พิษโควิด EIC หั่นคาดการณ์ขยายตัวเศรษฐกิจไทยปี 64 เหลือ 0.9%

22 ก.ค. 2564 | 10:58 น.

EIC ปรับลด คาดการณ์เศรษฐกิจไทย ปี 2564 เหลือขยายตัวเพียง 0.9% จากเดิม 1.9% หลังจากการระบาดของโควิด-19 จะกินเวลานานถึง 6 เดือน กระทบบริโภคเอกชน 7.7 แสนล้าน ราว 4.8% ของจีดีพี

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธุรกิจ ธนาคาร ไทยพาณิชย์ หรือ EIC  ปรับประมาณการเศรษฐกิจปี 2564 ลงจากเดิมขยายตัว 1.9% มาอยู่ที่ 0.9% ผลจากการระบาดของโควิด-19 ในประเทศที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วและขยายตัวในวงกว้าง

 

กระทบต่อการอุปโภคบริโภคค่อนข้างมาก ทั้งจากมาตรการควบคุมโรคที่เข้มงวดขึ้น(ล็อกดาวน์) ความกังวลของประชาชนในการใช้จ่าย และแผลเป็นเศรษฐกิจที่ลึกขึ้น  ขณะที่เม็ดเงินช่วยเหลือจากภาครัฐที่ออกมายังไม่เพียงพอและทั่วถึง จึงช่วยบรรเทาผลกระทบได้เพียงบางส่วนเท่านั้น

 

ทั้งนี้ ​การบริโภคภาคเอกชนจะถูกกระทบค่อนข้างรุนแรงในช่วงไตรมาสที่ 3 ก่อนฟื้นตัวอย่างช้าๆในช่วงปลายปี ซึ่งการระบาดในประเทศที่อยู่ในภาวะวิกฤติ จากจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน ผู้ป่วยอาการหนักและผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการฉีดวัคซีนที่มีความล่าช้ากว่าแผน และมีประสิทธิภาพน้อยลงในการป้องกันการติดเชื้อสายพันธุ์ Delta ที่มีอัตราการแพร่ระบาดสูง

 

EIC จึงคาดว่า จะต้องใช้เวลาถึงช่วงสิ้นเดือนพฤศจิกายน ที่จำนวนผู้ติดเชื้อจะปรับลดลงต่ำกว่า 100 ราย/วัน ซึ่งใช้เวลากว่า 8 เดือน ตั้งแต่มีการระบาดในเดือนเมษายน จากเดิมที่คาดว่าจะใช้เวลาแค่ 4 เดือน โดยมีแนวโน้มสร้างความเสียหายต่อการบริโภคภาคเอกชนกว่า 7.7 แสนล้านบาท ราว 4.8% ของ GDP ทั้งจากผลของมาตรการล็อกดาวน์ ความกังวลของประชาชนต่อการติดเชื้อ และความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจที่สูงขึ้นมาก

 

ตลอดจนรายได้ของผู้ประกอบการและแรงงานในหลายภาคธุรกิจที่จะปรับลดลงมาก แม้ภาคธุรกิจและผู้บริโภคบางส่วนจะหันไปใช้ธุรกรรมออนไลน์มากขึ้น ช่วยบรรเทาผลกระทบได้บางส่วน และผลกระทบที่ลากยาว จะทำให้แผลเป็นเศรษฐกิจมีโอกาสปรับลึกขึ้นอีก ทั้งการเปิดปิดกิจการที่แย่ลง ภาวะตลาดแรงงานที่เปราะบางมากขึ้น

 

รวมถึงภาคครัวเรือนจะต้องแบกหนี้ครัวเรือนในระดับสูงและเผชิญกับภาวะของการมีหนี้สูงจนเป็นปัญหาต่อการใช้จ่ายในอนาคต หรือ Debt overhang เป็นเวลานานขึ้น ซึ่งแผลเป็นที่ลึกขึ้นจะเป็นอุปสรรคหลักต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในระยะต่อไป 

 

ขณะที่แรงขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ยังเป็นการส่งออกสินค้าที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่กำลังเผชิญกับความเสี่ยงจากการระบาดของโควิด-19 ที่อาจทำให้เกิด supply disruption ในการผลิตภาคอุตสาหกรรมภาพรวม แม้การค้าโลกจะปรับชะลอลงบ้าง แต่ยังขยายตัวได้ในเกณฑ์ดีตามการฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่งของเศรษฐกิจกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ทำให้ EIC ยังคงคาดการณ์ส่งออกไทยที่ 15.0% ในปีนี้

สำหรับ​การเปิดประเทศให้กับนักท่องเที่ยวต่างประเทศ จะยังไม่สามารถช่วยฟื้นธุรกิจท่องเที่ยวได้มากนักในปีนี้ ภายใต้ภาวะการระบาดที่รุนแรงขึ้น และประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นแหล่งนักท่องเที่ยวต่างชาติหลักของไทยยังมีนโยบายการเปิดเดินทางเข้าออกประเทศที่ค่อนข้างระมัดระวังจากความกังวลของการระบาดสายพันธุ์ใหม่ ทำให้ EIC จึงปรับลดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปีนี้เหลือ 3 แสนคน จากเดิมคาดการณ์ที่ 4 แสนคน

 

​มาตรการช่วยเหลือจากภาครัฐที่เพียงพอและมีประสิทธิภาพจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจและลดแผลเป็นทางเศรษฐกิจ แม้ภาครัฐจะพยายามออกมาตรการเยียวยาควบคู่ไปกับมาตรการล็อกดาวน์ แต่มาตรการภาครัฐที่ออกมาจนถึงปัจจุบันยังไม่เพียงพอทั้งในเชิงพื้นที่ ระยะเวลา และปริมาณเงินรวม

 

 ขณะที่มาตรการชดเชยรายได้แรงงานและผู้ประกอบการล่าสุดที่ครอบคลุมแค่จังหวัดที่โดนล็อกดาวน์และชดเชยเพียง 1 เดือน จึงไม่น่าเพียงพอที่จะชดเชยผลกระทบทางเศรษฐกิจในภาพรวมได้ EIC คาดว่า ในกรณีฐานภาครัฐจะออกมาตรการพยุงเศรษฐกิจเพิ่มเติมจากปัจจุบันอย่างน้อยอีกราว 1.5 แสนล้านบาท รวมเป็นใช้เม็ดเงินจาก พรก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาท ราว 2 แสนล้านบาทในปีนี้ และภาครัฐอาจพิจารณาการใช้จ่ายเพิ่มเติมหากการระบาดยืดเยื้อกว่าที่คาด

 

ทั้งนี้มาตรการที่ภาครัฐควรเร่งรัด ได้แก่

1.มาตรการด้านสาธารณสุข โดยเฉพาะการเร่งจัดหาและฉีดวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็วและทั่วถึง การเพิ่มการเข้าถึงการตรวจหาเชื้อเพื่อแยกผู้ป่วยออกจากคนปกติ ตลอดจนการจัดหายา อุปกรณ์การแพทย์  สถานพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์เพื่อรองรับความต้องการที่สูงขึ้น ควรจัดสรรวัคซีนให้กับกลุ่มแรงงานในคลัสเตอร์โรงงานอุตสาหกรรมให้เพียงพอด้วย ป้องกันปัญหาการระบาดที่จะกลายเป็น supply disruption กระทบต่อห่วงโซ่การผลิตสำคัญ ทั้งการส่งออกและการอุปโภคในประเทศด้วย 

2.มาตรการเยียวยาและฟื้นฟูทางเศรษฐกิจ นอกจากเม็ดเงินเยียวยาที่ตรงจุด เพียงพอ และขยายเวลาออกไปอย่างน้อยในช่วงไตรมาสที่ 3 ซึ่งการระบาดน่าจะยังอยู่ในระดับสูง เพื่อช่วยประคับประคองการใช้จ่ายของประชาชนที่ได้รับผลกระทบ ภาครัฐควรมีมาตรการสนับสนุนสภาพคล่องและการจ้างงานของภาคธุรกิจโดยเฉพาะ SMEs