ยอดเคลมโควิดพุ่ง หวั่นประกันวินาศภัยขาดทุนครึ่งปีหลัง

24 ก.ค. 2564 | 09:34 น.

สมาคมวินาศภัยย้ำ ทุกบริษัทต้องจ่ายประกันโควิดทุกเคลม ห่วงโควิดกดเศรษฐกิจไทย กระทบชิ่งธุรกิจประกันอีก 2 เดือน หวั่นขาดทุนครึ่งปีหลัง ยันไม่กระทบความมั่นคงของบริษัทประกันในระบบ

สะเทือนวงการประกันวินาศภัยและลามไปยังธุรกิจประกันชีวิต เมื่อบริษัท สินมั่นคงประกันภัย จำกัด (มหาชน) ได้ส่งหนังสือบอกเลิกความคุ้มครองลูกค้าทุกรายที่ซื้อกรมธรรม์ประกันภัยการติดเชื้อไวรัสโคโรนา แบบเจอ จ่าย จบ (COVID 2 in 1) ทำให้คณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ต้องออกมาเบรก พร้อมออกคำสั่งห้ามทุกบริษัทประกันบอกเลิกลูกค้าจนกว่าจะครบอายุสัญญา

 

ล่าสุด เมื่อ 19 กรกฎาคม 2564 นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ.ได้นัดผู้บริหารบมจ.สินมั่นคงประกันภัย รับทราบคำสั่งและชี้แจงรายละเอียดการบอกเลิกลูกค้า ซึ่งได้รับคำอธิบายจากนายเรืองเดช ดุษฎีสุรพจน์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.สินมั่นคงประกันภัยว่า บริษัทกังวลต่อผลในระยะยาว เพราะยอดเคลมประกันสินไหมที่เข้ามาในเดือนมิถุนายน 900 ล้านบาท จากจำนวนลูกค้า 10,000 ฉบับ ซึ่งสูงกว่าเบี้ยรับประกันภัยที่มีเพียง 600 ล้านบาท และมียอดคงค้างกรมธรรม์ 2 in1 ประมาณ 2 ล้านฉบับ

สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการ คปภ.

ขณะที่เลขาธิการคปภ.ระบุให้ ทุกบริษัทรายงานข้อมูลทั้งการรับประกันภัยและการจ่ายเคลมสินไหม เนื่องจากจำนวนผู้ป่วยและผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังเพิ่มสูง

นายอานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ”ว่า สิ่งที่เป็นห่วงในขณะนี้คือ ผลกระทบต่อลูกค้า ประชาชน เพราะหากการแพร่ระบาดของโควิดยังหนักเช่นนี้ หรือถ้าล็อกดาวน์เข้มข้นขึ้น จะกดดันต่อแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ เมื่อประมาณการเติบโตทางเศรษฐกิจปรับลดลงเรื่อยๆ จากนี้ไปอีก 2  เดือนธุรกิจประกันภัยจะได้รับผลกระทบในครึ่งปีหลัง

อานนท์ วังวสุ นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย

 

ทั้งนี้แนวโน้มผู้ติดเชื้อสะสมน่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 5 แสนคนในสิ้นเดือนกรกฎาคมนี้ จากเดิมมองไว้ที่ 4 แสนคน แต่เอาไม่อยู่ ธุรกิจประกันภัยน่าจะเริ่มขาดทุน แต่จะไม่กระทบความมั่นคงของบริษัทประกันภัยในระบบ

 

 “ก่อนหน้าบริษัทประกันได้ล็อกความเสี่ยง โดยหยุดขายกรมธรรม์ประกันภัยโควิด-19 แบบ เจอจ่ายจบไปแล้ว ซึ่งยอดคงค้างทั้งระบบน่าจะมี 8-9 ล้านกรมธรรม์ ซึ่งทุกบริษัทดูแลจนครบอายุสัญญา สินมั่นคงเองมีพื้นฐานดีมาก แต่โควิดเป็นโรคอุบัติใหม่ แต่ก่อนยอดติดเชื้อหลักพันเพิ่มเป็นหลักหมื่นไม่นาน จึงคาดการณ์ยาวไม่ได้” นายอานนท์กล่าว

 

ภาพรวมธุรกิจประกันวินาศภัยปีนี้ มียอดขายกรมธรรม์ 12-13 ล้านฉบับ เบี้ยรับประมาณ 5,000 ล้านบาท ซึ่งในจำนวนนี้มียอดเคลมสินไหมประกันภัยทุกประเภทแล้ว 2,000 ล้านบาท ที่เหลือทุกบริษัทยังคงคุ้มครองกันไปอีก 12 เดือนข้างหน้า และหากเกิดเหตุ ย้ำว่าบริษัทต้องสามารถจ่ายเคลมได้ทุกเคลมและปัจจุบันมีกลไกทั้งบริษัทเอง คปภ.และสมาคม จึงมั่นใจว่า เอาอยู่

ฐานะเงินกองทุนของธุรกิจประกันวินาศภัย

นายพิเชฐ เจียรมณีทวีสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอคชัวเรียล บิสซิเนสโซลูชั่น อดีตนายกสมาคมนักคณิตศาสตร์ประกันภัยกล่าวกับ“ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การจ่ายสินไหมหรือเคลมประกันปี 2564 มีแนวโน้มจะวิ่งสูงและทวีคูณมากขึ้นเรื่อยๆ ด้วยปัจจัยรอบด้านที่ไม่มีลิมิต ขณะที่ประกันโควิดนั้น ไม่สามารถคำนวณต้นทุนที่แท้จริงได้ เพราะนำสถิติที่มีมาใช้ไม่ได้ และตัวแปรในอนาคตผันผวนเรื่อยๆ โดยเฉพาะปัจจัยที่เกิดจากคน

พิเชษฐ เจียรมณีทวีสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอคชัวเรียล บิสซิเนสโซลูชั่น

 

สำหรับเบี้ยประกันโควิด ตั้งแต่ที่เริ่มขายมีประมาณ 1 หมื่นล้านบาท แต่ส่วนตัวเห็นว่า บริษัทประกันไม่ได้มีกำไรอย่างที่คิด เพราะปี 2563 ดูเหมือนจะมีกำไร แต่เป็นปีที่ส่งเบี้ยประกันภัยต่อออกไปมากและรับเองค่อนข้างน้อย เช่น เบี้ยรับ 100 บาทจะส่งไปให้ บริษัทประกันภัยต่อ 80 บาท โดยรับไว้เอง 20 บาทขึ้นกับข้อตกลงระหว่างบริษัทประกันกับบริษัทประกันภัยต่อ

 

ประกอบกับปี 2563 WHO ยังไม่ประกาศว่า โควิดเป็นโรคระบาดระดับโลก จึงยังมีบริษัทประกันภัยต่อรับอยู่ แต่เมื่อ WHO ยกระดับภัยเสี่ยงขึ้น บริษัทประกันภัยต่อหลายแห่งทั่วโลกหยุดรับประกันภัยต่อ ดังนั้น เบี้ยประกันภัยโควิดในปี 2564 ส่วนใหญ่จึงเป็นการรับความเสี่ยงของบริษัทประกันภัยเต็มๆ และน่าจะเป็นปีที่ขาดทุนกลับแบกความเสี่ยงไว้เองเป็นส่วนใหญ่

 

หน้า 13 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 41 ฉบับที่ 3,698 วันที่ 22 - 24 กรกฎาคม พ.ศ. 2564