วิธีบริหารเงินฝาก เมื่อวงเงินคุ้มครองเหลือเพียง 1 ล้านบาท

06 ส.ค. 2564 | 08:47 น.

เปิดวิธีบริหารเงินฝาก หากวงเงินคุ้มครองเหลือไม่เกิน 1 ล้านบาท ทำอย่างไรให้ได้รับการคุ้มครองเงินฝากสูงถึง 35 ล้านบาท แนะกระจายบัญชีให้ครบทุกสถาบันการเงิน

11 สิงหาคม 2564 จะเป็นวันแรกที่เงินฝากที่จะได้รับการคุ้มครองตามวงเงินที่กฎหมายกำหนดไม่เกิน 1 ล้านบาท มีผลบังคับใช้จริงๆ หลังจากที่ก่อนหน้า มีการแก้ไขกฎหมายและเลื่อนการบังคับใช้มาก่อน แม้ว่าพระราชบัญญัติ(พ.ร.บ.) สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551 จะลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 กำหนดให้มีผลบังคับใช้ภายใน 180 วันนับจากประกาศในราชกิจจา และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.)ได้ก่อกำเนิดขึ้นเมื่อวันที่  11 สิงหาคม 2551 ก็ตาม

 

แรกเริ่มเดิมที การดูแลสถาบันการเงินจะอยู่ภายใต้กองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาสถาบันการเงิน(เอฟไอดีเอฟ) ของธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แต่หลังเกิดวิกฤติการเงินในปี 2540 เกิดการตื่นตระหนกแห่ถอนเงินจากสถาบันการเงิน เอฟไอดีเอฟต้องออกมารับประกันที่จะดูแลทั้งผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ทุกบาททุกราย เพื่อหยุดการไหลของงเงิน

 

แม้ว่า ในที่สุดจะนำมา ซึ่งการปิดกิจการสถาบันการเงิน 56 แห่ง  พร้อมๆกับภาระหนี้ที่เกิดจากการเข้าไปรับประกันผู้ฝากเงินและเจ้าหนี้ของเอฟไอดีเอฟสูงถึง 1.4 ล้านล้านบาท และจนถึงวันนี้ ผ่านมาแล้ว 14 ปี แต่ยอดหนี้คงค้างของเอฟไอดีเอฟก็ยังชำระไม่หมด ณ สิ้นปีงบประมาณ 2563 ยังมีหนี้คงค้างสูงถึง 743,038.21 ล้านบาท  

หนี้คงค้างกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน

  

แนวคิดการจัดตั้งสถาบันคุ้มครองเงินฝากจึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นการรับประกันเฉพาะผู้ฝากเงินเท่านั้น และเงินที่จะนำมาใช้ ให้เป็นภาระของสถาบันการเงินจัดการเอง ด้วยการแบ่งจากเงินนำส่งเงินสมทบเข้าเอฟไอดีเอฟของสถาบันการเงิน ในอัตรา  0.46% ของฐานเงินฝากสถาบันการเงินนั้นๆ ที่คำนวณทุก 6 เดือน แทนที่จะใช้เงินจากภาระภาษีของประชาชนเหมือนอดีต

 

พ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝาก พ.ศ.2551 ได้กำหนดบทเฉพาะกาล เพื่อเตรียมความพร้อมในการคุ้มครองเงินฝากที่จะทยอยลดลงใน 5 ปี โดยปีแรก หลังกฎหมายมีผลบังคับใช้ จะคุ้มครองเต็มวงเงินที่ปรากฏในบัญชี ปีที่ 2 คุ้มครองไม่เกิน 100 ล้านบาท ปีที่ 3 คุ้มครองไม่เกิน 50 ล้านบาท ปีที่ 4 คุ้มครองไม่เกิน 10 ล้านบาท และปีที่ 5 จึงจะคุ้มครองไม่เกิน 1 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตามในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ในช่วงปี 2557 ที่วงเงินคุ้มครองกำลังจะลดเหลือไม่เกิน 1 ล้านบาท นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รัฐมนตรีว่าการ กระทรวงการคลังได้เสนอแก้ไขพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากและปรับจำนวนเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองเป็นการทั่วไปใหม่ โดย จะทยอยปรับวงเงินคุ้มครองจากไม่เกิน 25 ล้านบาทในปี 2559 เหลือ ไม่เกิน 1 ล้านบาทในวันที่ 11 สิงหาคม 2563 

วงเงินคุ้มครองตามกฎหมายกำหนด

หลังการระบาดของโควิด-19 ในช่วงต้นปี 2563 ทำให้กระทรวงการคลังขยายระยะเวลาการคุ้มครองการคุ้มครองไม่เกิน 5 ล้านบาทออกไปอีก 1 ปี พร้อมๆกับที่ธปท.ลดอัตราเงินสมทบของสถาบันการเงินจาก 0.46% เหลือ 0.23% ไปจนถึงสิ้นปี 2564 เพื่อแบ่งเบาภาระให้กับประชาน

 

11 สิงหาคา 2564 ที่กำลังจะมาถึงท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 ที่กำลังระบาดหนักและขยายวงกว้างทั่วประเทศ เมื่อการคุ้มครองเงินฝากจะเหลือเพียง 1 ล้านบาท แม้ว่าสถาบันคุ้มครองเงินฝากจะยืนยันว่า วงเงินคุ้มครองที่ 1 ล้านบาทนั้น มีผู้ฝากที่ได้รับความคุ้มครองเงินฝากเต็มจำนวน 82.07 ล้านราย คิดเป็น  98.03% ของผู้ฝากทั้งระบบ ซึ่งถือ เป็นประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

 

การคุ้มครองเงินฝากที่ไม่เกิน 1 ล้านบาทดังกล่าว เป็นการคุ้มครองลักษณะ 1 รายผู้ฝากเงิน ต่อ 1 สถาบันการเงิน ดังนั้น ภายใต้สถาบันการเงินที่สถาบันเงินฝากคุ้มครอง 35 แห่ง โดยเป็นธนาคารพาณิชย์จดทะเบียนในประเทศ  19 แห่ง  สาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศ  11 แห่ง  บริษัทเงินทุน 2 แห่ง  และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์อีก 3 แห่ง  หากกระจายการฝากเงินแห่งละไม่เกิน 1 ล้านบาท แสดงว่า คนหนึ่งๆ จะได้รับการคุ้มครองเงินฝากสูงสุดได้ถึง 35 ล้านบาท

ยอดเงินรับฝากของธนาคารพาณิชย์ในประเทศ

ส่วนเกิน 35 ล้านบาท หากต้องการป้องกันความเสี่ยงและหาผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ผู้ฝากเงินก็มีทางเลือกในการลงทุน หากชอบเสี่ยงมากหน่อยก็อาจจะเลือกลงทุนในหุ้น หรือลดลงมาหน่อยก็อาจเป็นกองทุนประเภทต่างๆ หรือกลุ่มที่ไม่ขอบความเสี่ยง แม้ไม่มาก แต่ได้สม่ำเสมอคือ การลงทุนในหุ้นกู้เอกชน หรือพันธบัตรรัฐบาล ไปเลย

 

ทั้งนี้ จากฐานข้อมูลของธปท.ณ เดือนพฤษภาคม 2564 พบว่า ผู้ฝากเงินที่มียอดไม่เกิน 50 ล้านบาท มีจำนวน  1,768,686 บัญชี คิดเป็นเงิน  6.56 ล้านล้านบาทเกือบครึ่งหนึ่งของยอดเงินฝากทั้งระบบที่ 15.06 ล้านล้านบาท      

 

อย่างไรก็ตาม ระยะเวลากว่า  13 ปี ที่การบังคับใช้กฎหมายสถาบันคุ้มครองเงินฝาก เชื่อว่าผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ ได้บริหารจัดการรองรับการบังคับใช้กฎหมายแล้ว

 

สถาบันคุ้มครองเงินฝากในฐานะผู้ชำระบัญชีจะมีการนำเงินฝากของ 1 รายชื่อผู้ฝากต่อ 1 สถาบันการเงิน ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ในทุกสาขาและทุกบัญชีมาคำนวณรวมกันไม่เกิน 1 ล้านบาท มาชำระเงินให้ผู้ฝากเงินทันที ภายใน 30 วัน หากมีสถาบันการเงินล้มละลายและปิดกิจการไป

 

เตือนกันนิดว่า...ที่บอกว่า คุ้มครองไม่เกิน 1 ล้านบาทนั้นจะรวมสุทธิทั้งเงินต้นและดอกเบี้ย ดังนั้น ถ้าอยากรักษาสิทธิฝากเต็มเพดาน 1 ล้านบาท ก็อาจชวดดอกเบี้ยที่พึงได้ไป