ttb สร้างประวัติศาสตร์ กองทุนรวม IPO ใหญ่ที่สุด

17 มิ.ย. 2564 | 12:10 น.

นักลงทุน ขนเงินลงพอร์ตลงทุน ttb smart port สัปดาห์แรก 1 หมื่นล้าน สร้างปรากฎการณ์ IPO ที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์กองทุนรวมไทย ตั้งเป้า AUM รวม 3 หมื่นล้าน ภายในสิ้นปี 64

นางกิดาการ  ชัฏสุวรรณ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารผลิตภัณฑ์กองทุนรวม ทีเอ็มบีธนชาต หรือ ทีทีบี (ttb) เปิดเผยว่า หลังจากธนาคารเสนอขายพอร์ตการลงทุน ttb smart port รูปแบบใหม่ให้กับนักลงทุนทั่วไป เมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2564 ปรากฎว่า ได้รับความสนใจอย่างมากจากนักลงทุน และต้องเปิดใช้งาน Greenshoe หรือจัดสรรสำรองเพิ่มเพื่อรองรับความต้องการที่มากกว่าจำนวนที่เสนอขาย

กิดาการ  ชัฏสุวรรณ หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหารผลิตภัณฑ์กองทุนรวม ทีเอ็มบีธนชาต

 

ทั้งนี้ วันแรกมียอดซื้อสูงถึง 1,600 ล้านบาท และภายในสัปดาห์แรกมียอดซื้อรวม 10,000 ล้านบาท ซึ่งธนาคารตั้งเป้ามูลค่าทรัพย์สินสุทธิภายใต้การบริหาร (AUM) ภายในสิ้นปี 2564 อยู่ที่ 30,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่า เป็นการสร้างประวัติศาสตร์กองทุนรวมประเภทกองทุนรวมต่างประเทศที่ซื้อขายได้รายวัน IPO ที่ใหญ่ที่สุด

 

“เราตั้งใจออกแบบพอร์ตลงทุน ttb smart port เพื่อเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนที่มากขึ้น และตอบโจทย์การลงทุนสำหรับทุกคน โดยมีบลจ.ธนชาต และ Amundi ช่วยบริหารจัดพอร์ตการลงทุน เพื่อให้ลูกค้าบรรลุเป้าหมายการลงทุนตามต้องการได้อย่างสบายใจ และลูกค้าสามารถมั่นใจได้จากผลการดำเนินงานที่ผ่านมา ตั้งแต่จัดตั้งพอร์ตเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2560 พอร์ตที่ความเสี่ยงสูงสุด สามารถทำผลตอบแทนได้เฉลี่ย 7.02% ต่อปี แม้จะเป็นช่วงวิกฤตโควิดก็ตาม” นางกิดาการกล่าว

 

ทั้งนี้ลูกค้าสามารถเลือกลงทุนผ่าน 5 พอร์ต ได้ง่ายๆ ตามระดับความเสี่ยงที่เหมาะสม ได้แก่ 1. ttb smart port preserver (TSP-PRESERVER) ลงทุนในตราสารหนี้ไม่น้อยกว่า 80% 2. ttb smart port nurturer (TSP-NURTURER) ลงทุนในตราสารทุนไม่เกิน 40% 3. ttb smart port balancer (TSP-BALANCER) ลงทุนในตราสารทุนไม่เกิน 80% 4. ttb smart port explorer (TSP-EXPLORER) ลงทุนในตราสารทุน 0-100% และ 5. ttb smart port go-getter (TSP-GOGETTER) ลงทุนในตราสารทุนไม่น้อยกว่า 80%

 

นายประพัทธ์พงศ์  วีระมน กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์นายหน้าซื้อขายหน่วยลงทุนอมุนดิ ประเทศไทย (Amundi Thailand)กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นการร่วมมือกันครั้งแรกระหว่าง Amundi, ทีเอ็มบีธนชาต, บลจ.ธนชาต (Thanachart Fund Eastspring) หลังการรวมกิจการเป็นหนึ่งเดียวระหว่างทีเอ็มบีและธนชาต โดย Amundi จะเน้นบริหารจัดการแบบเชิงรุก (Active) เพื่อพร้อมรับมือกับทุกสภาวะตลาดและเพิ่มโอกาสรับผลตอบแทนจากการลงทุนที่มากขึ้น โดยมีขั้นตอนการลงทุนที่แข็งแกร่ง สามารถกระจายความเสี่ยงในทุกกลยุทธ์การลงทุน และยังสามารถเข้าถึงตลาดการเงิน รวมถึงผู้จัดการกองทุนชั้นนำทั่วโลก เพื่อคัดเลือกกองทุนที่ดีที่สุด (Best In Class) สำหรับ ttb smart port อีกด้วย

ด้านนายอดิศร  เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ธนชาต จำกัด (Thanachart Fund Eastspring) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนทหารไทย จำกัด (TMBAM Eastspring)กล่าวว่า เราเชื่อมั่นในแนวทางกระจายการลงทุน (Asset Allocation) และเชื่อว่า ผู้ลงทุนแต่ละคนมีเป้าหมายการลงทุนที่แตกต่างกัน สำหรับพอร์ตลงทุนภายใต้ ttb smart port จะจัดพอร์ตในลักษณะ Fund of Fund โดยมอบหมายให้ Amundi เป็นผู้รับดำเนินการงานด้านจัดการลงทุน ซึ่งจะลงทุนโดยตรงในกองทุนหลัก (Master Fund) จึงไม่เสียค่าธรรมเนียมซ้ำซ้อน

อดิศร  เสริมชัยวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บลจ.ธนชาต จำกัด

 

ขณะที่ยังรักษาประสิทธิภาพและธรรมชาติทั่วไปของการลงทุนแบบกองทุนรวมในไทย สร้างสภาพคล่องทำให้ไม่เสียโอกาสการลงทุน เพราะการขายคืนจะได้รับเงินคืนภายใน 5 วันทำการหลังจากวันที่สั่งขาย (T+5) และยังขยายโอกาสให้เข้าถึงการลงทุนได้ง่ายขึ้น ด้วยเงินลงทุนเริ่มต้นเพียง 1 บาท ดังนั้น ผู้ลงทุนสามารถเข้าถึงการลงทุนระดับโลกได้โดยตรง พร้อมได้รับบริการจากผู้จัดการกองทุนมืออาชีพของไทยและสากลได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีเงินลงทุนเริ่มต้นจำนวนมาก

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: