อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดตลาด “แข็งค่า”ที่ระดับ 32.90บาท/ดอลลาร์

27 ก.ค. 2564 | 00:12 น.

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทมีโอกาส “อ่อนค่า”จับจา 2ปัจจัย “ แนวโน้มเงินดอลลาร์ และ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะ การระบาดในไทย”มองกรอบสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.70-33.20 บาท/ดอลลาร์

อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทเปิดเช้านี้ ที่ระดับ  32.90 บาทต่อดอลลาร์ “แข็งค่า”ขึ้นเล็กน้อยจากระดับปิดสัปดาห์ก่อนหน้า  ที่ระดับ 32.92 บาทต่อดอลลาร์ ส่วนกรอบวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.00 บาท/ดอลลาร์

 

นายพูน  พานิชพิบูลย์  นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน  ธนาคารกรุงไทย ระบุว่า แนวโน้มของค่าเงินบาท มีสองประเด็นหลักที่ต้องจับตา แนวโน้มเงินดอลลาร์ และ ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก โดยเฉพาะ การระบาดในไทยโดยเรามองว่า มีโอกาสอ่อนค่าลงจากความกังวลปัญหาการระบาดในสหรัฐฯ และแนวโน้มเฟดเดินหน้าใช้นโยบายการเงินผ่อนคลาย

 

ทั้งนี้ เงินดอลลาร์พร้อมกลับมาแข็งค่าได้ หากเฟดส่งสัญญาณมั่นใจแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและเตรียมลดการอัดฉีดสภาพคล่อง ส่วนในฝั่งเงินบาท ปัญหาการระบาด COVID-19 ที่เลวร้ายลงต่อเนื่อง ยังมีโอกาสกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าต่อได้ถึงระดับ 33 บาทต่อดอลลาร์ แต่เรามองว่าธนาคารแห่งประเทศไทยจะเข้ามาช่วยลดความผันผวนของเงินบาท เพื่อให้ภาคธุรกิจสามารถปิดความเสี่ยงค่าเงินได้ทัน

 

ดังนั้น ทิศทางค่าเงินบาทที่มีความผันผวนมากขึ้น จากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 เรามองว่า ผู้ประกอบการควรใช้เครื่องมือในการป้องกันความเสี่ยงที่หลากหลายมากขึ้น โดยเฉพาะ การใช้ Options เพราะหากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวสวนทางกับสิ่งที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ ผู้ประกอบการเองก็ยังสามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์ของ Options หรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการมีความยืดหยุ่นในการบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนมากกว่าการจอง Forward เพียงอย่างเดียว

 มองกรอบค่าเงินบาทสัปดาห์นี้ ที่ระดับ 32.70-33.20 บาท/ดอลลาร์

ส่วนกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 32.85-33.00 บาท/ดอลลาร์

สัปดาห์ที่ผ่านมา ปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ ยังคงกดดันตลาดการเงินฝั่ง EM แต่ตลาดการเงินในฝั่ง DM สามารถปรับตัวขึ้นได้ จากรายงานผลกำไรบริษัทจดทะเบียนที่ออกมาแข็งแกร่ง


 

สำหรับสัปดาห์นี้ ควรจับตาผลการประชุม FOMC และ รายงานผลประกอบการบริษัทจดทะเบียน นอกจากนี้ ยังคงต้องติดตามการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก อย่างใกล้ชิด เพราะปัญหาการระบาดที่รุนแรงขึ้น อาจกดดันให้ตลาดกลับมาสู่ภาวะปิดรับความเสี่ยง (Risk-Off) ได้ระวังและติดตามการระบาดของ COVID-19 ทั่วโลก อย่างใกล้ชิด หลังเริ่มพบการระบาดมากขึ้นทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้ตลาดการเงินอาจกังวลแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจและอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงได้

โดยในส่วนของรายงานข้อมูลเศรษฐกิจที่น่าสนใจมีดังนี้

ฝั่งสหรัฐฯ – ยอดผู้ติดเชื้อ COVID-19 ในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว อาจกดดันความเชื่อมั่นผู้บริโภคในระยะสั้น โดย ตลาดคาดว่า ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค (Conference Board Consumer Confidence) ในเดือนกรกฎาคม จะปรับตัวลดลงสู่ระดับ 124 จุด จาก 127.3 จุด ในเดือนก่อนหน้า

 

นอกจากนี้ ความไม่แน่นอนของการระบาด อาจทำให้คณะกรรมการ FOMC เลือกที่จะคงนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายต่อไป ทั้งคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.00%-0.25% และเดินหน้าอัดฉีดสภาพคล่องหรือทำคิวอี เดือนละ 120 พันล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ควรระวังในกรณีที่เฟดส่งสัญญาณพร้อมทยอยลดการอัดฉีดสภาพคล่อง เพราะท่าทีใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากขึ้น อาจทำให้ตลาดการเงินผันผวนและเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้นต่อได้

 

อนึ่ง อานิสงส์ของการทยอยผ่อนคลาย Lockdown และการแจกจ่ายวัคซีนจนครอบคลุมประชากรเกิน 50% จะหนุนให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในไตรมาสที่ 2 ขยายตัวกว่า 8.5% จากไตรมาสก่อนหน้า เร่งตัวขึ้นจากที่โตกว่า 6.4% ในไตรมาสแรก นอกเหนือจากรายงานข้อมูลเศรษฐกิจและการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC Meeting) ตลาดจะจับตารายงานผลประกอบการของบรรดาบริษัทจดทะเบียน อาทิ Tesla, Apple, Microsoft, Alphabet (Google), Facebook และ Amazon เป็นต้น โดยผลประกอบการที่แข็งแกร่งและดีกว่าคาดจะช่วยหนุนให้ ผู้เล่นในตลาดยังกล้าที่จะเปิดรับความเสี่ยงต่อ

 

ฝั่งยุโรป – เศรษฐกิจยุโรปมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในไตรมาสที่ 2 และอาจขยายตัวกว่า +13.2%y/y หลังจากที่เศรษฐกิจหดตัวกว่า -1.3%y/y ในไตรมาสแรก จากปัญหาการระบาดในช่วงต้นปี โดยแรงหนุนเศรษฐกิจมาจากการทยอยผ่อนคลายมาตรการ Lockdown ที่ช่วยหนุนการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของภาคการบริการ ขณะเดียวกันภาคการผลิตก็ขยายตัวตามความต้องการสินค้าจากทั่วยุโรปและทั่วโลก อย่างไรก็ดี แม้ยุโรปจะพบยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวดเร็ว แต่ยอดผู้เสียชีวิตหรือป่วยหนัก กลับยังไม่ได้เพิ่มขึ้นไปมาก ซึ่งส่วนหนึ่งมาจากการเร่งแจกจ่ายวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง อย่าง mRNA ซึ่งภาพดังกล่าวจะช่วยให้ยุโรปอาจไม่ต้องใช้มาตรการ Lockdown ที่เข้มงวด ทำให้ เราคงมุมมองที่เป็นบวกต่อแนวโน้มเศรษฐกิจยุโรป กอปรกับ ธนาคารกลางยุโรป (ECB) ยังคงเดินหน้าใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ทำให้เราเชื่อว่า สินทรัพย์ยุโรป อาทิ หุ้น ยังมีความน่าสนใจต่อการลงทุนในปีนี้

 

ฝั่งเอเชีย – ตลาดประเมินว่า เศรษฐกิจเกาหลีใต้จะสามารถขยายตัวได้กว่า 6.1%y/y ในไตรมาสที่ 2 ดีขึ้นจากไตรมาสแรกที่ขยายตัว +1.9%y/y หนุนโดยการส่งออกที่ขยายตัวได้ดีต่อเนื่อง แม้ว่าปัญหาการระบาดของ COVID-19 ระลอกใหม่ จะส่งผลให้เศรษฐกิจมีแนวโน้มชะลอตัวลงในระยะสั้น อย่างไรก็ดี ยังคงต้องติดตามสถานการณ์การระบาดอย่างต่อเนื่อง เพราะหากการระบาดทวีความรุนแรงและยืดเยื้อกว่าคาด อาจทำให้เศรษฐกิจชะลอตัวมากกว่าที่ตลาดประเมินไว้ได้ ส่วนในฝั่งญี่ปุ่น ตลาดมองว่า ยอดค้าปลีก (Retail Sales) ในเดือนมิถุนายน มีโอกาสขยายตัวกว่า 2.9% จากเดือนก่อนหน้า แม้ว่าญี่ปุ่นจะเผชิญปัญหาการระบาดของ COVID-19 เช่นกัน แต่ทางการก็เลือกที่จะใช้มาตรการควบคุม Quasi-Lockdown ควบคู่ไปกับการเร่งแจกจ่ายวัคซีน ทำให้การใช้จ่ายของผู้บริโภคไม่ได้ซบเซาหนัก

 

ฝั่งไทย สถานการณ์การระบาด COVID-19 ที่มีแนวโน้มเลวร้ายต่อเนื่อง ในขณะที่การแจกจ่ายวัคซีนยังเป็นไปอย่างล่าช้าและต่ำกว่าเป้าหมายอยู่มาก อาจทำให้เกิดแรงเทขายสินทรัพย์ไทย กดดันให้ค่าเงินบาทผันผวนและอ่อนค่าลงต่อได้

 

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยระบุว่า เช้าวันนี้ (27 ก.ค.) อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท "แข็งค่า"กลับมาเคลื่อนไหวที่ระดับ 32.85-32.86 บาทต่อดอลลาร์ฯ จากระดับปิดตลาดในประเทศในวันทำการก่อนหน้าที่ 32.91 บาทต่อดอลลาร์ฯ โดยเงินบาทขยับแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ขณะที่เงินดอลลาร์ฯ ขาดแรงหนุนก่อนการประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด (27-28 ก.ค.) ซึ่งเสียงส่วนใหญ่ของนักวิเคราะห์ในตลาดประเมินว่า เฟดจะไม่ส่งสัญญาณคุมเข้มใดๆ ในการประชุมรอบนี้ โดยอัตราดอกเบี้ยน่าจะยืนที่ระดับเดิม 0.00-0.25% ขณะที่วงเงิน QE น่าจะคงไว้ที่ 1.20 แสนล้านดอลลาร์ฯ ด้วยเช่นกัน 

อย่างไรก็ดี คงต้องติดตามความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของโควิด 19 ในประเทศอย่างใกล้ชิด เพราะยังอาจเป็นปัจจัยที่พร้อมจะกดดันให้เงินบาทกลับมาอ่อนค่าลงในระหว่างวันได้เช่นกัน

สำหรับกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทวันนี้ คาดไว้ที่ 32.80-32.95 บาทต่อดอลลาร์ฯ ขณะที่ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตาม ได้แก่ ปัญหาการระบาดของโควิด 19 ในประเทศและต่างประเทศ การปรับตัวของตลาดเงินตลาดทุนก่อนการประชุมเฟด ขณะที่ตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญวันนี้ ได้แก่ ดัชนีราคาบ้าน ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภค และยอดสั่งซื้อสินค้าคงทน