KKP ห่วงประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง ชี้ 3ปัจจัยเสี่ยง โควิดลามโรงงาน

29 ก.ค. 2564 | 13:41 น.

บล.เกียรตินาคินภัทร ชี้3ปัจจัยเสี่ยง “ฉีดวัคซีนช้า-ประสิทธิภาพต่ำ -ล็อกดาวน์ยืดเยื้อ” โควิดลามต้องปิดโรงงานกว่า 20%จนกระทบต่อภาคการผลิต และการส่งออก ฉุดเศรษฐกิจอาจหดตัว 0.8% ทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง

3ปัจจัยเสี่ยง “ฉีดวัคซีนช้า-ประสิทธิภาพต่ำ -ล็อกดาวน์ยืดเยื้อ” โควิดลามต้องปิดโรงงานกว่า 20%จนกระทบต่อภาคการผลิต และการส่งออก ฉุดเศรษฐกิจหดตัว 0.8% ทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง แนะใช้เงินกู้ 5แสนล้านบาทดูแล 4ด้าน “ สาธารณสุข -เยียวยา -กระตุ้นกำลังซื้อ และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ”  

KKP  ห่วงประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้ง ชี้ 3ปัจจัยเสี่ยง โควิดลามโรงงาน

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ KKP Research บริษัทหลักทรัพย์ (บล.)เกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) ระบุ ในบทวิเคราะห์เศรษฐกิจ “โค้งต่อไปของเศรษฐกิจ และโควิด-19” โดยประเมินว่า ด้วยการฉีดวัคซีนที่เริ่มต้นช้าและปริมาณวัคซีนที่จัดหาได้มีน้อยกว่าที่คาด สัดส่วนของประชากรที่ได้รับวัคซีนครบสองโดสซึ่งมีเพียง 5% ในปัจจุบัน จะเพิ่มขึ้นในอัตราที่ช้ามาก ภายในสิ้นปีจะมีประชากรเพียง ประมาณ 35% ที่ได้รับวัคซีนครบสองโดส ทำให้การแพร่ระบาดและมาตรการล็อคดาวน์อาจจะมีต่อเนื่องไปอย่างน้อยอีก 3เดือน

ทั้งนี้ภายใต้ 2สมมติฐาน  ได้แก่ ในกรณีฐาน ได้ปรับลดการเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2564 เหลือ 0.5% จาก 1.5% เพราะการล็อคดาวน์ ปิดเมือง  ควบคุมสถานการณ์ได้มีผู้ติดเชื้อภายใน 1เดือนกว่า 2หมื่นราย  โดยยังมีการส่งออกขยายตัวได้ทำให้จีดีพีไม่หดตัวติดลบ     ส่วนในกรณีเลวร้ายที่การระบาดรุนแรงกว่า โดยจำนวนผู้ติดเชื้อพีกถึง 4หมื่นราย การล็อคดาวน์อาจยาวนานและรุนแรงกว่า หรือต้องมีการปรับความเข้มข้นของมาตรการล็อคดาวน์ มีการระบาดไปยังโรงงาน ต้องปิดโรงงานกว่า 20%จนกระทบต่อภาคการผลิต และการส่งออกที่เป็นความหวังสำคัญ เศรษฐกิจอาจหดตัว 0.8% ทำให้ประเทศเข้าสู่ภาวะถดถอยอีกครั้งได้  

 

การหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่รุนแรงและยาวนานกว่าการระบาดสองครั้งแรก จะส่งผลอย่างรุนแรงต่อวิถีชีวิต การจ้างงาน กระแสเงินสด ฐานะทางการเงิน และความสามารถในการจ่ายคืนหนี้ของครัวเรือนและธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก

 

ดังนั้น รัฐบาลควรต้อง (1) มีการวางแผนการใช้มาตรการล็อคดาวน์ที่รอบคอบ สอดคล้องกับสถานการณ์และระดับศักยภาพของระบบสาธารณสุข  และสื่อสารกับประชาชนอย่างโปร่งใส (2) การเพิ่มศักยภาพในการตรวจ สอบสวนโรค และรักษา และเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิผลเพื่อเพิ่มสัดส่วนของประชากรที่มีภูมิคุ้มกัน (3) ออกมาตรการเยียวยาและช่วยเหลือที่เพียงพอและเหมาะสมกับสถานการณ์ เพื่อลดผลกระทบและป้องกันไม่ให้เกิดแผลเป็นถาวรทางเศรษฐกิจ และ (4) เตรียมการเพื่อกระตุ้นและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังโควิด และ (5) รักษาความเชื่อมั่นและเสถียรภาพของระบบการเงิน

 

ทั้งนี้ แม้ปัจจุบันระดับหนี้สาธารณะต่อรายได้ของไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นใกล้เพดานวินัยทางคลังที่ 60% และคาดว่าจะเกินระดับดังกล่าวในปี 2565 แต่ด้วยระดับอัตราดอกเบี้ยที่ปรับลดลง รัฐบาลยังมีศักยภาพในการสร้างหนี้เพิ่มขึ้นได้ หากมีความจำเป็น แต่รัฐบาลต้องมีแผนในการปรับลดการขาดดุลในอนาคตเพื่อรักษาวินัยทางการคลังและความเชื่อมั่น และต้องมีการจัดลำดับของการใช้จ่ายในปัจจุบันให้สอดคล้องกับความจำเป็นของสถานการณ์”

 “ ส่วนพรก.เงินกู้ 5แสนล้านบาทยังมีรูม เพราะยังไม่ได้ใช้  เพื่อจะดูแลสถานการณ์ 4ด้านคือ ด้านสาธารณสุข , การเยียวยา ,กระตุ้นเศรฐกิจ และปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ   ในแง่ของความเพียงพอนั้น มิติแรกเงินที่ต้องใช้อาจจะมากกว่า 5แสนล้านบาท แต่ระยะสั้นใช้ในด้านการเยียวยาและด้านสาธารณสุขน่าจะเพียงพอ   แต่เมื่อสถานการณ์ดีขึ้น จำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มเติมสามารถกู้เพิ่มได้ แต่ต้องคำนึงวินัยทางการคลัง พร้อมทั้งจัดทำแผนจ่ายคืน   รวมถึงการลดรายจ่าย หรือแผนเพิ่มรายได้ภาษีในอนาคต 

แต่ในแง่ผลกระทบจากโควิดที่ไม่เท่ากัน สะท้อนความเหลื่อมล้ำยังมีอยู่  เห็นได้จากกลุ่ม WFH บริษัทขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรมาก  แต่คนส่วนใหญ่ยังมีรายได้จำกัด  และมีภาระหนี้อยู่แล้ว  ดังนั้น มีความจำเป็นที่รัฐบาลต้องช่วยดูแลส่วนนี้  ทั้งนโยบายด้านการคลังทางภาษี และเมื่อสถานการณ์ฟื้นกลับมาแล้วจะช่วยเหลืออย่างไรสำหรับแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น”