investing) เน้นคุณภาพที่ดีและมีการเติบโตที่เหมาะสม 

 

2) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Thai Equity Value Portfolio (SCBVALUE) เน้นปัจจัยคุณค่า (Value Factor Investing) เน้นหุ้นที่มีพื้นฐานดี และมีความน่าสนใจในเชิงมูลค่าพื้นฐาน อ้างอิงจากตัวชี้วัดที่บ่งชี้มูลค่าพื้นฐานของกิจการต่างๆ

 

3) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Thai Equity Moment  Portfolio (SCBMOMENT) เน้นปัจจัยโมเมนตัม (Momentum Factor Investing) ในหุ้นที่มีแนวโน้มพฤติกรรมราคาที่ดี ภายใต้ความเสี่ยงที่เหมาะสม อ้างอิงไปกับสภาวะเศรษฐกิจในแต่ละช่วง

 

4) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Thai Equity Equal Weigh Portfolio (SCBEQUAL) กระจายเงินลงทุนในบริษัท 80 บริษัทแรกในดัชนี SET100 โดยให้น้ำหนักเท่ากัน ช่วยลดความเสี่ยงจากการกระจุกตัวของหุ้นบางตัวมากเกินไปตามดัชนี

 

5) กองทุนเปิดไทยพาณิชย์ Thai Equity LARGE-CAP Multi-Factor Portfolio (SCBLARGE) จะลงทุนในบริษัท 20 – 30 บริษัทแรกในดัชนี SET50 โดยอ้างอิงกับปัจจัยต่าง ๆ ที่คาดว่าจะสร้างผลตอบแทนที่ดีในระยะยาว