กนง.ยันยังมีเครื่องยนต์พยุงเศรษฐกิจ แม้ยังมีแรงกดดันจากโควิด-19

04 ส.ค. 2564 | 14:18 น.

กนง.ชี้โจทย์ที่สำคัญเน้นควบคุมการระบาดโควิด-19ให้ได้ ส่วนมาตรการทางการคลังและการเงินช่วยประคองไม่ให้ทรุด ย้ำทุกภาคส่วนต้องทำอย่างเต็มที่ เพราะมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะชะลอลงมากกว่ากรณีฐานมาก

ธปท.ยันระยะข้างหน้ายังมีเครื่องยนต์พอพยุงเศรษฐกิจ  โจทย์ที่สำคัญเน้นควบคุมการระบาดให้ได้ ส่วนมาตรการทางการคลังและการเงินช่วยประคองไม่ให้ทรุด  ย้ำทุกภาคส่วนต้องทำอย่างเต็มที่  เพราะมีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะชะลอลงมากกว่ากรณีฐานมาก  หากเร่งผ่อนคลายหรือลดการเคลื่อนที่ไม่ช้ากว่าต้นไตรมาส4จะช่วยจีดีพีไม่หดตัวในปีนี้

กนง.ยันยังมีเครื่องยนต์พยุงเศรษฐกิจ แม้ยังมีแรงกดดันจากโควิด-19

นายทิตนันทิ์ มัลลิกะมาส เลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงผลการประชุม กนง. โดยระบุว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ในการประชุมครั้งที่ 5เมื่อวันที่ 4สิงหาคม 2564  มีมติ 4 ต่อ 2 เสียง(กรรมการ 1ท่านลาประชุม) ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.50 %ต่อปี ขณะที่ 2 เสียง เห็นควรให้ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปีเพื่อเป็นมาตรการเสริมในการช่วยพยุงเศรษฐกิจและรองรับแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีความเสี่ยงสูงในระยะข้างหน้า   เนื่องจาก กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยปี 2564 ได้รับผลกระทบจากการระบาดของ COVID-19 มากกว่าที่ประเมินไว้ และยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งโจทย์สำคัญที่สุดของเศรษฐกิจไทย ในปัจจุบัน คือ การเร่งควบคุมการระบาดและกระจายวัคซีน เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นของประชาชนและเอื้อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจและรายได้กลับมาขยายตัว ขณะที่มาตรการทางการคลังและการเงินจะต้องเร่งช่วยผู้ได้รับผลกระทบให้ตรงจุดและทันการณ์ยิ่งขึ้นสอดคล้องกับสถานการณ์

คณะกรรมการกนง.ปรับประมาณการเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัว 0.7%และ 3.7% ในปี 2564 และ 2565 ตามลำดับจากเดิมประเมินว่าจะขยายตัว 1.8%ในปีนี้และ 3.9%ในปีหน้า โดยปรับลดลงตามการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับผลกระทบมากในปีนี้และแนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ปรับลดลงมากในปีหน้า ด้านตลาดแรงงานเปราะบางมากขึ้น โดยเฉพาะภาคบริการและผู้ประกอบอาชีพอิสระ แม้ว่า  เศรษฐกิจไทยยังมีแรงสนับสนุนเพิ่มเติมจากแนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจาก พ.ร.ก. กู้เงินล่าสุดและการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดี  

กนง.ยันยังมีเครื่องยนต์พยุงเศรษฐกิจ แม้ยังมีแรงกดดันจากโควิด-19

อย่างไรก็ตามคณะกรรมการได้ทบทวนประมาณการเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ที่ 0.7% ในปีนี้และ 3.7% ในปีหน้า ได้รวมเอาพัฒนาการล่าสุดจนถึงวันที่ 3 สค. แล้ว ทั้งมาตรการควบคุมการระบาดล่าสุดที่ยกระดับสีแดงเข้มเป็น 29 จังหวัด รวมถึงความคืบหน้าของมาตรการเยียวยาต่างๆ   โดยยืนยันแม้จะมีปัจจัยกดดันเศรษฐกิจไทย แต่ระยะข้างหน้ายังมีเครื่องยนต์อื่นๆ ที่ยังพอพยุงเศรษฐกิจไว้ได้บ้าง อาทิ การส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีตามอุปสงค์จากต่างประเทศที่สถานการณ์เบากว่าไทย ภาคการคลังที่ออกเม็ดเงินเยียวยาต่างๆ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและลดทอนผลกระทบจากการคุมระบาด ซึ่งก็มีส่วนช่วยให้เศรษฐกิจไทยยังขยายตัวได้ รวมถึงการคุมการระบาดและเร่งผ่อนคลายมาตรการลดการเคลื่อนที่ ซึ่งถ้าหากสามารถผ่อนคลายได้ไม่ช้าไปกว่าต้นไตรมาส 4 ก็จะช่วยให้เศรษฐกิจไทยไม่หดตัวในปีนี้

กนง.ยันยังมีเครื่องยนต์พยุงเศรษฐกิจ แม้ยังมีแรงกดดันจากโควิด-19

“ พื้นที่ควบคุมสีแดงเข้ม 29จังหวัดมีสัดส่วน  78%ของจีดีพี  มีสัดส่วนของประชาการ 48%ของประชากรทั้งประเทศ ส่วนจำนวนผู้ติดเชื้อ 14วันที่ผ่านมาอยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม 85%และจังหวัดอื่นที่เหลือ 25% การเคลื่อนที่ของประชาชนเห็นว่าปรับตัวลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อน  ด้านตลาดแรงงานมีแนวโน้มเปราะบางและจะแย่ลงอีกจากการระบาดที่รุนแรงและยืดเยื้อ หลังจากได้รับผลกระทบรุนแรงมาแล้วไตรมาสสอง ซึ่งจะเห็นได้ว่าอัตราว่างงานวิกฤตกว่าอดีตและมีแนวโน้มจะแย่ลงไปอีก โดยผู้เสมือนว่างงานแย่ลง ,แรงงานกลับภูมิลำเนา 1.6ล้านคน ที่สำคัญผู้ว่างงานระยะยาวมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น”

สำหรับประมาณการจีดีพีรอบนี้ มี 2 กรณีคือ กรณีฐาน (Baseline)เศรษฐกิจปีนี้จะขยายตัวเพียง 0.7% ปีหน้า 3.7% โดยสถานการณ์การแพร่ระบาดจะสามารถควบคุมได้และทยอยผ่อนคลายมาตรการ การควบคุมในช่วงต้นไตรมาส 4และปีหน้าลดการกักตัวนักท่องเที่ยวในไตรมาสสองโดยปีนี้จำนวนนักท่องเที่ยวจะเหลือ 1.5แสนคนและจะปรับเป็น 6ล้านคนในปีหน้า

กนง.ยันยังมีเครื่องยนต์พยุงเศรษฐกิจ แม้ยังมีแรงกดดันจากโควิด-19

ส่วนกรณีแย่ลง (minus) คือ สถานการณ์ระบาดยืดเยื้อ ทำให้การผ่อนคลายมาตรการควบคุมทำได้ช้ากว่าปลายปีนี้ และเปิดประเทศช้าลงมีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาช้าลง โดยกนง.ปรับลดประมาณการจากเดือนมิ.ย. ถ้าควบคุมการระบาดได้ช้าจะเห็นการฟื้นตัวยิ่งช้าออกไปอีก ซึ่งสะท้อนการระบาดระลอกนี้ผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยทั้งในปีนี้และปีหน้า โดยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำซึ่งนโยบายสาธารณะต่างๆต้องเตรียมพร้อมสำหรับความไม่แน่นอน โจทย์ที่สำคัญของเศรษฐกิจคณะกรรมการเน้นให้ควบคุมการระบาดให้ได้และมาตรการทางการคลังและการเงินจะต้องช่วยประคองไม่ให้ทรุด

 

ต่อข้อถาม ประมาณการเศรษฐกิจ กรณี minus นั้น ธปท.ระบุว่า  กรณี minus ที่ประเมินไว้เป็นเพียงหนึ่งในฉากทัศน์ที่มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจไทยจะชะลอลงมากกว่ากรณีฐานมาก  แต่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากว่าจะพัฒนาไปในฉากทัศน์ใด อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยที่ขยายตัวที่ 0.7% ก็ถือว่าค่อนข้างต่ำมากแล้วจากที่ปีก่อนหดตัวไปถึง -6.1 และเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคที่ยังขยายตัวได้ค่อนข้างดี ก็คงต้องร่วมมือกันทุกภาคส่วนในการช่วยกันขับเคลื่อนและประคับประคองเศรษฐกิจให้ผ่านพ้นวิกฤตไปได้ และคงต้องทำอย่างเต็มที่ตั้งแต่วันนี้ โดยยังไม่ต้องรอให้เศรษฐกิจไทยแย่ลงไปถึงขนาดติดลบในปีนี้

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงด้านต่ำอย่างมีนัยสำคัญจากการระบาดทั้งในและต่างประเทศที่มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน รายได้และการจ้างงาน เพิ่มเติมจากผลกระทบต่อจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ  ซึ่งคณะกรรมการฯ จะติดตามปัจจัยดังกล่าวอย่างใกล้ชิด

ด้านอัตราแลกเปลี่ยน เงินบาทเทียบกับดอลลาร์ เคลื่อนไหวอ่อนค่ากว่าเงินสกุลภูมิภาคจากความกังวลต่อการแพร่ระบาดของสายพันธุ์ delta ที่รุนแรงขึ้น ซึ่งส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโดยเฉพาะกลุ่มประเทศตลาดเกิดใหม่หลายประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนอยู่ในระดับต่ำ โดยเงินบาทอ่อนค่ามากกว่าเงินสกุลภูมิภาคจากสถานการณ์ COVID-19 ที่รุนแรงและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ล่าช้า ทั้งนี้ ธปท. ติดตามพัฒนาการของตลาดการเงินโลกและไทยอย่างใกล้ชิด โดยดูแลค่าเงินบาทให้มีเสถียรภาพ ไม่เป็นอุปสรรคต่อการปรับตัวของภาคธุรกิจ