เคทีซีปรับเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเเหลือโต 5%หลังครึ่งปีแรกขยายตัว4%

05 ก.ค. 2564 | 08:28 น.

เคทีซีปรับลดเป้ายอดใช้จ่ายต่อบัตรโต 5%หลังครึ่งปีแรกขยายตัวตัว 9.4หมื่นล้าน พร้อมยังคงเป้าเพิ่มสมาชิกบัตรใหม่ทั้งปี 2.3แสนใบ พร้อมคุมเข้มยอดอนุมัติบัตรใหม่

เคทีซีปรับกลยุทธ์การตลาดธุรกิจบัตรเครดิตครึ่งปีหลัง ปี 2564 เน้นหลักการ Partnership Marketing ดึงเทคนิคสร้างความสัมพันธ์อย่างยั่งยืนกับพันธมิตรในหลากมิติ เพิ่มความคุ้มค่าให้สมาชิกกับสิทธิพิเศษในหมวดที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน และเหมาะกับการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัลที่ต้องการไม่เพียงแค่ความสะดวกแต่ต้องมีความปลอดภัยและอุ่นใจในการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซี

เคทีซีปรับเป้ายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเเหลือโต 5%หลังครึ่งปีแรกขยายตัว4%

นางพิทยา วรปัญญาสกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  - ธุรกิจบัตรเครดิต “เคทีซี” หรือ บริษัท บัตรกรุงไทย จำกัด (มหาชน)เปิดเผยว่า การดำเนินธุรกิจบัตรเครดิตของเคทีซีในช่วงที่เหลือ เนื่องจากสถาการณ์ระบาดของโควิดยังอยู่ในช่วงที่ทุกฝ่ายกำลังพยายามควบคุมและกระจายการฉีดวัคซีน ซึ่งในชิงของธุรกิจบัตรเคทีซีในส่วนของยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรน่าจะเติบโตประมาณ 5%คิดเป็นมูลค่า 2แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการปรับลดลงจากเป้าทั้งปีที่ตั้งไว้ 8% โดยการใช้จ่ายค่ารักษาพยาบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเคทีซีมีโรงพยาบาลพันธมิตรกว่า 250แห่งทั่วประเทศพร้อมจะให้สิทธิประโยชน์ในการรักษาพยายาล โดยเฉพาะโรงพยาบาลของรัฐลูกค้าสามารถผ่อนชำระค่ารักษาพยาบาลได้ด้วยอัตราดอกเบี้ย 0.99%ต่อเดือน ที่สำคัญเคทีซียังคงสนับสนุนการเดินทางด้วยโปรโมชั่นส่งตรงถึงมือลูกค้าและครอบคลุมพฤติกรรมของผู้บริโภคทุกกลุ่ม ทั้งนี้เมื่อสามารถกระจายฉีดวัคซีนตามเป้าหมายเคทีซีมีโฟกัสเลือกพันธมิตรโรงแรมและสถานที่บริการ ไม่ว่าร้านอาหารหรือสถานที่ท่องเที่ยวโดยเจาะให้บริการเป็นรายจังหวัดเพื่อให้คนไทยได้รับประโยชน์

 อย่างไรก็ตาม สำหรับการเพิ่มฐานบัตรสมาชิกใหม่นั้น เคทีซียังคงเป้าเดิมไว้ที่จำนวน 2.3แสนใบ   โดยยอมรับว่าเคทีซีเพิ่มความเข้มงวดในการอนุมัติบัตรใหม่ โดยเห็นได้จากที่ผ่านมาอัตราการอนุมัติบัตรเครดิตใหม่อยู่ที่ 36% ซึ่งปรับลดลงจากเดิมอยู่ที่อัตรากว่า 40% สาเหตุหลักมาจากบริษัทต้องการควบคุมคุณภาพของลูกค้าโดยเฉพาะความสามารถในการชำระคืน ส่วนกลุ่มเป้าหมายหลักจะครอบคลุมทั้งผู้มีรายได้ขั้นต่ำ 15,000บาทและกลุ่มที่มีรายได้ 30,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบในการประเมินความเสี่ยงของแต่ละบุคคล

“ ช่วง 6เดือนที่ผ่านมายอดใช้จ่ายผ่านบัตรเฉลี่ยเล็กลงเล็กน้อยใกล้ 7,000บาทต่อคนจากก่อนหน้าอยู่ที่ระดับมากกว่า 7,000บาท โดยเริ่มเห็นยอดกดเงินสดที่เคยติดลบกลับมาเป็นบวก 2เดือนที่ผ่านมา ขณะเดียวกันเริ่มเห็นการใช้จ่ายบัตรผ่านร้านสะดวกซื้อเติบโตขึ้นด้วย  ส่วนช่องทางออนไลน์มียอดใช้จ่ายเพิ่มขึ้น 25%หรือประมาณ  2.4หมื่นบาทของยอดการใช้จ่ายทั้งหมด  ขณะที่ภาพรวมเอ็นพีแอลยังไม่น่าห่วง เห็นได้จากเดือนพ.ค.อยู่ที่ 1.5%จากไตรมาสแรก 1.4% ซึ่งยังไม่น่าห่วงถ้าเทียบในอุตสาหกรรมอยู่ที่ 2.3%และเรามีลูกหนี้ขอรับความช่วยเหลือ 1.4หมื่นรายวงเงินราว 1,000ล้านบาทเมื่อเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา”

สำหรับกลยุทธ์การตลาดในช่วงครึ่งปีหลัง เคทีซียังคงมีเป้าหมายให้สมาชิกเลือกใช้บัตรเครดิต   เคทีซีเป็นอันดับแรก และเป็นบัตรฯ ที่ใช้เป็นประจำในทุกวัน (Default Card) โดยศึกษาพฤติกรรมการใช้จ่ายของสมาชิกที่มีการปรับเปลี่ยนจากผลกระทบของเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และวิกฤตโควิด - 19 เพื่อมอบสิทธิประโยชน์ความคุ้มค่าที่ตรงใจสมาชิกมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะหมวดประกันภัย ที่มียอดใช้จ่ายสูงเป็นอันดับหนึ่ง และหมวดช้อปปิ้งออนไลน์ที่ยอดใช้จ่ายเติบโตอย่างมาก พร้อมสร้างประสบการณ์ที่ดีให้กับสมาชิก ด้วยการพัฒนาศักยภาพของแอป KTC Mobile ให้มีบริการที่สะดวก เน้นการใช้งานง่าย และรวดเร็วขึ้น เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของสมาชิกที่คุ้นชินกับการทำรายการแบบออนไลน์  ซึ่งปัจจุบันสมาชิกโหลดใช้งานแอป KTC Mobile แล้วทั้งสิ้น 1.8 ล้านราย

อย่างไรก็ตาม ช่วงครึ่งปีแรก ปี 2564ที่ผ่านมา เคทีทีมียอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซีอยู่ที่ 94,000 ล้านบาท เติบโต 4% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา หมวดที่มีการใช้จ่ายสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ ประกันภัย / น้ำมัน / วาไรตี้ สโตร์ (อาทิ Shopee / Lazada) / ซูเปอร์มาร์เก็ต / โรงพยาบาล และเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งจัดเป็นหมวดที่มีความจำเป็นในชีวิตประจำวัน ปัจจุบันฐานสมาชิกบัตรเครดิตเคทีซีมีจำนวน 2.5  ล้านใบ  สมาชิกบัตรฯ ใหม่ตั้งแต่ต้นปีอยู่ที่ 95,000 ใบ จากเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปี 230,000 ใบ โดยช่องทางขยายฐานสมาชิกที่มีประสิทธิภาพที่สุดคือ สาขาธนาคารกรุงไทยทั่วประเทศ และหน่วยงาน Outsource Sales ทั้งนี้ อัตราการอนุมัติบัตรเครดิตใหม่อยู่ที่ 36% กลุ่มเป้าหมายหลักคือกลุ่มที่มีรายได้ 30,000 บาทขึ้นไป สัดส่วนสมาชิกอาศัยอยู่ในเขตกรุงเทพมหานคร 55% และจังหวัดอื่นๆ 45%”

 

 

นอกจากนี้ เคทีซียังให้ความสำคัญกับพันธมิตรทางธุรกิจ ตามแนวทางการตลาดแบบ Partnership Marketing ด้วยเทคนิคการสร้างความสัมพันธ์อย่างยั่งยืน  โดยให้บริการด้านการชำระเงินที่หลากหลาย และการผนึกกำลังใช้จุดแข็งคะแนน KTC FOREVER เพิ่มความคุ้มค่าให้สมาชิกและสนับสนุนพันธมิตรทางธุรกิจ การใช้พื้นที่สื่อของเคทีซีในการช่วยประชาสัมพันธ์กิจการของพันธมิตร  รวมถึงเคทีซียังมี KTC U SHOP ซึ่งเป็นบริการขายสินค้าออนไลน์ที่ใช้เป็นช่องทางในการสนับสนุนพันธมิตรและผู้ประกอบการที่สนใจนำเสนอสินค้าให้แก่สมาชิกบัตรฯ โดยสมาชิกสามารถชำระด้วยคะแนน KTC FOREVER หรือบัตรเครดิตเคทีซีได้อีกด้วย

 

“สำหรับในปี 2564 ด้วยภาพรวมเศรษฐกิจของประเทศชะลอตัว เคทีซีจึงมุ่งเน้นการพัฒนาระบบ เพื่อสร้างประสบการณ์ที่ดีของสมาชิก ประสานงานกับพันธมิตรธุรกิจอย่างใกล้ชิด เพื่อเตรียมความพร้อมเมื่อเศรษฐกิจกลับมาแข็งแรงขึ้น โดยคาดว่าสิ้นปียอดรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตเคทีซียังมีโอกาสเติบโตอย่างต่อเนื่อง” นางพิทยากล่าว